ไม่ใช่แค่บาหลี! “อินโดนีเซีย” วางแผนโปรโมต 5 จุดหมายใหม่ ขยายเวลาเที่ยวต่อทริป

อินโดนีเซีย
บุโรพุทโธ หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่อินโดนีเซียจะโปรโมตให้มากขึ้น (Photo: Roman Kirienko / Pexels)
ภาคท่องเที่ยว “อินโดนีเซีย” จะเปลี่ยนไปหลังโควิด-19 ด้วยนโยบายขยายการโปรโมต 5 จุดหมายปลายทางใหม่ในประเทศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติขยายเวลาท่องเที่ยวต่อทริป ไม่ได้มาเที่ยวเฉพาะ “บาหลี” อีกต่อไป

“ซานดิอากา อูโน” รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยถึงแผนการสนับสนุนเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ให้เล็งเห็นศักยภาพการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียที่ “มากกว่าแค่บาหลี”

โดยอินโดฯ ต้องการโปรโมต 5 จุดหมายปลายทางใหม่ที่จะถือเป็น “จุดหมายหลักที่สำคัญยิ่ง” สำหรับการท่องเที่ยวต่อจากนี้ ได้แก่

  • ทะเลสาบโตบา ทางเหนือของเกาะสุมาตรา เป็นทะเลสาบบนปากปล่องภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • บุโรพุทโธ ตอนกลางของเกาะชวา วัดพุทธที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก
  • ลาบวน บาโจ เมืองชาวประมงที่เป็นถิ่นที่อยู่ของมังกรโคโมโด
  • หาดมันดาลิกา ทางตอนใต้ของเกาะลอมบอก เด่นด้วยชายหาดยาวสีขาวและแหล่งเล่นเซิร์ฟ
  • หาดลิกูปัง ทางตอนเหนือของเกาะสุลาเวสี จุดหมายใหม่ของการดำน้ำ

เนื่องจากในระยะหลัง นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะมาอินโดนีเซียเพื่อเยี่ยมชมบาหลีเป็นหลัก แต่พวกเขาเริ่มเลือกที่จะอยู่สำรวจจุดหมายอื่นๆ ในอินโดฯ เพิ่มมากขึ้น ทำให้อินโดฯ เล็งเห็นว่าควรเพิ่มศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ

“ดังนั้น เราจะไม่มุ่งเน้นแต่การท่องเที่ยวแบบหาดทราย สายลม แสงแดด ซึ่งเป็น 3 สิ่งที่เราโด่งดังอยู่แล้ว” อูโนกล่าว “เราจะเพิ่ม 3 สิ่งใหม่เข้าไปในการท่องเที่ยว คือ ความสงบ ความยั่งยืน และเรื่องทางจิตวิญญาณ”

ลาบวน บาโจ ถิ่นอาศัยของมังกรโคโมโด (Photo: Bowo Ikhsanto / Pixabay)

“เรามีจุดหมายปลายทาง 5 จุดสำคัญที่พร้อมจะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยแต่ละแห่งมีประสบการณ์และความทรงจำที่พิเศษเป็นของตนเอง”

นอกจาก 5 จุดหมายสำคัญที่ได้กล่าวไปแล้ว อินโดนีเซียยังมีจุดหมายรองอีก 5 จุดที่กำลังพิจารณาผลักดันอยู่ คือ หมู่เกาะบังกาเบอลีตุง, หาดตันจุงเลซุง, เกาะโมโรไท, แหล่งดำน้ำหมู่เกาะวาคาโทบิ และหมู่เกาะราชาอัมพัต

 

เน้นผลักดันด้าน “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”

อูโนกล่าวด้วยว่า อินโดนีเซียกำลังมุ่งเน้นด้านความยั่งยืนในภาคการท่องเที่ยวหลังฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยจะผลักดันด้านการจัดการขยะอาหาร (food waste) และการลดคาร์บอนฟุตปรินท์

โรงแรม ร้านอาหาร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจท่องเที่ยว จะได้รับแรงจูงใจเพื่อให้สร้างซัพพลายเชนที่ใช้ทรัพยากรจากท้องถิ่น

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีส่วนคิดเป็น 8% ในการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศโลก ดังนั้น อินโดนีเซียตั้งใจจะลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการท่องเที่ยวลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2035 และไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (net-zero) ภายในปี 2045

โซลูชันในการไปถึงจุดนั้นได้คือรัฐบาลจะปลูกป่าโกงกางให้มากขึ้น และสนับสนุนการท่องเที่ยวสีเขียว (green tourism)

“ทุกจุดหมายการท่องเที่ยวต้องมีตัวเลือกให้เราสื่อสารกับตลาดได้ว่า เรามีจุดหมายท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเราพร้อมที่จะช่วยคุณลดคาร์บอนฟุตปรินท์ที่เกิดจากการท่องเที่ยว นี่คือการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่จะทำให้เข้ากับท้องถิ่นมากขึ้น สร้างสรรค์เฉพาะบุคคลมากขึ้น” อูโนกล่าว

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่รัฐมนตรีอูโนยังเชื่อว่าการท่องเที่ยวในอินโดนีเซียจะเป็นไปในเชิงบวก และเชื่อว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้าสู่อินโดฯ ในปี 2023 จะเพิ่มเป็นเท่าตัวจากปีก่อนได้

Source