จาก “ไนท์บาซาร์” สู่ “ลานนาทีค” AWC ปั้นโปรเจ็กต์ชุบชีวิตอาณาจักรท่องเที่ยวใน “เชียงใหม่”

ลานนาทีค เชียงใหม่
บรรยากาศไนท์บาซาร์ เชียงใหม่ ปี 2558 (Photo: Shutterstock)
“ไนท์บาซาร์” เปิดบริการใน “เชียงใหม่” มานานไม่ต่ำกว่า 30 ปี ก่อนที่โรคระบาดโควิด-19 จะเป็นจุดเปลี่ยนให้ AWC วางโปรเจ็กต์ใหม่ รวบอาณาจักรที่ดินบนถนนช้างคลานมาชุบชีวิตเป็น “ลานนาทีค” ปั้นจุดขายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ “ต้องมา” ของชาวต่างชาติอีกครั้ง

อาณาจักรที่ดินในเชียงใหม่ของ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AWC บริษัทอสังหาริมทรัพย์หนึ่งในเครือตระกูลสิริวัฒนภักดี เฉพาะโครงการบนถนนช้างคลานต่อเนื่องถึงถนนศรีดอนไชยนั้นมีไม่ต่ำกว่า 12 แปลง

ที่ดินเหล่านี้สร้างเป็นโครงการหลากหลายประเภท ทั้งโรงแรมและพื้นที่รีเทล แต่บริเวณที่มีชื่อเสียงที่สุดหนีไม่พ้น “ไนท์บาซาร์” ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางจุดตั้งต้นในการพัฒนาโครงการใหม่ “ลานนาทีค”

“วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC แย้มแผนการชุบชีวิตยกระดับพื้นที่นี้ โดยเป้าหมายคือต้องการให้เป็น ‘Tourist Destination’ จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว แบบเดียวกับที่ในกรุงเทพฯ มี “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์”

“ในอนาคตรถบัส รถทัวร์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคันจะต้องมีโปรแกรมมาจอดที่ลานนาทีค เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเชียงใหม่” วัลลภาฉายภาพเป้าหมายที่เธอมองเห็น

AWC
วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC

บริเวณที่ขณะนี้ AWC คาดว่าจะนับรวมเข้ามาอยู่ในโปรเจ็กต์ “ลานนาทีค” จะมีทั้งหมด 7 แปลง คือ

  • ตลาดไนท์บาซาร์
  • กาแลไนท์บาซาร์
  • เดอะพลาซ่า
  • โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ (เตรียมรีโนเวตเปลี่ยนแบรนด์เป็น ‘แมริออท’)
  • โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่
  • ตลาดอนุสาร
  • บ้านโบราณเชียงใหม่

แม้ที่ดินอาจไม่ได้เชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกันครบทั้งหมด แต่อยู่ในระยะเดินต่อเนื่องกัน และจะมีบ้านโบราณเชียงใหม่ที่เป็นทางออกไปสู่ริมแม่น้ำปิงด้วย

ลานนาทีค เชียงใหม่
ลานนาทีค และอาณาจักรโครงการทั้งหมดของ AWC ในบริเวณถนนช้างคลาน-ถนนศรีดอนไชย (ภาพถ่ายจาก งานแถลงข่าว The Pantip Lifestyle Hub)

ปัจจุบันการค้าในพื้นที่ไนท์บาซาร์จะเน้นสินค้าประเภทของฝาก ของที่ระลึก งานศิลปะ ของทำมือ หัตถกรรม เสริมด้วยร้านอาหารต่างๆ แต่คอนเซ็ปต์ใหม่ที่รวมเอาที่ดินหลายแปลงมาพัฒนาเป็นเนื้อเดียวกัน AWC ต้องการจะพลิกโฉมให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม

 

Lifestyle Experience ใน 4 ทำเลแหล่งท่องเที่ยว

กลยุทธ์ในภาพใหญ่ของ AWC นั้น แบ่งการบริหารโครงการในมือเป็น 4 ประเภท คือ โครงการที่เป็นจุดหมายปลายทางไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยว, โครงการตลาดและศูนย์การค้าของชุมชนท้องถิ่น, โครงการค้าส่งและค้าออนไลน์ และสุดท้ายคือ กลุ่มอาคารสำนักงาน

สำหรับโครงการที่เน้นเจาะไลฟ์สไตล์นักท่องเที่ยว ที่เปิดบริการแล้วมีเพียงแห่งเดียวคือ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ แต่ในตระกูลเดียวกันจะมีตามมาอีก 3 แห่ง คือ เวิ้งนครเขษม, อควอทีค พัทยา และ ลานนาทีค เชียงใหม่ ที่เพิ่งจะเปิดแผนออกมา

เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ต้นแบบการพัฒนาโครงการเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว

วัลลภากล่าวว่า หลังจากผ่านจุดเปลี่ยนในช่วงโควิด-19 ทำให้บริษัทกลับมาคิดทบทวนใหม่ว่า “อะไรที่จะตอบโจทย์ลูกค้าได้ในธุรกิจรีเทล”

คำตอบที่ได้คือ รีเทลจะต้องเป็นการตอบโจทย์ Lifestyle Experience ให้กับลูกค้า ต้องสร้างประสบการณ์ให้คนอยากมาสัมผัส โดยเธอแบ่งออกเป็น 3 ด้านที่จะชวนคนมาได้ ได้แก่

1.Attractions มีจุดดึงดูดในเชิงการท่องเที่ยว เป็นจุดหมายให้มาเช็กอิน มีกิจกรรมให้ทำ

2.Food มีร้านอาหารที่น่าสนใจ เป็นจุดร่วมให้คนมาพบปะสังสรรค์

3.Lifestyle Market มีตลาดขายสินค้าที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนแต่ละกลุ่ม เช่น ศิลปะ แคมป์ปิ้ง กีฬา สัตว์เลี้ยง

เห็นได้ว่า “ลานนาทีค” มีบางอย่างที่พร้อมอยู่แล้ว คือการเป็นตลาดขายสินค้าเฉพาะ เป็น Lifestyle Market ที่จับกลุ่มคนที่สนใจงานศิลปะ สะท้อนวัฒนธรรมล้านนา

โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ หนึ่งในพื้นที่ “ลานนาทีค” เป็นที่พักที่ช่วยดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่บริเวณ

สิ่งที่ต้องพัฒนาเพิ่มจึงเป็นเรื่อง Attractions จุดดึงดูดให้ต้องมาเยือนที่นี่ ซึ่งวัลลภาแย้มว่าปัจจุบัน AWC มีการเจรจาอยู่กับผู้จัดแหล่งท่องเที่ยวในระดับโลก 5 ราย เป็นการพูดคุยที่ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 4 แห่งของบริษัท

หากยังนึกภาพไม่ออกว่า Attractions คืออะไร ล่าสุด เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เริ่มนำร่องให้เห็นก่อนแล้วด้วยการดึง ‘Disney 100 Village’ เข้ามาในพื้นที่ สามารถดึงกลุ่มลูกค้าครอบครัวเข้ามาได้เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม สำหรับลานนาทีคอาจจะต้องพิจารณาให้เหมาะสม เพราะคอนเซ็ปต์ของพื้นที่จะต้องคงความเป็น “ล้านนา” ของเชียงใหม่ไว้ให้ได้

วัลลภากล่าวว่า โปรเจ็กต์ลานนาทีคน่าจะได้เห็นภาพการพัฒนาเฟสแรก ภายในปลายปี 2566 นี้ และมีอีกหลายเฟสที่จะทยอยพัฒนาต่อเนื่องกันไป

 

ปลุกการท่องเที่ยว “เชียงใหม่” ให้ฟื้นคืน

นอกจากบริเวณที่ถูกนับรวมเป็นลานนาทีคแล้ว ยังมีที่ดินอีก 5 แปลงที่กำลังรีโนเวตหรือมีแผนการพัฒนา ซึ่งจะทำให้อาณาจักรของบริษัทบริเวณช้างคลาน-ศรีดอนไชยคึกคักขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น “พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่” ที่กำลังรีโนเวตใหม่ให้เป็นศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์แทนที่ศูนย์ไอที หรือ “โรงแรมอินเตอร์คอนทิเนนทัล เชียงใหม่ แม่ปิง” ที่กำลังรีโนเวตมาจากโรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิงเดิม หรือ “สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์” ก็อยู่ในแผนรีโนเวตให้เพิ่มพื้นที่รีเทลเข้าไป

เชียงใหม่
โรงแรมอินเตอร์คอนทิเนนทัล เชียงใหม่ แม่ปิง (ปัจจุบันอยู่ระหว่างรีโนเวต)

ในภาพร่างพื้นที่ยังมีการเอ่ยถึงโรงแรมใหม่ชื่อ “Siem Pakdee” ที่จะเป็นดีไซน์โฮเทล ทำเลติดกับสุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์ และมีพื้นที่ชื่อ “Baan K Sirin” อยู่บริเวณตรงข้ามแม่น้ำปิง เยื้องกับบ้านโบราณเชียงใหม่ ซึ่งจะมาในคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับเวลเนสด้วย

“วันนี้ผู้เช่ามีความไม่แน่ใจกับตลาดเชียงใหม่อยู่จริง ไม่แน่ใจกำลังซื้อเพราะอัตราการเข้าพักโรงแรมในเชียงใหม่ยังต่ำกว่าแหล่งท่องเที่ยวอื่น เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต แล้วยังมีฝุ่น PM 2.5 เข้ามาอีก” วัลลภากล่าว

“แต่เรามีความพยายามที่จะเล่าเรื่องเสน่ห์ของเชียงใหม่ว่า นี่คือเมืองท่องเที่ยวคู่ขนานกับกรุงเทพฯ เชียงใหม่ยังคงเป็นจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น จีน ญี่ปุ่น สแกนดิเนเวียน เพียงแต่เราต้องมีพื้นที่ท่องเที่ยวที่จะเป็น ‘showcase’ สร้างคุณค่าให้กับเมือง”