-
“เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” ครบรอบ 10 ปี ขึ้นทศวรรษใหม่ด้วยแผนลงทุน 800 ล้านบาท ปรับปรุงครั้งใหญ่สร้างเดสติเนชันที่เที่ยวได้ “ทั้งวัน” เป้าหมายหลังโควิด-19 ดึงทั้งต่างชาติและ “คนไทย”
-
ไฮไลต์กิจกรรมแม่เหล็กใหม่ “Disney 100 Village” จัดโซนถ่ายภาพและรับประสบการณ์จากคาแรกเตอร์ที่ทุกคนชื่นชอบ
-
แผนระยะยาวในทศวรรษนี้ เตรียมงบลงทุนเฟส 2 ต่อขยาย 10 ไร่ ขึ้นโครงการมิกซ์ยูสอาคารสูง 100 ชั้น
หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” จะปรับเป้าหมายใหม่ จัดสมดุลทราฟฟิกมาจากทั้งชาวต่างชาติและ “คนไทย” จากในอดีตที่นี่เคยเป็นเดสติเนชันของต่างชาติเป็นหลัก 90% โดยเฉพาะชาวจีนที่นิยมมาก
เมื่อจะปรับใหม่สู่ทศวรรษใหม่ของเอเชียทีค “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดแผนการลงทุน 800 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้ตรงกับเป้าหมายทั้งคนไทยและต่างชาติมากขึ้น
โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่จะลงทุนกับการปรับโครงสร้างพื้นฐานให้เอเชียทีคเป็นจุดหมายที่มาได้แบบ “ALL DAY, EVERYDAY” จะมีการสร้างหลังคาบังแดดบังฝน ปรับเลย์เอาท์การวางแนวร้านค้าให้ทางเดินรับลมจากแม่น้ำ เสริมต้นไม้-ดอกไม้ในพื้นที่ ให้ลุคใหม่ที่สดชื่นขึ้น เพื่อให้สามารถมาเที่ยวชมในช่วงกลางวันได้ด้วย และเอเชียทีคจะปรับเวลาเปิดปิดใหม่เป็น 10:00-24:00 น. จากปกติร้านค้าจะเริ่มเปิดราว 16:00 น.
ดึงคนด้วยกิจกรรม อาหาร และตลาดนัดไลฟ์สไตล์
หลังปรับพื้นที่ให้พร้อมแล้ว เอเชียทีคจะมีองค์ประกอบใหม่เพิ่มเข้ามา แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1.กิจกรรม-จุดท่องเที่ยวใหม่
แต่เดิมเอเชียทีคมีจุดท่องเที่ยวอยู่แล้วคือ ชิงช้าสวรรค์เอเชียทีค สกาย, ม้าหมุน, บ้านผีสิง และโรงจัดการแสดงคาลิปโซ่ แต่หลังจากนี้จะเติมกิจกรรมใหม่เข้ามาอีกโดยเน้นระดับ Global Partner เริ่มต้นจากเดือนมีนาคมนี้จะเปิด “Disney 100 Village” เป็น pop-up attraction นำตัวละครและประสบการณ์จาก Disney เข้ามาจัดกิจกรรม
รวมถึงกิจกรรม Trashpresso จากมิลาน อิตาลี ซึ่งเป็นเครื่องผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่จากขยะพลาสติกอัตโนมัติ เช่น จานรองแก้ว พวงกุญแจ
2.ร้านอาหารและเครื่องดื่ม
จะเพิ่มโซน “อาหารท้องถิ่น” ลักษณะเป็น Co-Dining มีบูธร้านอาหารท้องถิ่นไทยชื่อดังมาออกร้าน และมีที่นั่งรวมส่วนกลาง แตกต่างจากที่ผ่านมาเอเชียทีคจะมีร้านอาหารแยกเป็นร้านๆ และเป็นร้านขนาดใหญ่
3.ไลฟ์สไตล์มาร์เก็ต
เปิดพื้นที่ใหม่บริเวณเอเชียทีค สกาย จัดเป็น “ตลาดนัดตกแต่งพิเศษ” หมุนเวียนอิงตามเทศกาล เช่น สงกรานต์ หรืออิงตามธีมความนิยม เช่น Pet Market, ของแต่งบ้าน, งานศิลปะ ของทำมือ เป็นต้น ร้านค้าในงานจะเปิดรับผู้เช่ารายย่อยที่ตรงกับธีมเข้ามาเปิดจำหน่าย
นอกจากนี้ เอเชียทีคยังมีผู้เช่ารายใหญ่รายใหม่คือ บิ๊กซี (Big C) จะเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตพื้นที่ 2,000 ตร.ม. ซึ่งจะมีโซนของฝาก ของที่ระลึก ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติด้วย
Disney แม่เหล็กดึงกลุ่มครอบครัว
แม่เหล็กสำคัญที่จะสร้างความฮือฮาคือ Disney 100 Village ซึ่งจะเปิดบริการช่วงวันที่ 24 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2566 ลักษณะไม่ใช่ธีมปาร์คสวนสนุกขนาดใหญ่ แต่จะเป็นการจัดพื้นที่ถ่ายภาพร่วมกับคาแรกเตอร์ และกิจกรรมพิเศษแบบ pop-up event เน้นการมารับประสบการณ์จากการ์ตูนหรือภาพยนตร์ที่ชื่นชอบ
เท่าที่เปิดเผยได้ขณะนี้ Disney 100 Village จะมี 6 โซน ได้แก่
1.Frozen Zone (*) บริเวณ Warehouse 4 หน้าหอนาฬิกา คล้ายกับที่เคยมีการจัดอีเวนต์ในไต้หวัน
2.Marvel Zone (*) บริเวณเกือบถึงพื้นที่ริมน้ำ เป็นการสร้างประสบการณ์จากภาพยนตร์ Marvel แตกต่างจากที่เคยจัดในไทยที่จะอิงจากหนังสือการ์ตูน
3.Princess Garden Zone (*) ธีมเจ้าหญิงดิสนีย์ Enchanted Ever After
4.Disney 100 Zone บริเวณ Main Corridor รวมคาแรกเตอร์และฉากจากเรื่องต่างๆ เช่น Toy Story, Lion King
5.Star Wars Zone บริเวณ Warehouse 10 โดยจะมีกิจกรรมประสบการณ์ใหม่
6.Pixar Putt Zone ตีมินิกอล์ฟ 18 หลุมริมแม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับโซนที่มี (*) คือโซนที่จะต้องซื้อตั๋วเข้าชมและจะเริ่มเปิดจำหน่ายบัตรวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ ส่วนโซนอื่นๆ นั้นสามารถเข้าชมได้ฟรี
กิจกรรมจาก Disney ถือเป็นโซนที่จะช่วยดึงกลุ่มครอบครัวได้เป็นอย่างดี และจะเป็นบริเวณที่มาได้ทั้งกลางวันกลางคืน ตอบโจทย์การปรับเวลาของเอเชียทีคให้มาเที่ยวได้ทั้งวัน
เป้าหมายการปรับครั้งนี้ วัลลภาเชื่อว่าจะทำให้เอเชียทีคมีทราฟฟิกเพิ่มขึ้นในอนาคต ในวันธรรมดาเพิ่มเป็น 50,000 คนต่อวัน และวันเสาร์-อาทิตย์เพิ่มเป็น 80,000 คนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 ประมาณ 60%
รวมถึงเป็นการปรับสัดส่วนลูกค้า จากเดิมมีต่างชาติถึง 90% เป้าหมายใหม่จะทำให้มีลูกค้าไทย 50% และลูกค้าต่างชาติ 50% โดยในครึ่งปีแรกยังมองลูกค้ากลุ่มเกาหลีใต้, สิงคโปร์, ฮ่องกง รวมถึงประเทศกลุ่มเอเชียอื่นๆ ก่อน เนื่องจากทัวร์จีนแผ่นดินใหญ่คาดว่าจะเริ่มคึกคักในช่วงครึ่งปีหลัง
ทศวรรษนี้มาแน่ “อาคารสูง 100 ชั้น” แลนด์มาร์กใหม่
วัลลภากล่าวต่อถึงแผนงานในทศวรรษที่สองของเอเชียทีค จะมีการขยายพื้นที่ที่ยังเหลืออยู่ จากเฟส 1 ที่ใช้พื้นที่ไปแล้วกว่า 40 ไร่ เฟส 2 จะมีการขยายพื้นที่อีก 10 ไร่ซึ่งเป็นที่ดินติดกันกับที่ดินเดิม
- AWC ควัก 3,436 ล้าน เช่าที่ดิน “ล้ง 1919” ปั้นศูนย์สุขภาพ บริหารโดย The Ritz Carlton
- “สเวนเซ่นส์ ท่ามหาราช” สัมผัสกลิ่นอายรัตนโกสินทร์ สาขาแรกตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
เฟส 2 นี้เบื้องต้นมีการอนุมัติงบลงทุนแล้ว 2,000 ล้านบาทเพื่อขยายพื้นที่ตามคอนเซปต์ “Retailtainment” พื้นที่ค้าปลีกผสานความบันเทิง
รวมถึงโครงการอาคาร “มิกซ์ยูส” สูง 100 ชั้น AWC ยังคงเดินหน้าการออกแบบ แต่มีการปรับเปลี่ยนแบบใหม่หลังผ่านโควิด-19 เปลี่ยนให้มีองค์ประกอบการเป็นอาคารพลังงานสะอาดโดยใช้พลังงานลม ยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรบริษัทออกแบบระดับโลก Adrian Smith + Gordon Gill Architecture ซึ่งเป็นผู้ออกแบบตึกเบิร์จ คาลิฟะ ในดูไบ
อาคารหลังนี้ส่วนประกอบใหญ่ภายในจะเป็น “โรงแรม” โดยมีพันธมิตรเชนโรงแรมเข้ามาบริหาร 3 แบรนด์ คือ The Ritz Carlton Reserve, Autograph Collection และ JW Marriott
วัลลภากล่าวว่าโครงการอาคาร 100 ชั้นยังไม่สรุปงบลงทุน แต่ต้องการจะให้ก่อสร้างเสร็จภายในปี 2576 หรือครบรอบ 20 ปีเอเชียทีค
AWC ยังมีที่ดินส่วนขยายของเอเชียทีคได้อีกคือ ที่ดินขนาด 28 ไร่ บริเวณตรงข้ามถนนเจริญกรุง ปัจจุบันเป็นที่จอดรถ วางแผนว่าในอนาคตจะเป็นศูนย์รวมเวลเนส และอีกแปลงหนึ่งคือแปลงฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ บนถนนเจริญนคร พื้นที่ 29 ไร่ ที่ยังรอการออกแบบพัฒนา