รู้จัก TiffinLabs ฟู้ดเทคจากสิงคโปร์ โมเดลปั้น Virtual Restaurant ขยายสาขาผ่านร้านอาหาร

มาทำความรู้จักกับ ทิฟฟินแล็บส์ (TiffinLabs) ฟู้ดเทคที่ก่อตั้งในประเทศสิงคโปร์ ก่อนที่จะขยายมาในประเทศไทย โดยโมเดลในการทำธุรกิจก็คือการทำ Virtual Restaurant ผ่านร้านอาหารต่างๆ โดยใช้แบรนด์ของบริษัท ซึ่งเป็นการขยายสาขาไปในตัว และร้านอาหารเองก็สามารถมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น

สำหรับฟู้ดเทครายนี้เน้นเจาะตลาด Food Delivery โดยมีจุดเด่นคือการขยายธุรกิจผ่านการให้ผู้ประกอบการร้านอาหารนำแบรนด์อาหารเดลิเวอรีในเครือบริษัท ไปเปิดขายในร้านอาหารของตนเองเพื่อสร้างกำไรเพิ่มให้กับร้านอาหารจากต้นทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว

ปัจจุบัน TiffinLabs ได้ทดลองตลาดในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน และมี 200 Virtual Restaurants ใน 3 ประเทศ สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ 22.7 ล้านคน และยังทำให้ร้าน SME ไม่ต้องซื้อแฟรนไชส์ที่มีราคาแพง

ตั้งธุรกิจที่สิงคโปร์ก่อนขยายกลับมาที่ไทย

ภูมินันท์ ตันติประสงค์ชัย ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ TiffinLabs ได้กล่าวว่า ไอเดียคือสมัยอยู่ Food Delivery รายหนึ่งได้พบว่า ผลประโยชน์ของร้านค้าได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แถมยังมีปัญหาสำคัญไล่ตั้งแต่เวลาในการทำอาหาร แพ็กเกจอาหารไม่เหมาะสม การไม่ปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล เรื่องของการทำการตลาด ทำให้เสียเปรียบรายใหญ่ รวมถึงต้นทุนที่ไม่เหมาะสมเพราะโดนชาร์จค่า GP จาก Food Delivery

ทำให้เขาได้ก่อตั้งบริษัทในปี 2020 กับพาร์ตเนอร์ชาวสิงคโปร์ ที่ทำด้านอสังหาริมทรัพย์และ F&B ซึ่งธุรกิจของ TiffinLabs ธุรกิจเติบโตค่อนข้างเร็วในช่วงที่ผ่านมา ก็ที่จะขยายไปในประเทศอื่นๆ อย่างมาเลเซีย รวมถึงที่ไทย

ข้อมูลล่าสุด TiffinLabs ชี้ว่า ร้านอาหารขนาด SME ในไทยมีอยู่ราวๆ 530,000 ร้าน โดยเป็นร้านนั่งกินคิดเป็นสัดส่วนมากสุดถึง 80% ขณะที่ใน Food Delivery ที่มีร้านขนาด SME จำนวนน้อยมาก ขณะเดียวกันตลาด Food Services 952,000 ล้านบาท (ซึ่งรวม Food Delivery ไปด้วย)

เขายังชี้ว่าร้านอาหารขนาด SME ในอาเซียนพบปัญหานี้ด้วยกันทั้งหมด ทำให้ TiffinLabs เห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ

พีรพัฒน์ เจียประเสริฐ (ซ้าย) และ ภูมินันท์ ตันติประสงค์ชัย (ขวา) ผู้บริหารของ TiffinLabs ประเทศไทย

ทำร้านอาหารนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

พีรพัฒน์ เจียประเสริฐ ผู้จัดการทั่วไป TiffinLabs ประเทศไทย กล่าวว่า หลายคนมีความฝันเปิดร้านอาหาร แต่สิ่งที่พบนั่นก็คือร้านอาหารเปิดตัวบ่อยแต่ก็ปิดตัวเยอะมาก เขาชี้ว่าปัญหาใหญ่ของร้านอาหารคือ Profit Margin ต่ำกว่าธุรกิจประเภทอื่นๆ

นอกจากนี้ร้านอาหารเองยังมีแถมมีอัตราการเผาเงินสด (Cash Burn Rate) เฉลี่ยที่ 45 วัน ถ้าหากไม่มีรายได้ใหม่เข้ามา ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ อย่างเช่นโรงแรมอยู่ที่ 100 วัน ซ้ำร้ายไปกว่านั้นร้านอาหารเองยังมีโอกาสถึง 60% ที่จะปิดตัวลงภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งถือเป็นฝันร้ายของคนที่อยากเปิดร้านอาหาร

ปัญหาดังกล่าวทำให้ TiffinLabs มองเห็นโอกาส คือเจ้าของร้านสามารถมีร้านอาหารของตัวเองได้ แค่มาหารายได้จากบริษัทเพิ่มเติม ซึ่งสามารถสร้างเปิดร้าน (Virtual Restaurants) ภายใน 2-4 สัปดาห์ ไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม และมีค่าเฉลี่ยในการคืนทุนที่ไวมาก รวมถึงไม่ต้องซื้อแฟรนไชส์ร้านอาหารที่มีราคาแพง

ผู้จัดการทั่วไป TiffinLabs ประเทศไทย ได้ยกกรณีร้านอาหารญี่ปุ่นรายหนึ่ง มีรายได้จาก การเปิด Virtual Restaurants ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นราวๆ 30% รายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2 แสนบาทต่อเดือน ในการนำ Virtual Restaurants ลงร้าน 2-3 แบรนด์ นั้นจะมีกำไรราวๆ 40,000 บาทต่อเดือน

TiffinLabs มองว่าตลาด Food Services ไทยยังมีโอกาสโตได้อีกมาก

โมเดล Virtual Restaurants และการแบ่งรายได้

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ TiffinLabs ยังกล่าวเสริมว่า ปัญหาของร้านอาหาร SME ทำให้บริษัทมองเห็นโมเดลการแก้ปัญหาด้วย Virtual Restaurant ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจผ่าน Food Delivery ที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังทำอยู่ในตอนนี้

เขาได้กล่าวว่าใครก็สามารถนำ Virtual Restaurants ไปทำได้ ไม่ว่าจะเป็นบาร์ ร้านอาหาร ฯลฯ แล้วเอาแบรนด์ที่มีอยู่ไปให้ใช้ ส่วนที่ให้คือสิทธิในการใช้แบรนด์ มีเมนูให้ มีเครื่องปรุงให้ นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงเรื่องของการพัฒนาแบรนด์ให้เข้ากับ Food Delivery รวมถึงมี Revenue Sharing ให้ร้านระดับ SME เหล่านี้ 

ภูมินันท์ชี้ว่าครัวหนึ่งของร้านอาหารสามารถทำได้ 2-3 แบรนด์ด้วยซ้ำ ส่งผลทำให้ร้านอาหารระดับ SME มีรายได้เสริมมากขึ้น

โมเดลการแบ่งรายได้นั้นร้านอาหารได้ไป 60% ขณะที่ TiffinLabs ได้ไป 40% ซึ่งต่างฝ่ายจะแบกรับภาระค่าใช้จ่าย เช่น ร้านอาหารต้องซื้อวัตถุดิบเอง ส่วนทาง TiffinLabs จะรับภาระค่าใช้จ่าย GP ของ Food Delivery รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เอง ซึ่งกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายของร้านอาหารที่ร่วมกับบริษัทจะอยู่ราวๆ 20%

เขายังกล่าวว่าถ้าหากยอดขาย Virtual Restaurants ถ้าขายดีกว่าก็สามารถเปลี่ยนแบรนด์มาเป็นแบรนด์ของ TiffinLabs ที่มีได้เช่นกัน

Virtual Restaurants ที่นำมาเปิดในประเทศไทยมีอยู่ 6 แบรนด์ด้วยกัน – ที่มา TiffinLabs

นำ 6 แบรนด์มาเปิดที่ไทย

ปัจจุบันแบรด์ Virtual Restaurants ที่ TiffinLabs นำมาเปิดตลาดในประเทศไทยด้วยกันทั้งหมด 6 แบรนด์ ได้แก่

  • แฟตฟิงเกอร์ (Phat Fingers) ไก่ทอดสไตล์เกาหลี
  • เซาท์เทิร์นโซล (Southern Soul) ไก่ทอดสไตล์อเมริกัน
  • พาสต้าเทเบิ้ล (Pasta Table) สปาเก็ตตี้สไตล์คอมฟอร์ตฟู้ด
  • โปเตโต้ แล็บ (Potato Lab) เฟรนช์ฟรายส์และเมนูทานเล่นต่างๆ
  • ย่างดี (Yang Dee by Phat Fingers) ข้าวหน้าปิ้งย่างสไตล์เกาหลี
  • ภูมิใจไก่ทอด (Phum Jai)  ไก่ทอดสไตล์ไทย

ตั้งเป้าขยายไปยังหัวเมืองใหญ่ภายในปี 2025

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ TiffinLabs ยังกล่าวว่า โมเดล Virtual Restaurants สามารถไปได้ทุกแพลตฟอร์ม Food Delivery ที่มีอยู่ในท้องตลาดอยู่แล้ว และผู้บริหารมองว่าโมเดลธุรกิจนั้นจะไม่มีปัญหากับแพลตฟอร์มเหล่านี้ เนื่องจากเพิ่มร้านอาหารให้เข้ากับระบบ แม้ว่าบางแพลตฟอร์มจะมี Cloud Kitchen แต่ก็ไม่มีปัญหาอย่างใดเนื่องจากบริษัทได้แชร์ใช้ Cloud Kitchen ของแพลตฟอร์ม Food Delivery ด้วยซ้ำ

เขายังชี้ว่าประเทศไทยเป็นตลาด Food Delivery ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รวมถึง Food Services ทำให้เป็นโอกาสของบริษัท รวมถึงในการพัฒนาร้านอาหารที่เป็น SME ทำให้เหมาะกับ Business Model ของบริษัท

ข้อมูลล่าสุดปลายปี 2022 ที่ผ่านมา บริษัทมี Virtual Restaurants ทั่วกรุงเทพฯ 100 สาขาใน 6 แบรนด์ และภายในปี 2025 ตั้งเป้ามี 15 แบรนด์และมีสาขาขยายไปตามหัวเมืองใหญ่ทั่วไทย ปัจจุบันแบรนด์ร้านของ TiffinLabs ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ “ย่างดี” ซึ่งเป็นปิ้งย่างเกาหลีราคาเริ่มต้นที่ 149 บาท