กางแผน “พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่” รีโนเวตพลิกโฉมเป็น THE PANTIP LIFESTYLE HUB ฉีกภาพศูนย์ไอทีดั้งเดิม กลายเป็นแหล่งรวมกิจกรรมเยาวชน เช่น กวดวิชา กิจกรรมเสริมประสบการณ์ สนามเด็กเล่น และแหล่งร้านอาหารท้องถิ่น หวังดึงกลุ่มเด็กและครอบครัวเข้าห้าง
ศูนย์การค้า “พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่” ก่อตั้งมานาน 18 ปี ด้วยจุดแข็งเดียวกับ พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ในสมัยนั้น คือ เป็นแหล่งรวมสินค้าไอที ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์-มือถือ แต่ด้วยยุคสมัยเปลี่ยน การใช้อุปกรณ์ยุคนี้ลดการสั่งประกอบ มีการซื้อผ่านออนไลน์มากขึ้น การซ่อมน้อยลง ทำให้ศูนย์ฯ เริ่มไม่ตอบโจทย์ลูกค้าอีกต่อไป
“วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC เจ้าของศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ ระบุตรงไปตรงมาว่าปัจจุบันค่าเช่าของศูนย์ฯ แห่งนี้ไม่เป็นไปตามภาวะตลาด โดยปกติรีเทลในเชียงใหม่จะคิดค่าเช่ากันที่ 600-800 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือน ทำให้ถึงเวลาที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน
โครงการพันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่จึงเตรียมพลิกโฉมเป็น “THE PANTIP LIFESTYLE HUB” ที่จะเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ศูนย์การค้าใหม่หมดภายใต้แนวคิด “Every Happiness for Everyone” มูลค่าโปรเจ็กต์ 800 ล้านบาท
แนวคิดการปรับศูนย์ฯ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ
- 30% เป็นแหล่งรวมกิจกรรมของเยาวชนและคนในครอบครัว เช่น ศูนย์การเรียนรู้ กวดวิชา โรงเรียนดนตรี สนามเด็กเล่นในร่ม กิจกรรมเสริมประสบการณ์เด็ก ฟิตเนส ศูนย์สุขภาพและความงาม เป็นต้น
- 35% เป็น Food Lounge รวมร้านอาหารชั้นนำในจังหวัด ทั้งอาหารไทยและอาหารนาชาชาติ ในราคาจับต้องได้ง่าย จัดพื้นที่ในแบบ co-dining space ให้ทุกคนสามารถมานั่งทานอาหารพร้อมสังสรรค์กับครอบครัว/เพื่อนๆ ได้
- 35% เป็นพื้นที่ Lifestyle Market โซนตลาดขายสินค้าที่สะท้อนความเป็นเชียงใหม่ เช่น งานศิลปะ สินค้าทำมือ ของตกแต่งบ้าน อาหารปลอดสารพิษ ฯลฯ และโซนไอทีเดิมจะมารวมอยู่ในพื้นที่นี้
หากเป็นแผนผังพื้นที่ภายใน THE PANTIP LIFESTYLE HUB ทั้ง 4 ชั้น จะแบ่งดังนี้
ชั้น 1 LANNA GAD โซนค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ตบิ๊กซี และร้านอาหาร
ชั้น 2 LANNA ARTISAN โซนตลาดไลฟ์สไตล์ ไอที และร้านอาหาร
ชั้น 3 LANNA AESTHETIC โซนสินค้าแฟชั่น ศูนย์สุขภาพและความงาม แม่และเด็ก
ชั้น 4 LANNA AMUSEMENT โซนศูนย์การเรียนรู้ สนามเด็กเล่นในร่ม พื้นที่สร้างสรรค์
แน่นอนว่าภาพลักษณ์ของศูนย์ฯ จะต้องเปลี่ยนใหม่ จากเดิมที่เป็นศูนย์ไอทีจะไม่ได้ตกแต่งมากนัก แต่คอนเซ็ปต์ใหม่จะมากับสไตล์ตกแต่ง “ล้านนา โมเดิร์น” เพื่อให้เป็นศูนย์ฯ ที่ลูกค้ามาแฮงเอาต์ รับประสบการณ์ ทำกิจกรรม
“แต่ก่อนที่เป็นศูนย์ไอที เราจะตกแต่งมากไม่ได้ เพราะกลุ่มเป้าหมายจะมองว่าของในห้างฯ แบบนี้ ‘แพง’ แต่เมื่อเป็นไลฟ์สไตล์ ฮับ ก็จะต้องตกแต่งให้น่ามานั่ง มาทำกิจกรรมกัน” วัลลภากล่าว
แผนการรีโนเวตพันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2565 แล้ว โดยไม่มีการปิดศูนย์ฯ AWC จะทยอยปรับปรุงไปพร้อมกับการหาผู้เช่าใหม่เข้ามาในพื้นที่ และคาดว่าจะเริ่มเห็นความสมบูรณ์ช่วงปลายไตรมาส 3 ปีนี้
“ขณะนี้ยังระบุชื่อผู้เช่าไม่ได้ แต่มีเจรจาอยู่ราว 60 ราย ในส่วน Food Lounge ที่จะเป็นแหล่งรวมร้านอาหาร เรามีการทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มเดลิเวอรีเจ้าหนึ่งด้วย เพื่อช่วยเราคัดเลือกร้านอาหารดังๆ ในเชียงใหม่เข้ามา” วัลลภากล่าวเสริม
ท่ามกลางศูนย์การค้าที่มีอยู่หลายแห่งในเชียงใหม่ วัลลภาเชื่อว่าจุดแข็งของ THE PANTIP LIFESTYLE HUB คือ “ทำเล” ที่อยู่กลางเมืองเชียงใหม่มากที่สุด ไม่ต้องวิ่งรถออกไปรอบนอก หลังเลิกเรียนนักเรียน-นักศึกษาเดินทางมาง่ายกว่าศูนย์การค้าที่อยู่รอบนอก รวมถึงอยู่กลางแหล่งท่องเที่ยว ทำให้จะได้ลูกค้าชาวต่างชาติด้วย
THE PANTIP LIFESTYLE HUB ถือเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งในอาณาจักร AWC เชียงใหม่ ในบริเวณถนนช้างคลาน บริษัทนี้มีโครงการในพื้นที่รวม 12 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรม 4 แห่ง คือ มีเลีย เชียงใหม่, ดุสิต ดีทู เชียงใหม่, อินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง (รีโนเวตจากอิมพีเรียล แม่ปิง) และ เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ (เตรียมรีโนเวตเป็น แมริออท) และมีพื้นที่รีเทลอีก 8 แห่ง เช่น ตลาดไนท์บาซาร์ ตลาดอนุสาร ซึ่งปีนี้บริษัทกำลังจะสร้างคอนเซ็ปต์ใหม่เพื่อปลุกย่านนี้ในชื่อ “ล้านนาทีค” คาดเปิดเฟสแรกได้ช่วงปลายปี 2566
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- ทำไม AWC ต้องยกเครื่อง “พันธุ์ทิพย์” เป็นศูนย์ค้าส่ง ปิดฉาก 36 ปี ห้างไอทีในตำนาน
- “เอเชียทีค” ลงทุน 800 ล้านรีโนเวตพื้นที่ให้เที่ยวได้ “ทั้งวัน” จับมือ Disney สร้างกิจกรรมดึง “คนไทย”