“จีน” จัดอันดับ “อาคารที่น่าเกลียดที่สุด” ใช้กระแสสังคมกดดันให้ “เลิกสร้าง” ตึกไร้รสนิยม

อาคารน่าเกลียด จีน
อาคารทรงแปลกประหลาดในเมือง “จีน” มักจะมีให้เห็นอยู่เสมอ ชวนสงสัยว่าคนออกแบบกำลังคิดอะไรอยู่ แต่ใช่ว่าคนจีนจะชื่นชอบอาคารไร้รสนิยมเหล่านี้ เว็บไซต์แห่งหนึ่งจึงจัดตั้งโพลออนไลน์ขึ้นเพื่อให้ประชาชนโหวต “อาคารที่น่าเกลียดที่สุด” โดยจัดขึ้นเป็นปีที่ 13 แล้ว มุ่งเป้าเพื่อให้ผู้จัดสร้างอาคารเลิกสร้างอาคารแปลกประหลาดขึ้นมาเสียที

เว็บไซต์ Archy.com จัดทำโพลสำรวจ “อาคารที่น่าเกลียดที่สุด” ในประเทศจีน ประจำปี 2022 และผลโหวตที่กำลังมาอันดับ 1 ขณะนี้ ตกเป็นของ “อาคารพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ CORPUS” ในมณฑลอันฮุย ซึ่งต้นแบบของพิพิธภัณฑ์มาจากประเทศเนเธอร์แลนด์

ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ที่เนเธอร์แลนด์ออกแบบให้มีรูปปั้นมนุษย์ครึ่งซีกนั่งอยู่ติดกับอาคารกรุกระจกทรงทันสมัย ซึ่งน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้พิพิธภัณฑ์ที่จีนออกแบบแบบเดียวกันด้วย แต่ดูเหมือนจะสร้างมาได้ไม่เหมือนแบบเท่าไหร่ และผลตอบรับของชาวจีนไม่ค่อยดีนัก ส่วนใหญ่มองว่าอาคารแบบนี้ “แปลกประหลาด” จนถึงระดับ “น่ากลัว”

“อาคารพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ CORPUS” ในมณฑลอันฮุย

ผู้จัดโพลชิ้นนี้มีตัวเลือกเหตุผลที่นิยามคำว่า “น่าเกลียด” ของอาคารไว้หลายประการ เช่น รูปร่างประหลาดพิกล, การออกแบบไม่เข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ, เลียนแบบสถาปัตยกรรมต่างประเทศจนเกินเหตุ, ลอกเลียนแบบอาคารอื่นที่มีอยู่ก่อนแล้ว, ฟังก์ชันออกแบบการใช้งานไม่มีเหตุผลจำเป็น เป็นต้น

อาคารที่เข้ากับนิยามคำว่าน่าเกลียดจึงเรียกได้ว่ามีอยู่มากมายในประเทศจีน เป็นเหตุให้โพลนี้จัดขึ้นต่อเนื่องมาถึงปีที่ 13 ที่ผ่านมามีตึกติดอันดับต้นๆ ในโพลมากมาย เช่น อาคารราชการในเมืองฟู่หยาง มณฑลอันฮุย ที่ลอกเลียนแบบทำเนียบขาวและอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ มาทั้งดุ้น, อาคารรูปร่างเหมือนกางเกงของสำนักข่าว CCTV ในกรุงปักกิ่ง, อาคาร Raffles City ในเมืองฉงชิ่ง ที่ดูแล้วเหมือนลอกเลียน Marina Bay Sands ในสิงคโปร์มา หรืออาคารหน้าตาเหมือนเหรียญสีทองในเมืองกวางโจว เป็นต้น

อาคารรูปร่างเหมือนกางเกงของสำนักข่าว CCTV ในกรุงปักกิ่ง (Photo: Shutterstock)

ทำไมอาคารหน้าตาน่าเกลียดจึงผุดขึ้นในจีนเต็มไปหมด? “โจว ร่ง” หนึ่งในผู้ก่อตั้งโพลนี้และเป็นศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชิงหัว เคยเขียนบทความไว้เมื่อปี 2020 อธิบายว่า เป็นเพราะการพัฒนาความเป็นเมืองที่รวดเร็วอย่างยิ่งใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดการก่อสร้างตึกจำนวนมากจนเกินจำเป็น ในระหว่างนั้นการออกกฎหมายควบคุมก็ยังหละหลวม ไม่สนใจความยินยอมพร้อมใจของประชาคม จนทำให้กระบวนการออกแบบและการคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมจีนล่มสลาย

ผลก็คือ เกิดอาคารที่ลอกเลียนแบบอาคารในต่างประเทศ อาคารที่จงใจแสดงออกถึงความร่ำรวย อาคารที่เน้นความแปลกเพื่อให้โด่งดังดึงดูดนักท่องเที่ยว อาคารเหล่านี้เบ่งบานไปทั่วจีนก่อนจะควบคุมได้ทัน

ศูนย์การค้า Tian An 1,000 Trees ในเซี่ยงไฮ้

หนำซ้ำ เมื่อประเทศจีนพัฒนากฎมาควบคุมอาคารแปลกๆ ไม่ทัน ที่นี่จึงเป็นสวรรค์ของสถาปนิกทั่วโลกในการทดลองไอเดียพิลึกพิลั่นต่างๆ และบางโครงการสถาปนิกต่างชาติก็มักจะลืมนึกถึงกรอบวัฒนธรรมจีน จนได้อาคารที่อาจจะสวยที่อื่นแต่แปลกที่นี่ออกมา เช่น ศูนย์การค้า Tian An 1,000 Trees ในเซี่ยงไฮ้ คอนเซปต์ของผู้ออกแบบต้องการจะให้เป็นเหมือนภูเขาที่มีต้นไม้ขึ้นบนเขา สร้างธรรมชาติในเมือง แต่ผลที่ได้นั้นดูคล้าย “ฮวงซุ้ย” สุสานของคนจีนแทน

เมื่อเริ่มมีเสียงต้านจากประชาชนมากขึ้น แม้แต่ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ก็ยังต้องเอ่ยถึงเรื่องนี้บ้าง โดยในปี 2014 สีจิ้นผิงร้องขอให้ “เลิกสร้างอาคารประหลาด” ในประเทศเสียที

จนกระทั่งเมื่อปี 2022 นักวางแผนทางเศรษฐกิจเริ่มปล่อยแผนการออกแบบการขยายตัวของเมือง โดยต้องการให้เมืองในจีนสะท้อนความเป็นจีน ดังนั้น คาดว่าอาจจะมีการแบนอาคารประเภทที่ “ใหญ่เกินจำเป็น แปลก และรับวัฒนธรรมต่างชาติมาใช้”

แต่ในระหว่างที่รัฐบาลจีนวางแผนเรื่องนี้ เทรนด์การออกแบบอาคารแปลกๆ ในประเทศก็ดูจะยังไม่หยุด

“ตอนที่เริ่มตั้งโพลครั้งแรก เราคิดว่าโพลของเราคงไม่ค่อยมีอะไรมาให้โหวตหลังผ่านไปสัก 2 ปี แต่จนถึงขณะนี้อาคารน่าเกลียดก็ยังโผล่ขึ้นมาไม่หยุดเลย” โจว ร่ง กล่าว “สิ่งที่เปลี่ยนไปมีแค่ความน่าเกลียดมันเปลี่ยนหน้าตาไปเท่านั้น”

ต้องติดตามต่อไปว่า แนวทางการบริหารของจีนที่จะควบคุมไม่ให้มีตึกที่อวดร่ำอวดรวยเกินไป และรับวัฒนธรรมต่างชาติมามากเกิน เพื่อกรุยทางไปสู่การสร้างอาคารที่มีความงามด้วยสัญลักษณ์วัฒนธรรมในแบบจีน จะเป็นไปได้เร็วแค่ไหน