“เกาะไห่หนาน” วางเป้าหยุดจำหน่ายรถยนต์สันดาปภายในปี 2030 โมเดลนำร่องของ “จีน”

ไห่หนาน
เมืองไหโข่ว เกาะไห่หนาน (Photo: Shutterstock)
ในอนาคตพลเมืองบน “เกาะไห่หนาน” ของจีนจะไม่ต้องกังวลเรื่องสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอีกต่อไป เพราะเกาะแห่งนี้มีแผนเปิดจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 75,000 จุดทั่วเกาะ เพื่อรองรับเป้าหมายการหยุดจำหน่ายรถยนต์สันดาปบนเกาะภายในปี 2030

“เกาะไห่หนาน” เกาะขนาดใหญ่เท่ากับขนาดประเทศเบลเยียมที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีน และมีประชากรบนเกาะกว่า 10 ล้านคน มีแผนที่จะหยุดจำหน่ายรถยนต์สันดาปบนเกาะภายในปี 2030 ซึ่งจะทำให้ปีนั้นรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดจะคิดเป็นสัดส่วน 45% ของรถยนต์ทั้งหมดบนเกาะ

แผนของรัฐบาลท้องถิ่นเกาะไห่หนานนี้ถือเป็นท้องถิ่นแรกของ “จีน” ที่ตั้งเป้าหมายสูงในระดับนี้ และจะกลายเป็นแม่พิมพ์ของท้องถิ่นอื่นในประเทศต่อไป

การเริ่มต้นที่ไห่หนานนับเป็นโมเดลนำร่องที่ดี เพราะโครงสร้างพื้นฐานของท้องที่เป็นเกาะและมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ทำให้คนส่วนมากจะเดินทางไม่ไกลต่อหนึ่งเที่ยวเดินทาง รวมถึงมีภูมิอากาศที่ไม่หนาวจัดหรือร้อนจัดซึ่งช่วยยืดอายุการใช้งานแบตเตอรีรถ ไม่เหมือนกับเมืองหลวงอย่างปักกิ่งที่ในฤดูหนาวมักจะหนาวถึงติดลบ

แผนการของรัฐบาลท้องถิ่นที่ช่วยสนับสนุนให้เป็นเกาะแห่งอีวีนั้นมีหลายนโยบาย เช่น สนับสนุนเงินช่วยเหลือในการซื้อรถอีวี เปลี่ยนรถแท็กซี่และรถเมล์เป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด

ในแง่โครงสร้างพื้นฐานก็สนับสนุนให้มีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 75,000 จุดทั่วเกาะ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้เข้าถึงจุดชาร์จได้เฉลี่ยทุกๆ 2 กิโลเมตร จึงไม่ต้องกังวลเรื่อง ‘แบตหมด’ อีกต่อไป

ปัจจุบันในเมืองไหโข่ว เมืองเอกของเกาะไห่หนาน ถือว่ามีจุดชาร์จรถอีวีกระจายอยู่ทั่ว และในกรณีของรถยี่ห้อ Nio มีการสร้างสถานีสลับแบตเตอรีตามกลยุทธ์ของแบรนด์ด้วย โดยแบรนด์มีแผนจะสร้างสถานีสลับแบตเตอรีในจีนเพิ่มอีก 1,000 จุด พร้อมกับสถานีชาร์จอีก 10,000 จุด

การจะยกเลิกขายรถยนต์สันดาปในปี 2030 มีแรงกดดันต่อผู้บริโภคหรือไม่? สำนักข่าว Bloomberg สัมภาษณ์คนจีนท้องถิ่นบนเกาะแล้วพบว่า คนจำนวนมากเริ่มตัดสินใจซื้อรถยนต์คันใหม่เป็นรถอีวีอยู่แล้ว แม้แต่บริษัท BYD เองก็เลิกผลิตรถยนต์สันดาปไปตั้งแต่ปี 2022 ทำให้เป้าหมายของรัฐที่จะให้เลิกขายรถสันดาปจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาในกลุ่มผู้บริโภค

เจมส์ เฉา ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการวางแผนกลยุทธ์ IScann Group บริษัทที่ปรึกษา มองว่า ไห่หนานยังได้รับอานิสงส์อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เป้าปี 2030 เป็นจริงง่ายขึ้น นั่นคือราคาของรถยนต์ไฟฟ้าในจีนต่ำกว่าประเทศอื่นในโลกค่อนข้างมาก

“การเข้าถึงรถอีวีในยุโรปและสหรัฐฯ ยังเป็นประเด็นสำคัญ แต่ในจีนนั้นมีกำแพงเรื่องนี้น้อยกว่า ทำให้เป้าหมายการแบนรถยนต์สันดาปในไห่หนานมีโอกาสสำเร็จได้มากกว่าประเทศอื่นในโลก” เฉากล่าว

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายต่อไปที่ค่อนข้างจะยากกว่าคือ การรณรงค์ให้กลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถบรรทุก เปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าบ้าง เพราะรถกลุ่มนี้เมื่อเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้ากลับไม่ได้มีปัจจัยบวกเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้มากเท่ากับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล

Source