ผลศึกษาตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้งในไทย ปี 2560 พบกิจการเติบโต มีผู้เล่นเข้ามาในตลาดถึง 9 บริษัท กลุ่มทีวี ไดเร็คมาเป็นอันดับ 1 ครองส่วนแบ่งสูงสุด ตามมาด้วย โอ ช้อปปิ้ง และ 1781 ของกลุ่มอาร์เอส คาดดีลทีวี ไดเร็ค ซื้อสปริงนิวส์ ช่วยติดปีก สร้างรายได้เพิ่มอีก
จากบทวิเคราะห์ของบริษัท ออพท์เอเชีย แคปิตอล ที่ปรึกษาการเงินอิสระของทีวี ไดเร็ค ในการเข้าไปซื้อหุ้นใหญ่บริษัท สปริงนิวส์ทีวี หรือ SPTV ให้กับผู้ถือหุ้นของของทีวี ไดเร็ค เพื่อประกอบการโหวตในการซื้อกิจการ โดยจะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของทีวี ไดเร็ค ในวันที่ 23 พ.ย.นี้
ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นเวลานาน และเริ่มมีบทบาทที่มากขึ้นในธุรกิจทีวี ทั้งประเภททีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี และทีวีดิจิทัลโดยเฉพาะในช่วงระหว่าง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทีวีดิจิทัลได้มีการปรับตัวอย่างมากในช่วงที่รายได้จากค่าโฆษณาลดลง จึงต้องมองหารายได้จากช่องทางอื่น โดยธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ทำให้ทีวีดิจิทัลสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการ โดยผ่านเครือข่ายทีวีที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วประเทศ
คนไทย 13% ซื้อของผ่านทีวี ส่วนใหญ่เป็นคน ตจว.
ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งถูกจัดให้เป็นหนึ่งในธุรกิจยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างของการเติบโตธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งที่สามารถสร้างรายได้มากถึง 4 แสนล้านบาทต่อปี
ในประเทศไทยนั้น ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งยังเป็นธุรกิจขนาดไม่ใหญ่มาก โดยมูลค่าการตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้งของไทยประมาณ 1-1.2 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 0.5 ของมูลค่าตลาดค้าปลีกรวม เมื่อเทียบกับประเทศเกาหลีใต้คิดเป็นร้อยละ 4.0 ของมูลค่าตลาดค้าปลีกรวม ดังนั้น ตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้งของไทยยังมีช่องทางการเติบโตอยู่มาก
พบว่า คนไทยเคยซื้อสินค้าทางโทรทัศน์เพียง 13% ของประชากรที่มีรายได้ ของธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าอายุระหว่าง 20-70 ปี โดย 60-65% อยู่ต่างจังหวัด ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการสื่อสารข้อมูลสินค้าที่มีเนื้อหาเข้าใจง่ายไปยังลูกค้าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ
ส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งเติบโตได้ มาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าผ่านทางโทรทัศน์มากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ รายได้ต่อประชากรสูงและตลาดมีโอกาสขยายได้มาก ระบบโลจิสติกส์ในประเทศไทยมีการพัฒนาและมีศักยภาพ และระบบการส่งสัญญาณโทรทัศน์ทั่วถึงทั้งประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพและมีโอกาสทางตลาดมากกว่าประเทศอื่น เช่น เวียดนามมีตลาดขนาดใหญ่แต่รายได้ต่อประชากรยังตํ่ากว่าประเทศไทย หรือพม่าที่เศรษฐกิจกำลังเติบโด แต่ระบบการส่งสัญญาณโทรทัศน์อยู่ภายใต้การควบคุมที่เคร่งครัดของรัฐบาล
9 บริษัทโฮมช้อปปิ้งแข่งหนัก ต้อนรับน้องใหม่ ค่ายโมโน
ปัจจุบันมีทีวีโฮมช้อปปิ้งจากต่างประเทศเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทในไทยเป็นจำนวนมาก เช่น GS Shopping, CJ O Shopping, Hyundai Home Shopping Network Corp., Sumitomo Corp และ MOMO.com Inc. เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดและขยายฐานลูกค้าในประเทศไทย
โดย 6 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง ได้แก่ ทีวี ไดเร็ค, ทรู ซีเล็ค, โอ ช้อปปิ้ง, ทีวีดี ช็อป, ไฮท์ ช็อปปิ้ง และ ช็อป แชนแนล ได้รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสมาคม ทีวี โฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) เมื่อปี 2557 เพื่อสร้างเครือข่ายและเป็นศูนย์กลางข้อมูล ข่าวสาร การดูแล ลูกค้า
นอกจากนี้ยังมีคู่แข่งรายอื่นที่สนใจในธุรกิจนี้ เช่น บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด บริษัทลูกของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ขายสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม ผ่านช่องทางสื่อของอาร์เอส ทั้งช่อง 8 ช่องทีวีดาวเทียมจำนวน 4 ช่อง และสื่อวิทยุ
ส่วนช่อง MONO 29 ได้ร่วมมือกับโมโนทราเวล เปิด 29 Shopping โฮมช้อปปิ้ง เปิดให้บริการในวันที่ 29 มิถุนายน 2561
นอกจากนี้ยังมี บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด (Wizard Solution) ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายกระทะ Korea King, บริษัท 1577 โฮมช้อปป้ง จำกัด (1577) ขายสินค้าผ่านทางฟรีทีวี ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี และ บริษัท เลนโซ่ ไดเร็ค จำกัด (Tiger Shopping) ผ่านทีวีดาวเทียม PSI, GMMz และ BIG4 โดยบริษัทเหล่านี้เช่าเวลาออกอากาศจากสถานีอื่น ยกเว้น บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด (1781) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) (RS) และ 29 Shopping ที่ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัล
เมื่อดูส่วนแบ่งตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้ง วัดตามมูลค่ารายได้จาการขายสินค้าและบริการของแต่ละบริษัทในปี 2560 อันดับหนึ่งคือ บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีวีดี ช้อปปิ้ง จำกัด (TV Direct & TVD Shop) (บริษัท ทีวีดี ช้อปปิ้ง จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทย่อยของบริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนรวมเป็นร้อยละ 32.15 ส่วนบริษัท จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โอ ช้อปปิ้ง จำกัด (O Shopping) และ บริษัท ไลฟ์ สตาร์ จำกัด หรือ 1781 เป็นอันดับสองและสาม หรือคิดเป็นร้อยละ 19.65 และ 14.08 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมทีวีโฮมช้อปปิ้ง เริ่มมีจำนวนผู้สนใจทำธุรกิจนี้มากขึ้น และมีการเติบโตของตลาดทำให้รายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมีการเติบโตต่อเนื่องโดยเพิ่มจาก 7,825.78 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 9,868.19 ล้านบาทในปี 2560
ยิ่งจำนวนช่องทีวีดิจิทัลมากเกินไป ทำให้เกิดการแข่งขันลงทุนผลิตเนื้อหา เพื่อหวังสร้างเรตติ้ง และรายได้โฆษณา ช่องทีวีที่มีเรตติ้งน้อยจึงประสบปัญหา ไม่มีเงินทุนในการผลิต จึงถือเป็นโอกาสของทีวีโฮมช้อปปิ้งที่เข้ามาแทน เพราะเป็นธุรกิจที่ยิ่งออกอากาศมาก ก็ยิ่งมีโอกาสดึงให้ผู้สนใจสินค้ามากขึ้น การลงโฆษณาและรายการสินค้าของทีวีโฮมช้อปปิ้งจะเน้นในช่วงเวลาที่ช่องทีวีมีเวลาเหลือ เพื่อใช้เม็ดเงินใช้จ่ายในการออกอากาศได้ถูกที่สุด ดังนั้น สภาพการแข่งขันจึงเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งมีโอกาสในการขยายธุรกิจได้มากขึ้นต่อไป.