Emotional Branding ฉบับ GTH

หนึ่งในเป้าหมายพื้นฐานสำคัญตั้งแต่ยุคแรกๆ ของการโปรโมตสินค้าบนทวิตเตอร์ ก็คือดึงคนเข้าเว็บไซต์ให้มากที่สุดและบ่อยที่สุด ตรงกับความต้องการในการโปรโมตหนังของค่าย GTH ที่ “เดชอุดม เข็มแดง” เว็บมาสเตอร์ของ GTH มองว่า ทวิตเตอร์ ทำหน้าเป็นหน่วย “รุก” เข้าหาผู้ใช้เว็บรายใหม่ๆ เพื่อดึงมาเว็บไซต์หลักอย่างได้ผล รวมทั้งคอยสะกิดแฟนเดิมๆ เพิ่มความถี่ในการเข้าเว็บ gth.co.th ที่ทุกวันนี้มีตาม Follow อยู่ถึงกว่า 2 พันราย เรียกได้ว่ามากที่สุดในบรรดาธุรกิจไทย ทั้งที่ลงโปรโมตแค่ในสื่อออนไลน์อย่างเว็บไซต์ของ GTH เองเท่านั้น

ด้วยความเป็นบริษัทภาพยนตร์ ซึ่งมีสินค้าเป็นภาพยนตร์ การโปรโมตผ่าน Youtube ด้วยการลงคลิป และใช้ Podcast ถ่ายทอดสดร่วมด้วย เกิดเป็น 4 ประสาน Twitter – Facebook – Podcast – Youtube โดยมีเว็บหลัก GTH.co.th เป็นศูนย์กลาง

ทวิตเตอร์ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือ CRM ยุคใหม่ที่เดชอุดมมองว่า การจะดึงคนเข้าเว็บเพื่อโปรโมตหนังผ่านทวิตเตอร์นั้น ไม่ควรทำแค่ลงข่าวเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเปิดให้ผู้ใช้คุยตรงกับแบรนด์หรือองค์กร เพราะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

แรงบันดาลใจที่เดชอุดมชื่นชอบในการใช้ทวิตเตอร์ทำการตลาด คือ @StarBucks ของสตาร์บัคส์ ที่ไม่เคยลงโปรโมตเมนูกาแฟหรือขนมตรงๆ แต่จะใช้วิธีพูดถึงบรรยากาศของร้านกาแฟ ความรู้สึกของการนั่งจิบกาแฟคุยกับเพื่อน หรือทักผู้ติดตามอ่านว่า “อากาศแบบนี้ คุณนึกถึงกาแฟแบบไหน?” เปิดประเด็นให้คนอยากเล่าเรื่องของตัวเองตอบกลับมา หรือส่งต่อเป็นคำถามไปหาเพื่อนๆ เกิด Emotional Branding ให้กับสตาร์บัคส์ได้อย่างแนบเนียน
ตัวอย่างดังกล่าวนี้เอง ทำให้เดชอุดมและทีมงานต้องการให้ทวิตเตอร์ของ GTH นั้นต้องเป็น “Emotional” คือมีอารมณ์ความรู้สึก เป็นกันเอง และต้องเปิดกว้างเน้นการมีส่วนร่วมของฝ่ายผู้อ่านทุกคน

ภาพยนตร์ “หนีตามกาลิเลโอ” เป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่ใช้ทวิตเตอร์ดึงคนเข้าร่วมอีเวนต์ เพื่อโปรโมตหนัง โดยมีการแจกตั๋วหนังรอบพิเศษฟรีผ่านทวิตเตอร์ ซึ่งหมดลง 100 ใบ ภายใน 2 นาที

เรื่องถัดไป คือ หนังสยองขวัญ “5 แพร่ง” ก็จัดอีเวนต์ชวนกันดูหนังยามดึกเป็นหมู่คณะ และใช้ช่วงดึกๆ ในการบิวต์อารมณ์สยองขวัญโดยให้ผู้อ่านทวีตข้อความน่ากลัวๆ มาแปะไว้บนหน้าทวิตเตอร์ของ GTH และลงชื่อหนังกำกับไว้เพื่อร่วมชิงบัตรฟรี ตอบโจทย์ทั้งความ Emotional กับให้ผู้อ่านช่วยสร้างคอนเทนต์และโปรโมตหนังไปในตัว

การให้ผู้อ่านร่วมสร้างคอนเทนต์เป็นเป้าหมายที่ GTH เน้นอย่างมาก เช่นในกิจกรรมให้ผู้อ่านถ่ายรูปตัวเองชูป้ายที่เขียนเองเกี่ยวกับการ “หนีตาม…” แล้วส่งผ่านเว็บของ GTH เพื่อชิงรางวัลป้ายโปรโมตหนังขนาดเท่าคนจริง (Standee) ผลปรากฏว่ามีคนร่วมเล่นถึง 40 คน ภายในสัปดาห์เดียว และรูปทั้งหมดก็ถูกนำขึ้นเว็บแล้วลงลิงค์ผ่านทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก เป็นการให้ผู้อ่านช่วยสร้างเนื้อหาและพาให้เพื่อนมาดูและบอกต่อกันซึ่งเป็นวัฒนธรรมบน Social Network อยู่แล้ว

นอกจากเดชอุดมจะเป็นตัวแทนบริษัทในการนัดหมายและคุยข่าวกิจกรรมทางทวิตเตอร์แล้ว ยังใช้ตัวละครสมมติจาก “หนีตามกาลิเลโอ” เช่น “นุ่น” และ “เชอรี่” ที่ในหนังรับบทโดย เต้ย จรินทร์พร และ ต่าย ชุติมา ให้โลดแล่นพูดคุยบนโลกทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กราวกับมีตัวตนอยู่จริง ในชื่อ @NoonNitta และ @Chee_rer แถมทั้งคู่ยังพูดคุยกันเองแบบเพื่อนสนิทให้ Follower กว่าสองพันคนได้ติดตามอ่านอยู่เสมอๆ ด้วย

แต่กว่าจะถึงขั้นนี้ GTH อยู่ระหว่างลองผิดลองถูกอยู่ และวิเคราะห์บทเรียนความผิดพลาดในอดีต ออกมาเป็นข้อควรระวัง 2 ข้อ อย่างแรกคือเรื่องเวลาในการทวีตข้อความ อย่างต่อมาคือเรื่องการหาผู้อ่านใหม่ๆ มาเป็น Follower

ทีมงานทวิตเตอร์ของ GTH เคยทวีตข้อความในช่วงที่ละครหลังข่าวฉาย ปรากฏว่าผลตอบรับเงียบเหงาผิดปกติ จึงเกิดการประมวลได้ผลออกมาว่าช่วงเวลา Prime time ของทีวีนั้น นักทวีตข้อความการตลาดทั้งหลายต้องหลีกเลี่ยง หากจะทวีตถึงวัยรุ่น ทำได้ตั้งแต่เย็นๆ ถึงดึก แต่หากจะทวีตถึงคนทำงานออฟฟิศให้เน้นช่วงหลังพักกลางวันและช่วงเย็นหลังเลิกงานใหม่ๆ ก่อนออกจากออฟฟิศหรืออีกครั้งก็คือช่วงดึก

ส่วนการหาสมาชิกใหม่ๆ มาเป็น Follower ในทวิตเตอร์นั้น ต้องไม่ใช่การหว่านส่งข้อความไปชักชวนโดยตรง เพราะมักจะไม่ได้ผลและเสียภาพลักษณ์ถูกมองเป็นนัก Spam ที่น่ารำคาญคล้ายจดหมายขยะและไม่ได้ก่อให้เกิดสมาชิกใหม่เท่าไรนัก

วิธีหาสมาชิกใหม่ๆ จึงควรให้มาจากการรู้จักเองของผู้ใช้ผ่านการ Retweet ข้อความของคนอื่นๆ ซึ่งทางบริษัทอาจจะทำเป็นเกมชิงรางวัลให้สมาชิกเดิมส่งต่อข้อความที่กำหนด เป็นการยืมมือสมาชิกเดิมดึงสมาชิกใหม่ที่สนใจให้เข้ามา Follow เอง