มาแล้ว เทศกาลช้อปกระหน่ำ สินค้าออนไลน์ของแพลตฟอร์มต่างๆ ในวันที่ 11 เดือน 11 ที่กำลังกลายเป็นกระแสมหกรรมช้อปปิ้งไปทั่วโลก
กระแสถูกโหมโดยอาลีบาบา ไม่เพียงแค่เข้ามาแทนที่วันคนโสดที่เคยเป็นกระแสหลักของวันที่ 11 พฤศจิกายนของทุกปีในจีน หรือ 11.11 เท่านั้น แต่อาลีบาบายังทำให้เทศกาลนี้เติบโตจนคนทั่วโลกรู้จักอาจจะมากกว่า เทศกาลช้อปปิ้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา อย่าง Black Friday ซึ่งเปรียบเสมือนวันช้อปปิ้งแห่งชาติ เพราะทุกห้างร้านทั้งออฟไลน์ออนไลน์จะลดราคาสินค้ากันทั่วทั้งอเมริกา มิหนำซ้ำยังเป็นการเลือกเทศกาลขึ้นมาตัดหน้าล้วงกระเป๋าเงินนักช้อปล่วงหน้าก่อนเทศกาลเก่าแก่ถึงหนึ่งเดือน
ในช่วงแรกเทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์ กะจะให้คนโสดที่ใช้ชีวิตโดดเด่นอยู่หน้าคอม มาเป็นลูกค้าหลัก แต่จากผลการสำรวจของนีลเส็นตั้งแต่ปี 2015 พบว่า นักช้อปของเทศกาล 11.11 นั้นเป็นกลุ่มครอบครัวสูงถึง 60% และตอนหลังอาลีบาบาก็เลือกที่จะโฟกัสให้ใหญ่ขึ้นด้วยการย้ำว่า เทศกาลช้อปปิ้งระดับโลก โดยไม่จำกัดรูปแบบ แต่จะกระจายทำโปรโมชั่นลดกระหน่ำและเก็บสถิติยอดขายซึ่งตอนนี้ขยายมาถึง 1 เดือนก่อนถึงเวลาสิ้นสุดของเที่ยงคืนวันที่ 11.11 ในแต่ละปี รวมทั้งทำครบทุกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบาที่มีอยู่ทั้งหมด
แต่ที่ถือเป็นการจุดพลุที่ตอกย้ำให้เทศกาลนี้กลายเป็นการช้อปปิ้งระดับโลกอย่างแท้จริงคือ การที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่นๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะจากฝั่งเอเชียด้วยกันเองรวมถึงในอาเซียน กระโดดเข้ามาร่วมหวังเพื่อหวังชิงส่วนแบ่งยอดขายจากเทศกาลที่อาลีบาบาสร้างให้เป็นปรากฏการณ์ขึ้นนี้
ปี 2018 นี้ เป็นปีที่อาลีบาบาจัดเทศกาล 11.11 มาครบรอบปีที่ 10 แต่ละปีทำยอดขายเพิ่มขึ้น และมีการโชว์สถิติที่เรียกความสนใจให้สื่อทุกแขนงไปนำเสนอถึงความสำเร็จนี้ต่อเนื่อง ทำให้ไม่เพียงแค่การทำยอดขายจำนวนมากจากเทศกาล แต่อาลีบาบายังได้แบรนดิ้งบริการจากธุรกิจในอีโคซิสเต็มทั้งหมดที่มี ผ่านการรายงานผล โดยเฉพาะช่วงการถ่ายทอดสดสลับกับการแสดงต่างๆ ในงานกาลาดินเนอร์ที่จัดขึ้นในคือวันที่ 11.11
ย้อนดูสถิติ ณ จุดเริ่มต้นเทศกาล 11.11
ทั้งนี้หากย้อนไปดูจุดเริ่มต้นของเทศกาล 11.11 ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า ในเวลาแค่ 10 ปีพัฒนามาได้ไกลแค่ไหน และแน่นอนเกินกว่าการคาดการณ์ที่ประเมินกันไว้มาก
ปี 2009 เป็นปีแรกที่อาลีบาบาเลือกหยิบวันคนโสด หรือ 11.11 มาจัดเทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์ ณ ตอนนี้ยอดขายสินค้าออนไลน์จีนเพิ่งทำยอดขายได้เพียง 52 ล้านหยวน คิดแล้วมีสัดส่วนน้อยกว่า 2% ของมูลค่าสินค้าคอนซูเมอร์ทั่วประเทศจีน
วันคู่ 11 ซึ่งแถมจะไม่เหลือเค้าวันคนโสดแล้วนี้ สะท้อนธุรกิจจีนในตลาดออนไลน์ช้อปปิ้งที่เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล เพราะวันคู่ 11 สำหรับเทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่งเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2009 วันที่อาลีบาบาบริษัทแม่ของห้างช้อปปิ้งออนไลน์ยอดนิยมของจีนเพิ่งมีรายได้เพียง 52 ล้านหยวน และออนไลน์ช้อปปิ้งเพิ่งมีสัดส่วนน้อยกว่า 2% ในตลาดสินค้าคอนซูเมอร์จีนทั้งประเทศ
ผ่านไปเพียง 5 ปี ในปี 2015 เทศกาลนี้ก็ทำให้เห็นแนวโน้มใหม่ ที่ แจ็ค หม่า ประกาศไว้ว่า “จีนจะเป็นตลาดแห่งความหวังของธุรกิจขนาดกลางและเล็กจากอเมริกา”
ทำให้ในปีนี้นั้น มี 4 ห้างสรรพสินค้าใหญ่ของอเมริกา อย่าง macy’s, Bloomingdale’s, Neiman Marcus และ Saks Fifth Avenue เข้าร่วมกับอาลีบาบา นำสินค้ากว่า 3 หมื่นแบรนด์ มากกว่า 6 แสนรายการ เข้ามานำเสนอขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ ในเทศกาล 11.11
ที่สำคัญ จากวันคนโสด หรือมหกรรมช้อปปิ้งออนไลน์โลก ที่เปลี่ยนมาเป็นมหกรรมช้อปปิ้งระดับโลก ทำให้เกิดมูลค่าการซื้อขายในช่วงเทศกาลสูงกว่าปกติถึง 18 เท่า และที่ผ่านมาล่าสุด ยังทำรายได้สูงกว่าเทศกาล Black Friday รวมทั้ง Cyber Monday และ Amazon Prime Day ของ Jeff Bezoes เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซของฝั่งอเมริกาที่ขึ้นเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลก รวมกัน 2.5 เท่า
ที่มาของ 11.11
เทศกาลคนโสดในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เรียกว่า กวงกุ่ยเจี๋ย (光棍节) กวงกุ่ย หรือการอยู่คนเดียว เจี๋ย คือ วันเทศกาล เกิดจากการนำเอาวันที่มีเลข 1 สี่ตัวในรอบปี ก็คือวันที่ 11 เดือน 11 มาเป็นตัวแทน ทำให้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Double 11 ที่แปลมาจากภาษาจีนว่า ซวงสืออี (双十一)
นักศึกษาในมหาวิทยาลัยนานกิงในยุค 90 เป็นคนที่เริ่มต้นกำหนดเทศกาลนี้ขึ้นเป็นเรื่องสนุกเพราะเลข 1 คือตัวแทนของคนคนเดียว แต่ใช้เวลาไม่นานก็ได้รับความนิยมแพร่ระบาดออกไปทั่วประเทศ พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ กลับมีคนจำนวนไม่น้อยหันมานิยมแต่งงานกันในวันนี้ รวมทั้งร้านค้าต่างๆ ก็ถือโอกาสจัดลดราคาครั้งใหญ่ในรอบปี
จนมาถึงยุคช้อปปิ้งออนไลน์ Tmall แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบาก็เลือกวันนี้มาเป็นวัดจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าสำหรับนักช้อปออนไลน์ จนพัฒนาเป็นเทศกาลที่ทำยอดขายถล่มทลายในปัจจุบัน
คนจีน ได้ตั้งฉายาใหม่ให้ว่า “วันสับมือ” (剁手日 หรือ hand-chopping day) เพราะโปรโมชั่น ส่วนลด และสินค้าที่ถูกนำมาเสนอ แทบจะทำให้นักช้อปอดใจไม่ไหวที่จะต้องเสียเงินทันทีที่เห็น
ไทยลดกระหน่ำ 11.11
ในไทยก็เช่นกัน โดยทำผ่านลาซาด้า กิจการอีคอมเมิร์ซในเครืออาลีบาบามีเครือข่ายในประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ผ่านดีลพิเศษกว่า 50 ล้านอย่าง และส่วนลด 90% ในกว่าล้านไอเท็ม ตลอดระเวลาช้อปปิ้ง 24 ชั่วโมง
โดยมีเกมล่าสุด “Wonderland” ซึ่งเป็นแผนที่แบบอินเทอร์แอคทีฟที่ทำให้ลูกค้าค้นพบดีลพิเศษและรับบัตรกำนัล ซึ่งแบรนด์ที่เข้าร่วมเกมนี้ รวมแบรนด์เช่น L’Oréal, Laneige and Huawei.
ส่วนคู่แข่งในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อย่าง shopee ไม่พลาดที่ส่งแคมเปญออกมาลุย ด้วยแคมเปญ Shopee 11.11 Big Sale ลดอลัง ปังทุกดีล เริ่มต้นที่ 11 บาท ออกมาสู้ศึกเท่านั้น
ปีนี้ บรรดาค้าปลีก เจ้าของแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่ส่งแคมเปญเข้าร่วมในวันช้อปปิ้ง 11.11 อย่าง ยูนิโคล่ ลดราคาสินค้าวันนี้เช่นกัน, วัตสัน ใช้เลข 11 มาลดราคาสินค้า 11 รายการ ล่วงหน้าตั้งแต่ 9 – 11 พฤศจิกายน 2561 และลดเพิ่มอีก 11 % อีก 2 วันหลัง
ค่ายเดอะมอลล์ก็เช่นกัน จัดแคมเปญ THE MALL SHOPPING CENTER 11:11 & BLACK SUNDAY ให้คนมาช้อปแล้วรับ M Points และบัตรกำนัลห้างฯ รวมมูลค่า 1.3 ล้านบาท เฉพาะวันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน 2561 และวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2561 ที่ เดอะมอลล์ ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ ทุกสาขา (ยกเว้นสาขารามคำแหง)
เพราะแทนที่จะปล่อยให้อาลีบาบาโกยยอดขายอยู่คนเดียว บรรดาค้าปลีกและเจ้าของแบรนด์สินค้าก็ต้องส่งแคมเปญเข้าสู้ศึกวันช้อปปิ้งที่กลายเป็นกระแสไปแล้ว.