Thanatkit
เชื่อว่า “โคเวิร์คกิ้งสเปซ” ได้เข้ามาเป็นอีกหนึ่งเทรนด์สำนักงานยุคใหม่ ที่ได้รับความสนใจจากธุรกิจสตาร์ทอัพและผู้ทำงานอิสระ รวมไปถึงบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ ที่หันมาใช้มากขึ้นด้วย
ที่ผ่านมาจึงมีโคเวิร์คกิ้งสเปซเปิดใหม่อยู่เนืองๆ ทั้งแบรนด์ไทยและต่างชาติ เช่น Glowfish, Draft Board, Meticulous Offices,Cluster Offices, Regus, Antares Office และ CEO Suite เป็นต้น
2 เหตุผลหลักที่ทำให้โคเวิร์คกิ้งสเปซในเมืองไทยเติบโต คือ
1. เมกะเทรนด์ที่ไลฟ์สไตล์การทำงานของผู้คนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไปตาม Technology และ Flexibility โดยต้องการพื้นที่ทำงานที่มีความเป็น Collaborative Workspace รวมถึงการลดต้นทุนทางธุรกิจทำให้รูปแบบการทำงานของผู้ประกอบการ และบริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลกจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยคาดว่าตลาด coworking space ในเอเชีย จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 30% ในปี 2030 จากปัจจุบันที่มีตลาดอยู่ที่ 2%
2. อัตราการเติบโตของตัวเลขเอสเอ็มอีในประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูง 8-10% ต่อปี มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยกว่า 1 ใน 6 มีธุรกิจอยู่ในกรุงเทพฯ หรือคิดเป็นกว่า 500,000 ราย โดยเอสเอ็มอีเหล่านี้ ล้วนแต่มองหาสถานที่ทำงานในทำเลที่ดี หรือ prime location แต่การเข้าถึงออฟฟิศให้เช่าเกรด A ในกรุงเทพฯ เป็นไปได้ยากและมีราคาสูง เช่นเดียวกับบริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
แต่ที่ผ่านมาโคเวิร์คกิ้งสเปซมักจะไปเปิดตามอาคารสำนักงานเกรดเอ ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งตอนนี้กำลังขาดแคลน ทำให้ “ซีพีเอ็น” หรือ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เห็นช่องว่างจากที่ตัวเองมีศูนย์การค้าอยู่ในมือ จึงสนใจที่จะทำโคเวิร์คกิ้งสเปซบ้าง
แต่ด้วยความที่ซีพีเอ็นไม่ได้มี “โนว์ฮาว” ด้านนี้มาก่อน จึงได้ตัดสินใจจับมือกับ “คอมมอน กราวด์” โคเวิร์คกิ้งสเปซสัญชาติมาเลเซีย ที่ก่อตั้งขึ้นในเดือนมีนาคมปี 2017 มีสมาชิกกว่า 1,400 คนใน 6 สาขาซึ่งอยู่ในกัวลาลัมเปอร์ และเมืองใกล้เคียง
มีรายได้เดือนละ 2 ล้านเหรียญ และมีแผนที่จะเปิดให้ครบ 15 สาขาทั่วมาเลเซียภายในปี 2018 และล่าสุดได้ขยายธุรกิจไปสู่ระดับภูมิภาคประเทศไทย และฟิลิปปินส์ ภายในปี 2020 ตั้งเป้าขยายสาขาทั้งหมด 55 สาขา
ครั้งนี้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ใช้ชื่อว่า “คอมมอน กราวด์ ไทยแลนด์” ทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท ซีพีเอ็นถือหุ้น 51%, คอมมอน กราวด์ 29% และ MSB Asia (สถาบันทางการเงินในมาเลเซีย) 20% โดยใช้ชื่อแบรนด์ ‘Common Ground’ ในการบุกครั้งนี้
สาขาแรกจะเปิดที่ “เซ็นทรัลเวิลด์” โดยเป็นรีจินัลแฟลกชิพแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยขนาดพื้นที่ถึง 4,500 ตร.ม. ใช้งบลงทุนราว 80 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดได้ต้นปีหน้า
ซีพีเอ็นเชื่อว่า การเปิดโคเวิร์คกิ้งสเปซรูปแบบใหม่นี้ จะทำให้ผู้ประกอบการหรือบริษัทใหญ่ต่างๆ สามารถลดต้นทุน เนื่องจากไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างออฟฟิศแบบถาวร ตั้งอยู่ใน Prime location ทำให้ติดต่องานและหมุนเวียนเปลี่ยนโลเคชั่นได้สะดวก อีกทั้งมีความแตกต่างจากโคเวิร์คกิ้งสเปซอื่นๆ ด้วยโลเคชั่นที่ใกล้กับศูนย์การค้า
ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
“การมี Common Ground ป็นอีกหนึ่งต่อจิ๊กซอว์ที่เข้ามาเติมเต็มมิกซ์ยูสให้สมบูรณ์มากขึ้น และต่อยอดวิสัยทัศน์การสร้าง Center of Life ศูนย์กลางการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่สำคัญยังเป็นตัวช่วยสร้างทราฟฟิกในวันธรรมดา ซึ่งปกติแล้วทราฟฟิกคนเข้าศูนย์การค้าในเครือซีพีเอ็น เฉลี่ยในวันธรรมดา 120,000 คน วันเสาร์–อาทิตย์ 150,000 คน ส่วนวันที่มีงานอีเวนต์ 170,000 คน เมื่อคนเพิ่มกำลังซื้อในห้างก็เพิ่มตามไปด้วย ในอนาคตก็คาดหวังเป็นแหล่งรายได้ใหม่และสามารถเป็นออฟฟิศให้กับเครือเซ็นทรัล”
ภายใน 5 ปีต่อจากนี้วางแผนใช้เงินกว่า 800 ล้านบาท เปิดทั้งหมด 20 สาขา โดยกว่า 10 สาขาจะตั้งอยู่บน prime location ในกรุงเทพฯ ที่อยู่ในอาคารสำนักงานที่เชื่อมต่อกับศูนย์การค้าของซีพีเอ็น หรืออาคารสำนักงานให้เช่าอื่นๆ รวมถึงสาขาในหัวเมืองสำคัญ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และพัทยา เป็นต้น
ใช้พื้นที่เฉลี่ย 2,000 – 3,000 ตารางเมตร งบลงทุนสาขาละ 40 ล้านบาท วางแผนเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ดังนั้นจึงไม่อยู่ชั้นที่สูงมาก ให้สามารถเข้าจากข้างนอกเวลาห้างปิดได้ด้วย จับกลุ่มเป้าหมายคนทำงานรุ่นใหม่ ได้แก่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มสตาร์ทอัพและฟรีแลนซ์ 80% และกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความต้องการทำงานในโคเวิร์คกิ้งสเปซ 20%
มี 2 ราคา ได้แก่ เฉพาะบุคคล 4,000 บาทต่อเดือน และมีห้องเฉพาะเริ่มต้นที่ 10,000 บาทต่อเดือนสำหรับ 4 คน แต่ละสาขารองรับคนใช้งานสูงสุดประมาณ 700 คน ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป ตั้งเป้ารายได้ปีละ 500 ล้านบาท.