Thanatkit
เมื่อประเมินแล้วว่า ธุรกิจท่องเที่ยวยังคงคึกคัก KTC จึงตัดสินใจหยิบบัตร Co-Brand บางกอกแอร์เวย์ส มาปัดฝุ่นใหม่ เพื่ออัพเกรดเข้าหาลูกค้ากระเป๋าหนัก
ข้อมูลจาก KTC ระบุว่า “หมวดการท่องเที่ยว” มีการใช้จ่ายเติบโตมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในปีนี้ ซึ่งหมวดนี้เดิม KTC มีบัตรเครดิต Co-Brand ที่จับมือกับ “บางกอกแอร์เวย์ส” อยู่แล้ว ใน 2 รูปแบบคือ เคทีซี–บางกอกแอร์เวย์ส ไทเทเนียม มาสเตอร์การ์ด และ เคทีซี–บางกอกแอร์เวย์ส วีซ่า แพลทินัม
ทั้งคู่ร่วมมือกันมานานกว่า 13 ปี แต่ยังมีฐานผู้ใช้บัตรเพียง 42,000 ราย Active ประมาณ 70% มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรประมาณ 11,000 บาท/คน/เดือน ถือว่าน้อยกว่าภาพรวมของทั้งพอร์ตที่มียอดใช้จ่ายบัตรประมาณ 12,500 บาท/คน/เดือน
เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการทำการตลาดมากมายนัก มีเพียงโปรโมโมชั่นส่วนสิทธิประโยชน์อย่างที่บัตรเครดิต Co-Brand ควรจะมีมากกว่าบัตรปกติ ก็ให้ส่วนลด 10% และแลกคะแนนสะสมไปยัง “ฟลายเออร์โบนัส” ระบบ CRM ของบางกอกแอร์เวย์สเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม บัตรนี้ยังมีความน่าสนใจอยู่ที่ผู้ถือบัตรใช้จ่ายหมวดท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 20% มากกว่าผู้ถือบัตรปรกติที่ใช้จ่ายราว 10% ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจ Refresh บัตรใหม่ โดยเติมหน้าบัตรใหม่อีก 5 ใบ ครอบคลุมทุกเครือข่ายพันธมิตร ทั้งมาสเตอร์การ์ด วีซ่าและเจซีบี พร้อมปรับดีไซน์ใหม่เพิ่มกลิ่นอายของความเป็นบูทีคเข้าไป
ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่สิทธิประโยชน์ที่เติมเข้าไปเพื่อดึงดูดฐานลูกค้าให้กลับมาสนใจบัตรเครดิต Co-Brand อีกครั้ง เช่น คะแนน KTC FOREVER สูงสุด 4 เท่า , แลกเป็นคะแนนสะสมฟลายเออร์โบนัสเพียง 1.5:1 คะแนน, สิทธิเข้าห้องรับรอง Blue Ribbon Club Lounge สูงสุด 4 ครั้ง เมื่อบินกับบางกอกแอร์เวย์ส และรับฟรีน้ำหนักกระเป๋าเดินทางเพิ่ม 10 กิโลกรัม
พิทยาวร ปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – ธุรกิจบัตรเครดิต “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่า
“การทำบัตร Co-Brand จะประสบความสำเร็จได้ ต้องอัดสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคมาสมัคร เราก็คาดหวังว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2019 จะมีบัตรใบใหม่เพิ่มอีก 30,000 ใบ Active เพิ่มเป็น 80% และยอดใช้จ่ายต่อบัตรเพิ่ม 15% ที่สำคัญยังจะช่วยให้ KTC สามารถขยายไปหากลุ่มลูกค้ากระเป๋าหนัก มีรายได้มากกว่า 50,000 บาทอีกด้วย”
สำหรับภาพรวมของธุรกิจบัตรเครดิตในปีนี้ พิทยาฉายภาพ ยังมีการแข่งขันที่รุนแรงอย่างมาก ทุกค่ายต่างทุ่มเม็ดเงินเพื่อชิงฐานลูกค้าให้เติบโต กลยุทธ์ของ KTC จะเน้นทำงานรวมกับพันธมิตร ไปที่ไหนต้องเจอ KTC อยู่ที่นั่น ขณะเดียวกันก็มองหาลู่ทางใหม่ๆ เช่น กลุ่มแท็กซี่ ร้านกาแฟต่างๆ โดยต้องการเข้ามาแข่งกับเงินสด
ปัจจุบัน KTC มีฐานบัตรเครดิตทั้งหมด 2.3 ล้านใบ ปี 2018 คาดว่าจะมีบัตรใหม่ 2.8 แสนใบ ซึ่งอาจจะต่ำกว่าเป้าที่เคยตั้งไว้ที่ 3-4 แสนใบ เนื่องจากมีการเข้มงวดในการอนุมัติยอดบัตรใหม่มากขึ้น ตอนนี้ยอดอนุมัติ (Approve) อยู่ที่ 47-48%
ด้านยอดใช้จ่ายผ่านบัตร คาดทั้งปีเติบโตราว 10% ถือว่าต่ำกว่าเป้าที่ต้องการ 15% เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา กำลังซื้อไม่ได้ดีมากนัก แม้ว่าในเดือนสิงหาคมและกันยายนจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากการอัดฉีดโปรโมชั่นก็ตาม แต่ก็คาดว่าปีหน้ายอดใช้จ่ายน่าจะกลับมาโต 15% ได้.