กำลังเป็น “โจทย์ใหญ่” ที่ท้าทายสำหรับทีวีช่องใหญ่ อย่างช่อง 7 ต้องถูกผู้ผลิตรายการรายใหญ่ตีจาก เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าเช่าเวลาได้ และโผไปหาช่องเล็กแต่ทุนหนา อย่างพีพีทีวี พร้อมอ้าแขนรับเต็มที่ เพราะถือเป็นสร้างฐานผู้ชมได้รวดเร็ว
การจากไปของ The Voice รายการประกวดร้องเพลงที่ได้รับความนิยมสูงจากช่อง 3 ไปยังพีพีทีวี เป็นเซอร์ไพรส์แรกที่เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย เพราะบอกล่วงหน้าเพียงไม่ถึง 3 เดือน ทำให้ช่อง 3 ต้องวุ่นหารายการใหม่มาลงแทน
แต่กรณีของรายการ “กิ๊ก ดู๋ สงครามเพลงเงาเสียง” ที่ย้ายไป “พีพีทีวี” นั้น ต้องเรียกว่า เป็นการย้ายที่กะทันหันมาก ชนิดที่ช่อง 7 ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่ารายการแม่เหล็กของช่องจะถูกตีจาก
จากตัวเลขเรตติ้งรายการวาไรตี้เกมโชว์ของช่อง 7 ในปีนี้ จะพบว่า รายการวาไรตี้ ที่เรตติ้งสูงสุดของช่อง 7 คือ “มาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์” ซึ่งเป็นรายการประเภท Seasonal คือมาเป็นช่วงเวลาตามฤดูกาลแข่งขัน และรายการที่มีเรตติ้งรองลงมาอีก 3 อันดับ ล้วนแต่เป็นรายการประเภท Seasonal เช่นเดียวกัน ที่ออกอากาศในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์
โดยมีรายการ “กิ๊ก ดู๋ สงครามเพลงเงาเสียง” อยู่ในอันดับ 5 แต่เป็นรายการหลักออกทุกคืนวันอังคารต่อเนื่อง และรายการวาไรตี้ที่ทำเรตติ้งสูงสุดของช่วงวันทำงาน ด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 2.995 ตามมาด้วย รายการ “ตกสิบหยิบล้าน” ที่ออกอากาศทุกช่วงเย็นก่อนละครเย็นในวันทำงาน ที่ได้เรตติ้งเฉลี่ย 2.782
การลาจากของ “กิ๊ก ดู๋ สงครามเพลงเงาเสียง” นับเป็นสถานการณ์ยากลำบาก ชนิดที่ช่อง 7 ไม่เคยเจอมาก่อน เพราะในยุคแอนะล็อกคู่แข่งมีน้อยราย ผู้ผลิตรายการส่วนใหญ่ต้องต่อคิวเข้าหา และช่อง 7 ที่เป็นฝ่ายบอกเลิกรายการเองเสียมากกว่า
แต่เมื่อเข้าสู่ทีวีดิจิทัล ภูมิทัศน์ทีวีเปลี่ยน คู่แข่งเพิ่มขึ้นทีเดียวเป็น 22 ราย แต่ต้องแย่งชิงเค้กก้อนเดิม แถมขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ จากสื่อออนไลน์ และภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ผู้ผลิตรายการต้องเผชิญความเสี่ยงจากรายได้โฆษณาที่อาจจะไม่ได้ตามเป้า ยิ่งเมื่อต้องจ่ายค่าเช่าเวลาเช่นเดิม โดยเฉพาะช่อง 7 ที่มีรูปแบบเดียว เช่าเวลา คิดเป็นเงินหลักหลายแสนบาทต่อตอน และยังมีค่าใช้จ่ายในการผลิต และหากเป็นรายการเพลง ก็ต้องเจอค่าลิขสิทธิ์เพลงที่นำมาออกในรายการอีก มีสิทธิ์ไม่คุ้มค่าการลงทุนแน่นอน
หลังจากมีกระแสข่าวออกมา ซูโม่ กิ๊ก เกียรติ กิจเจริญ ได้โพสต์แจ้งในเฟซบุ๊กว่า สาเหตุที่ย้ายจากช่อง 7 ไปพีพีทีวี เพราะค่าเช่าแพง
งานนี้ ต้องจับตาดูว่าอาจมีรายการอื่นๆ โบกมือขออำลาไปหรือไม่
ก่อนหน้านี้ มีเจ้าของรายการขนาดเล็กและกลางซึ่งมีทั้งเลิกรายการ ปิดบริษัท เช่น กรณีของบริษัท ทริปเปิ้ลทู ของซุโม่ กิ๊ก และ ติ๊ก กลิ่นสี ที่เคยผลิตรายการ “เกมพันหน้า” และ “ร้องแลกไข่”
หากอยู่ในช่วงสถานการณ์ปกติ ช่อง 7 ก็คงไม่กระทบอะไรมากนัก เพียงแค่รายการเดียวจากไป หารายการใหม่มาทดแทนได้ไม่ยาก แต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เป็นช่วงที่ยากจะหารายการใหม่เข้ามาเสริมผัง
อีกทั้ง ช่อง 7 กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ “ละครไพรม์ไทม์” เรตติ้งตกลงมาก โดยเฉพาะจาก “พ่อมดเจ้าเสน่ห์” ในช่วงวันพุธ-พฤหัส เรตติ้งต่ำสุดอยู่ที่ 2.763 ในวันลอยกระทงที่ผ่านมา ซึ่งปกติเป็นวันที่เรตติ้งตกอยู่แล้ว เพราะคนออกไปนอกบ้าน แต่ละครช่วงหลักไพรม์ไทม์ของช่อง 7 ก็ไม่เคยเจอกับสถานการณ์เรตติ้งลดต่ำกว่า 3 เช่นนี้มาก่อน
โดยรวมแล้ว ละครช่วงหลักหลัง 2 ทุ่มของช่อง 7 เรตติ้งเฉลี่ยไม่มีเรื่องใดได้เกิน 5 ละคร “นางทิพย์” ที่เพิ่งจบไปนั้น มีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 4.11 เท่านั้น
ละครที่ยังสามารถสร้างเรตติ้งให้กับช่อง 7 ในช่วงนี้ จึงกลายเป็นละครพื้นบ้าน จักรๆ วงศ์ๆ อย่าง “สังข์ทอง” และละครเย็น ที่มาช่วยฟื้นเรตติ้งของทางช่อง 7 ได้บ้าง
เปิดรายได้ ก่อนและหลังมีทีวีดิจิทัล ช่อง 7
เมื่อเรตติ้งตก ผลกระทบที่เห็นชัดคือ รายได้จากโฆษณาที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จากการสำรวจรายได้และกำไรของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์ และวิทยุ หรือช่อง 7 ตั้งแต่ช่วงก่อนและหลังทีวีดิจิทัล จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะพบว่า จากที่เคยมีรายได้ปีละกว่า 1 หมื่นล้าน กำไรมากกว่า 5 พันล้านในปี 2556
หลังเกิดทีวีดิจิทัล รายได้ของช่อง 7 ในปี 2560 ลดลงเกือบครึ่ง เหลือเพียงรายได้รวม 5,723.92 ล้านบาท ส่วนกำไรลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง มาอยู่ที่ 1,516.86 ล้านบาท แม้มีตัวเลขผลประกอบการตกลง แต่ช่อง 7 ก็เป็นช่องที่มีกำไรสูงสุดของปีที่แล้วในกลุ่มทีวีดิจิทัลทั้งหมด
เมื่อดูจากสภาพการแข่งขันเดือด และเรตติ้งเฉลี่ยของช่องในปีนี้แล้ว มีแนวโน้มว่ารายได้และกำไรอาจจะต้องลดลงอีกอย่างต่อเนื่อง
โจทย์ใหญ่ของฝ่ายบริหารช่อง 7 ในขณะนี้คือ ต้องเร่งปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการผลิตละคร พร้อมทั้งเฟ้นรายการคุณภาพมาลงผังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้การจะอนุมัติผลิตละครแต่ละเรื่อง ก็ยากมากขึ้นอยู่แล้ว
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของวงการทีวี ต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงในช่อง 7 กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้.