ปรากฏการณ์…ทวิตเตอร์

ข้อความสั้นไม่เกิน 140 ตัวอักษร เจ้าของคำถามว่า “คุณกำลังทำอะไรอะไรอยู่” ของทวิตเตอร์ ที่ผู้คนทั่วโลกรวมถึงไทยได้ใช้โต้ตอบกัน และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เฉพาะสหรัฐอเมริกาประเทศมีผู้ใช้ถึง 6 ล้านราย และคาดว่าปี 2553 จะมีถึง 18.1 ล้านคน หรือประมาณ 10% ของผู้ใหญ่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด

“เสาวณีย์ นพปราชญ์” วางแผนกลยุทธ์และงานวิจัย บริษัทโลว์ เอเยนซี่โฆษณา ต้องติดตามเทรนด์ใหม่ๆ จึงต้องเข้าร่วมวง Twitterverse (Twitter universe) เพื่อค้นหาสาเหตุว่าอะไรที่ทำให้ Twitter กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ในโลกออนไลน์

หากมองในแง่ของสื่อสารออนไลน์บนอินเทอร์เน็ต แทบไม่น่าเชื่อว่า การส่งข้อความสั้นเพียงแค่ 140 ตัวอักษรของทวิตเตอร์ จะตอบสนองการสื่อสารได้ทุกรูปแบบ ทั้งแบบ One-to-one และ One-to-many หรือแม้แต่ Many-to-one และ Many-to-many ซึ่งเป็นสื่อสารตอบโต้ที่เปิดกว้างต่อสาธารณะ

ลักษณะการใช้งานของทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นการส่งข้อความสั้นๆ (Micro-blogging) ที่ใช้ตอบคำถามว่า “คุณกำลังทำอะไรอยู่? โดยผู้เล่นหรือที่เรียกกันว่า Twitterers หรือ Twitter Users จะพิมพ์ตอบเป็นข้อความได้ไม่เกิน 140 ตัวอักษร เพื่อบรรยายความเป็นไปในชีวิต

Twitterers สามารถเลือกตามผู้เล่นอื่นๆ ขณะเดียวกัน ผู้เล่นอื่นๆ ก็สามารถตามคุณได้เช่นกัน เมื่อสมัครเข้าร่วมสังคม Twitter แล้ว ผู้เล่นมักจะตามคนที่รู้จักเป็นการส่วนตัวก่อน แล้วค่อยขยายวงออกไปตามคนที่มีชื่อเสียง ตั้งแต่ศิลปินดาราไปจนถึงนักการเมือง และโดยมากผู้เล่นจะอัพเดตผ่านโทรศัพท์มือถือกัน

เจาะลึกพฤติกรรม “ติดทวิตเตอร์”

ทีมวางแผนกลยุทธ์และงานวิจัยบริษัทโลว์ได้ถอดรหัสว่า อะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกหลงใหลข้อความสั้นแบบ Twitter โดยยึดหลักทฤษฎีจิตวิทยามาใช้

ข้อแรก – เชื่อมความสัมพันธ์ในสังคม เว็บไซต์ psychologytoday.com และ theinnovationdiaries.com ได้อธิบายถึงพฤติกรรมใน Twitter เติมเต็มความต้องการพื้นฐานของร่างกาย ด้านสังคม และจิตใจ โดยอ้างอิงจาก “The Hierarchy of Needs” ของ Abraham Maslow และเรียกใหม่ว่า “The Hierarchy of Tweets”

ระดับที่ 1 ตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิต

หากมองในโลกของ Twitter ระยะนี้จะเกี่ยวกับการที่เราต้องการให้คนอื่นๆ รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่อย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังตามเพื่อนของคุณ บน Twitter อยู่ Tweets จากเพื่อนที่คุณจะได้อ่าน จะมีเนื้อหาประมาณตัวอย่างด้านล่าง นั่นคือ กริยาทั่วๆ ไป เช่น กินข้าวอยู่ เดินทางอยู่ หรือกำลังมุ่งหน้าไปที่ไหน เป็นต้น

หากพูดกันแบบไทยๆ เราจะได้เห็นข้อความโต้ตอบแบบสนุกสนานเฮฮา ที่ส่งถึงกันเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ ชวนกันทำโน่นทำนี่ หรือหรือแม้แต่แสดงความเห็นอกเห็นใจกัน

ระดับที่ 2 : ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย

ผู้เล่น Twitter ทำให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ด้วยการติดตามข่าวสารในโลกกว้าง จะเห็นได้ว่ามี Tweets หรืออัพเดตจำนวนมากที่เป็นข้อมูลความรู้ ส่งต่อกันใน Twitter จากคนหนึ่งไปสู่คนอีกมากมาย เพื่อที่จะได้รับรู้ตลอดเวลาว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น เช่น ขณะที่คุณกำลังเดินทางไปออฟฟิศในตอนเช้า แต่เพื่อนร่วมงานที่ไปถึงก่อนได้ Tweet ว่า “อย่าเพิ่งมา ออฟฟิศไฟดับ” คุณก็สามารถไปที่อื่นก่อน จนกว่าทางออฟฟิศจะแก้ไขเรื่องไฟดับได้

ในแง่อารมณ์ ความรู้สึกปลอดภัยอาจมาจากความรู้สึกที่ว่าตนเองเป็นที่ชื่นชอบหรือเป็นที่นิยม โดยวัดได้จากจำนวนผู้ตาม Twitter ของตนเอง

ระดับที่ 3 : ความต้องการความรัก

ผู้เล่น Twitter สามารถส่งข้อความกันตัวต่อตัวได้โดยพิมพ์ @ชื่อเพื่อน เพื่อให้ผู้เล่นมีบทสนทนาที่เชื่อมโยงถึงกันและกันได้ หรือเป็นการเติมเต็ม “ความต้องการทางด้านสังคม” ตอบโจทย์ความต้องการในการเชื่อมสัมพันธ์ของมนุษย์

พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณส่งอัพเดตให้ใครคนหนึ่งโดยเฉพาะ มันจะกลายเป็นบทสนทนาส่วนตัว ซึ่งใน Twitter คุณทำได้ด้วยการพิมพ์ @ หน้าชื่อเพื่อนของคุณ เหมือนกับตัวอย่างด้านล่างนี้ หากคุณตามอ่านบทสนทนาทั้งหมด คุณอาจได้เห็นเป็นเรื่องเป็นราวเลยก็ได้ เช่น เรื่องของสาวน้อยที่เพิ่งเลิกกับแฟนแล้วมีแก๊งเพื่อนๆ คอยให้กำลังใจกันอยู่

ระดับที่ 4 : ความต้องการที่จะรู้สึกว่าตนเองมีค่า (Self Esteem Needs)

เรื่องราวส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับอีโก้ (Ego) คือการได้รับการยอมรับและรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ในช่วงแรกๆ ของ Twitter จำนวนผู้ตามจะเป็น “ตัวชี้วัด” ความเป็นที่นิยมของคนคนหนึ่ง

แต่เมื่อกระแส Twitter ร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนการ ReTweets (การก๊อบปี้และส่งต่อ Tweet หรืออัพเดตของคนคนหนึ่ง – คล้ายการ Forward email) กลับเป็นตัว “ตัวชี้วัด” ความเป็นที่นิยมที่มีบทบาทมากกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วก็เหมือนการเสริมอีโก้ หรือการโปรโมตตัวเองนั่นเอง

ตัวอย่างที่ดีที่สุด คือ กรณีของ Janis Krums ที่ส่ง Tweet ถึงเพื่อนๆ ว่า “มีเครื่องบินอยู่ในอ่าวฮัดสัน ผมกำลังขึ้นเฟอร์รี่ไปช่วยคน นี่มันบ้าชัดๆ” ช่างทันอกทันใจซะจริงๆ Tweet นี้ Krums ได้ส่งตอนที่เครื่องบินของ US Airways เที่ยวบินที่ 1549 ร่อนลงจอดฉุกเฉินในอ่าวฮัดสัน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และถ้าหากเราเข้าไปเยี่ยมชม Twitter ของเขา เราจะเห็นเขาเขียนบรรยายตัวเองไว้ว่า “ชายผู้ถ่ายภาพปาฏิหาริย์ในอ่าวฮัดสัน”

ระดับที่ 5 : ความต้องการที่จะรู้จักตนเองตามสภาพ

Maslow อธิบายระยะนี้ว่าเป็นการตระหนักถึงความสามารถขีดสุดของตนเอง แทบไม่อยากเชื่อว่าเรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นได้บน Twitter โดยจะเกิดขึ้นเมื่อผู้เล่นได้มาถึงระยะที่จะอ้างอิงข้อมูลจากตัวเอง การส่ง Tweet กลายเป็นเรื่องที่มากไปกว่าการโชว์ความทันโลกทันสมัย แต่หากทำไปเพื่อช่วยให้ผู้อื่นใช้ทวิตเตอร์ได้ดีขึ้น