Twitter ฝากรักการเมือง

สงครามชิงพื้นที่สื่อออนไลน์ของ 2 ขั้วการเมืองไทย ระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร และกลุ่มเสื้อแดง กลายเป็นตัวช่วยชั้นดีให้ Twitter โด่งดังเป็นที่รู้จักชั่วข้ามคืน
ถ้าเป็นภาษาการตลาด ก็ต้องเรียกว่า Tipping Point ที่ทำให้ทวิตเตอร์ดังเป็นพลุแตก

จากการที่มีผู้เล่นทวิตเตอร์ราว 5 พันกว่าคน เพิ่มเป็น 2.5 หมื่นคน เพิ่มขึ้นรวดเดียวห้าเท่า หลังจากที่ทั้งสองฟาก นายกฯอภิสิทธิ์ และทักษิณ ต่างเปิดฉากข้อความถึงกันและกัน ในช่วงวันเกิดของนายกฯอภิสิทธิ์

ทำนองเดียวกันก็เป็นจุดเปลี่ยนของการใช้ สื่อ Social Network เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ก็ชัดเจนมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

จากนั้นศึกแย่งชิงยอดผู้ติดตามอ่าน หรือ Follower ของทั้งสอง ก็มีขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอดีตนายกฯทักษิณมีอยู่เกือบ 1.7 หมื่นคน ส่วนนายกฯอภิสิทธิ์มีอยู่ 1.2 หมื่นคน แต่เป้าหมายเหนือกว่านั้นของทั้งขั้วทักษิณและขั้วประชาธิปัตย์ไปไกลกว่าการแข่งจำนวน Follower แล้ว แต่เป็นการช่วงชิงพื้นที่สื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวีได้อีกทางหนึ่ง หรือแม้แต่การสร้างกิจกรรมทางการเมือง

เพราะข้อความที่ทั้งสองสื่อถึงผู้ตามอ่านและส่งโต้ตอบกันนั้น นอกจากใช้สื่อสารกับกลุ่มแฟนคลับ หรือเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ติดตามอ่านได้โดยตรงแล้ว ยังถูกนำไปเป็นข่าวทีวี หนังสือพิมพ์ และวิทยุ รวมถึงเว็บข่าวต่างๆ แทบทุกวัน เป็นประเด็นให้คอการเมืองและนักเล่นเน็ตไทยนับล้านได้ติดตามทุกวัน ดึงให้คนไทยหน้าใหม่ๆ เข้ามาลองใช้ทวิตเตอร์ และพูดถึงทวิตเตอร์กันอย่างกว้างขวางเพื่อติดตามสงครามข้อความสั้นออนไลน์รอบนี้

การใช้ทวิตเตอร์เพื่อตอบโจทย์งานการเมืองนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ และยิ่งเมื่อต้องใช้ไปพร้อมกับการเป็นกระบอกเสียงและเครื่องมือสื่อสารของรัฐบาล ในการจะพูดคุยโดยตรงแบบสองทาง Interactive กับประชาชนนั้นยิ่งซับซ้อนขึ้นอีก