ช่อง 3 แจง เน้นเลิกจ้างวัยเกษียณ วงในชี้อาจถึง 300 คน หวังลดต้นทุน เตรียมปรับองค์กรรับการแข่งขัน

ในที่สุด ช่อง 3 ต้องเลือกใช้วิธี “เลิกจ้าง”พนักงานครั้งใหญ่ที่สุด แบบที่ไม่เคยทำก่อน เพื่อรับมือสภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงภาวะการแข่งขันที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น จนมีกระแสข่าวว่าช่อง 3 ต้องเลิกจ้างพนักงานออกเป็นจำนวนมาก

ช่อง 3 ชี้แจงว่า เป็นการเลิกจ้างพนักงานวัยเกษียณ และยังไม่กำหนดจำนวนชัดเจน 

1. ในช่วงที่ผ่านมาไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยพิจารณาถึงจำนวนพนักงานและการตอบแทนพนักงานหลังเกษียณอายุ

เนื่องจากไทยทีวีสีช่อง 3 มีจำนวนพนักงานจำนวนหนึ่งที่อายุเกินกว่า 60 ปี ดังนั้นโครงการเกษียณอายุ จึงถือเป็นทางเลือกให้กับพนักงานกลุ่มนี้ ซึ่งมีจำนวนผลตอบแทนที่มอบให้ในโครงการเกษียณก็สูงกว่าสิ่งที่กฏหมายแรงงานได้กำหนดไว้ พร้อมทั้งยังมีการมอบประกันสุขภาพให้พนักงานที่เข้าโครงการต่อไป เพื่อให้พนักงานยังสามารถมีประกันสุขภาพดูแลตนเองต่อไปแม้จะเกษียณอายุไปแล้ว

2. กรณีที่พนักงานรับเงินตามโครงสร้างการเกษียณแล้ว แต่บริษัทยังเล็งเห็นศักยภาพว่ายังสามารถปฏิบัติภารกิจในตำแหน่งงานนั้นได้ต่อไปอย่างเต็มที่ พนักงานผู้นั้นก็จะได้รับการว่าจ้างต่อไปตามความเหมาะสม

3. ตามที่มีกระแสข่าวออกมาว่า ทางไทยทีวีสีช่อง 3 มีการปลดพนักงานกว่า 80 คนนั้นคลาดเคลื่อนจากความเป็นความจริง เพราะขณะนี้บริษัทยังอยู่ในการพิจารณาอัตรากำลังที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของทีวีดิจิทัล ซึ่งยังไม่ได้มีเป้าหมายหรือตัวเลขที่ชัดเจนแต่อย่างใด

4. อีกทั้งกรณีที่มีการเสนอข่าวว่า มีการปลดพนักงานอายุระหว่าง 40-55 ปีนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะที่จริงแล้วพนักงานในวัยนี้ถือเป็นกำลังสำคัญต่อการผลิตผลงานคุณภาพของไทยทีวีสีช่อง 3

ช่อง 3 ระบุด้วยว่า โครงการนี้ทำเพื่อปรับองค์กรให้เข้ากับสภาวะตลาด และเพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสเลือกแผนในการดำเนินชีวิตของเขาต่อไป

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากกลุ่มช่อง 3 เปิดเผยว่า เป้าหมายหลักของการปรับลดในครั้งนี้ มี 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มพนักงานที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มพนักงานทั่วไป โดยมอบหมายให้หัวหน้างานแต่ละแผนกเป็นผู้เสนอชื่อมา ซึ่งเบื้องต้นมีกระแสข่าวว่าตั้งเป้าไว้ประมาณ 300 คน

สำหรับกลุ่มแรก พนักงานอาวุโส อายุเกิน 60 ปีนั้น เป็นผลสะสมมาตั้งแต่เริ่มต้นช่อง 3 ไม่มีเคยมีนโยบายเกษียณอายุพนักงาน แต่มาเปลี่ยนแปลงนโยบายในภายหลัง ที่ระบุว่า พนักงานที่เข้าหลังปี 2545 ให้เกษียณอายุเมื่อครบ 55 ปี

ในกลุ่มช่อง 3 จึงเต็มไปด้วยพนักงานอาวุโส ประมาณ 300-400 คน ที่หลายคนแม้อายุมาก ยังคงขยันขันแข็งมาทำงานทุกวัน แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องลดต้นทุน จึงต้องยื่นเงื่อนไขจำใจจาก ด้วยข้อเสนอผลตอบแทนที่สูงกว่าพนักงานปกติ โดยที่มีรายงานว่าบางรายอาจสูงถึง 20 เดือน

ส่วนกลุ่มที่ 2 คือเป็นการประเมินผลงานพนักงาน โดยหัวหน้างาน ซึ่งพบว่า ฝ่ายข่าวเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเป็นแผนกที่มีพนักงานมากที่สุด กลุ่มนี้จะได้รับค่าตอบแทนมากกว่า 10 เดือน

จากข้อมูลรายงานประจำปี 2560 ของบีอีซี เวิลด์ พบว่า ในสิ้นปี 2560 กลุ่มช่อง 3 มีพนักงานรวมทั้งหมดถึง 2,583 คน  ส่วนใหญ่ 1,679 คน อยู่ที่สายธุรกิจสื่อโทรทัศน์ และสื่อโฆษณา ซึ่งรวมถึงฝ่ายข่าว ที่มีการตั้ง สำนักข่าว BEC News แยกทีมบรรณาธิการข่าวของแต่ละช่องอย่างชัดเจน ฝ่ายข่าวมีพนักงานรวมกันทั้งหมดประมาณ 600 คน เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของช่อง

การประกาศลดพนักงานครั้งนี้ นอกจากคนวัยเกษียณแล้วยังมุ่งเป้าไปที่กลุ่มฝ่ายข่าวอย่างชัดเจน เนื่องจากมีต้นทุนสูง งานซ้ำซ้อน จนต้องหามาตรการรัดเข็มขัดที่หลากหลาย

เมื่อประมาณเดือนเมษายนปีนี้ กลุ่มช่อง 3 ก็เคยประกาศนโยบายสมัครใจลาออกไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนั้นตั้งเป้าไว้ 100 คน แต่กลับไม่ได้ตามเป้า คนที่ออกไปบางคนกลับเป็นกำลังสำคัญของช่อง ฝ่ายบริหาร เริ่มกลับมาทบทวนนโยบายอีกครั้ง ทำให้การลดคนจึงใช้วิธีพิจารณาจากผลงานแทน

ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารช่อง 3 ได้ใช้มาตรการลดค่าใช้จ่ายทุกแผนก ทั้งสายงานผลิต เช่น เข้มงวดเรื่องค่าใช้จ่าย งบประมาณ โดยที่การอนุมัติละครแต่ละเรื่องยากมากขึ้น นอกจากต้องดูเรื่องบท นักแสดงแล้ว ยังต้องจัดทำงบประมาณอย่างละเอียดด้วย

นอกจากนี้ยังได้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมค่าใช้จ่ายและการหารายได้ ซึ่งก็พบว่าปัญหาใหญ่อีกประการคือ การขายโฆษณาที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แม้กระทั่งช่วงที่ช่องมีเรตติ้งดี จากละคร “บุพเพสันนิวาส” แต่รายได้กลับไม่ได้สูงตาม

เมื่อดูจากผลประกอบการจะเห็นว่า รายได้จากค่าโฆษณาช่อง 3 ลดลงเรื่อยๆ สาเหตุหลักมาจากสภาพการแข่งขันของวงการทีวีดิจิทัล ที่มีถึง 23 ช่อง ต้องห้ำหั่นแย่งชิงเรตติ้งคนดู และโฆษณา ในขณะที่ช่อง 3 ต้องแบกรับต้นทุนจากการมีทีวีดิจิทัลถึง 3 ช่องในมือ แต่การหารายได้กลับยากขึ้น จนทำให้ผลประกอบการช่อง 3 ลดลงเรื่อยๆ

รายได้ช่อง 3 ลดต่อเนื่อง

เมื่อดูรายได้ของช่อง 3 หรือ บีอีซี เวิลด์ ซึ่งมีรายได้หลักมาจากค่าโฆษณา จะพบว่า ลดลงต่อเนื่อง

เห็นได้ชัดว่า ผ่านมา 4 ปี กำไรของช่อง 3 หรือ บีอีซี เวิลด์ ลดลงจาก 4,414 ล้านบาท เหลือเพียงแค่ 61 ล้านบาท

ส่วนไตรมาส 3/2561 พบว่ายอดขายโฆษณา 2,255.8 ล้านบาท ลดลง 11.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ไตรมาสนี้ บีอีซี เวิลด์ กลับมีผลประกอบการกำไร 78.3 ล้านบาท นับเป็นการฟื้นกลับมาทำกำไรได้เป็นครั้งแรกในปีนี้ ด้วยการลดต้นทุน หลังจากขาดทุนต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดกัน

บีอีซี ชี้แจงว่า เป็นเพราะต้นทุนขายและต้นทุนการให้บริการลดลง 12.7% จากไตรมาสที่ 3/2560 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดต้นทุน ทั้งจากการจัดวางละครรีรัน และไม่มีต้นทุนการถ่ายทอดกีฬา รวมถึงต้นทุนพนักงาน จากผลพวงจากนโยบายสมัครใจลาออกเมื่อกลางปีที่ผ่านมาด้วย

ค่าใช้จ่ายรวมของบีอีซี ในไตรมาสที่ 3/2561 อยู่ที่ 2,167.3 ล้านบาท ลดลง 6.8% จากไตรมาสที่ 3 /2560

นอกจากการลดพนักงาน เพื่อลดต้นทุนแล้ว เวลาผู้บริหารระดับ กลุ่มผู้บริหารระดับสูง หรือ C Level มีทั้งหมด 13 คน ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ตามนโยบายที่ต้องการหามืออาชีพจากภายนอกมาช่วยหาทางออกใหม่ๆ ในการหารายได้ให้ช่อง 3  ได้ทยอยลาออกแล้ว 4 คน

 โดยหลังจากเคลียร์เรื่องพนักงานออกในงวดนี้แล้ว กลุ่มช่อง 3 ก็จะมีการเขย่าโครงสร้างองค์กรใหม่อีกครั้ง

แต่จะเป็นรูปแบบไหน ใครจะอยู่ใครจะไป ต้องดูพลังอำนาจภายใน จากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่จากตระกูล “มาลีนนท์” นั่นเอง.