11 ธันวาคม 2561 เป็น “วันประวัติศาสตร์” ของประเทศไทยที่ประกาศเปิดซองราคาประมูล “ไฮสปีดเทรน” เป็นครั้งแรก
ท่ามกลางบรรยากาศที่ทุกคนลุ้นกันสุดตัวด้วยใจจดจ่อตั้งแต่ช่วงสายถึงเย็นวันนี้
ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดูขลังและคึกคักขึ้น เมื่อ “2 ทายาทเจ้าสัว” มาเอง
โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) นำทีมผู้บริหารและทีมงานหอบกล่องเอกสารมาเสนอในช่วงบ่าย ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
ขณะที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) นายกวิน กาญจนพาสน์ ซีอีโอ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS Group มาพร้อมกับนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้ง “มืออาชีพคู่กาย“ สมัยรุ่นพ่อ
จนกระทั่งเวลา 16.00 น. มีแนวโน้มว่า “วันนี้คงยังไม่ทราบผลราคา” ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหมือนการรถไฟฯ “ซื้อเวลา“
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า หลังเอกชน 2 กลุ่มยื่นซองประมูลแล้ว กลางเดือนธันวาคมถึงจะสรุปได้ว่า “กลุ่มใดเป็นผู้ชนะ”
“จากนั้นจะเจรจาต่อรองราคา หาข้อยุติทั้งหมดในปลายเดือนมกราคมปีหน้า ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติและลงนามสัญญา“
อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าววงในระบุว่า ที่ผ่านมาโครงการนี้มีการตีตราจองกันไว้แล้วที่จะให้ “เจ้าสัวใหญ่” เป็นหัวขบวน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและผลักดันให้โครงการเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนและเครดิตสูงมาก
“พันธมิตรธุรกิจ” ทั้งในและต่างประเทศจึงมีส่วนสำคัญ เพราะเป็นจุดตายของการบริหารต้นทุนทั้งงานก่อสร้างและระบบ
BSR Joint Venture มี BTS เป็นแม่ทัพ ตามด้วย บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) บมจ.ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)
อีกกลุ่มมี “ซีพี“ เป็นหัวขบวน ร่วมกับพันธมิตรที่แข็งแกร่ง China Railway Construction Corporation Limited, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บมจ. ช.การช่าง, Japan Overseas Infrastruc– ture Investment Corporation for Trans– port & Urban Development (ญี่ปุ่น), CITIC Group Corporation (จีน), China Resources (Holdings), Siemen (เยอรมนี), Hyundai (เกาหลีใต้), Ferrovie dello Stato Italiane (อิตาลี), CRRC-Sifang (จีน) และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JBIC (ญี่ปุ่น)
ผู้ชนะจะได้สัมปทาน 50 ปี โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–ระยอง ทั้งงานก่อสร้างและพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ วงเงิน 224,544.36 ล้านบาท ตามแผนเร่งรัดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์
ซึ่งใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ระยะทาง 220 กิโลเมตร ความเร็ว 160-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เช่น จากกรุงเทพฯ–ระยอง จะใช้เวลา 45 นาที ค่าโดยสารแรกเข้า 80 บาท หรือรวมๆ 500 บาท.