“ซุปเปอร์ริช สีส้ม” เร่งสร้างจุดต่าง ปั้นบัตรแลกเงินพรีเพด Visit Thailand Card หวังแก้ปัญหาลูกค้าแยกแบรนด์ไม่ออก

ในเมื่อธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงิน มีผู้เล่นมากหน้าหลายตา อีกทั้งยังมีคู่แข่งที่ใช้ชื่อแบรนด์เดียวกัน ต่างเพียงแค่สี แถมเรทยังใกล้เคียงหรือเท่ากันอีกต่างหาก ยิ่งทำให้ “ซุปเปอร์ริช สีส้ม” ต้องคิดต่างในทุกๆ ด้าน ล่าสุดสบช่องนโยบาย Cashless Society เปิดตัว Visit Thailand Cardตอบโจทย์นักท่องเที่ยวในทุกด้านทั้งความสะดวก ปลอดภัย  และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ



ปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซุปเปอร์ริช เคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1995) จำกัด ให้รายละเอียดว่า
“ความจริงแล้วตอนแรกเราตั้งใจที่อยากจับมือกับธนาคารพาณิชย์ แต่เขามองว่าเราเป็นคู่แข่ง ก็ไม่เป็นไร เลยตัดสินใจทำเอง โดยร่วมมือกับทูซีทูพี ผู้ให้บริการเพย์เมนท์ เกตเวย์ และมาสเตอร์การ์ด สถาบันด้านระบบการเงินที่มีเครือข่ายทั่วโลกเป็นพันธมิตร  เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ  สามารถเที่ยวได้สบายใจ โดยไม่ต้องพกเงินสด แถมมั่นใจว่าจะไม่เจอกับแบงค์ปลอมแน่นอน ขณะเดียวกันก็ทำให้การจับจ่ายเป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องเศษเหรียญ ที่มักลงเอยด้วยการไม่ได้ใช้งาน ตลอดจนมูลค่าธนบัตรต่าง ๆ ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ เนื่องจากเงินบาทไทย ไม่ใช่สกุลเงินหลักของโลก”

“นอกจากนี้ยังควบคุมงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวได้อีกด้วย ที่สำคัญอีกประการคือ หากใช้เงินสด เมื่อเงินหล่นหาย หรือถูกขโมยก็หายไปเลย แต่บัตรนี้สามารถปิดใช้บริการได้ เงินก็ยังคงอยู่ เพียงแต่ต้องไปแสดงตนและหลักฐานเพื่อออกบัตรใหม่”

นอกเหนือจากความสะดวกสบาย ความปลอดภัยแล้ว Visit Thailand Card ยังมอบสิทธิประโยชน์จากพันธมิตรต่างๆ ของซุปเปอร์ริช ซึ่งล้วนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรม และสินค้าที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบกว่า 20 ราย  อาทิ สนามมวยเวทีราชดำเนิน, สยามนิรมิต, ทิฟฟ่านี่ โชว์, สามพราน ริเวอร์ไซด์, โอเอซิส สปา,  เรือเจ้าพระยาปริ้นเซส, สวนน้ำการ์ตูน เน็ตเวิร์ค, มาร์เวล เอ็กซ์พีเรียน, คิง เพาเวอร์, บิวตี้ บุฟเฟ่ต์, บิวตี้ คอทเทจ และบิวตี้ มาร์เก็ต เป็นต้น รวมถึงการเปิดตลาดการใช้งานบัตรมาสเตอร์การ์ดในกลุ่มใหม่ๆ  ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่นที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะทำบัตรเครดิต

นอกจากนี้ยังพบว่าพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนมาก เมื่อออกจาก ตม. แล้ว จะมี 2 สิ่งแรก ที่ทำคือ แลกเงิน และซื้อซิมโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นเมื่อซื้อบัตรนี้จะได้รับซิมเติมเงินจากเพนกวินซิมที่เปิดใช้อินเตอร์เน็ตฟรี 1 วัน 



Visit Thailand Card สามารถใช้ได้ในร้านค้ามากกว่า 7 แสนแห่งทั่วไทยที่รับบัตรมาสเตอร์การ์ด รวมถึงใช้ช้อปปิ้งในอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ ส่วนแอปพลิเคชั่น ในเบื้องต้นจะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ดูรายการที่ซื้อทั้งหมดที่เกิดขึ้นย้อนหลัง รวมถึงยอดเงินคงเหลือ และเติมเงินในซิมโทรศัพท์มือถือ ที่สำคัญยังมีฟีเจอร์เด่นคือการเปิด-ปิด การใช้งานบัตรนี้ได้ ทำให้มั่นใจว่าต่อให้บัตรหายหรือโดนขโมยไปก็ไม่มีทางใช้งานได้

ทั้งนี้เพื่อแลกกับข้อดีและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่กล่าวมา นักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงคนไทยที่ต้องการใช้บัตรนี้ ต้องเสียค่าสมัคร 150 บาท ค่าธรรมเนียม 100 บาทต่อปี  แลกเงินและเติมเข้าบัตรได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 300,000 บาทต่อเดือน

Visit Thailand Card ออกแบบมาให้สมัครใช้งานง่าย เพียงแค่ใช้บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง  และมีอายุการใช้งาน 3 ปี  ในเบื้องต้นเปิดให้แลกเงินหรือเติมสกุลเงินบาทลงในบัตรนี้ ได้ที่ซุปเปอร์ริช  4 สาขาหลักก่อน ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ราชประสงค์, เซ็นทรัลเวิลด์ และสีลม โดยคาดว่าภายในปี 2019 จะแลกได้ทั้งหมด 49 สาขา และนอกเหนือจากการใช้งานภายในประเทศ   กลางปี 2019 นี้ คาดว่าจะสามารถนำบัตรนี้ไปใช้ในต่างประเทศได้ ซึ่งมีร้านค้าที่รองรับมาสเตอร์การ์ดกว่า 40 ร้านค้าทั่วโลก

แม้จะแตกต่างกันด้วยสี แต่ชื่อแบรนด์เดียวกันกับ ซุปเปอร์ริช สีเขียว ของบริษัท ซุปเปอร์ริช (ไทยแลนด์) จำกัด ก็ยังทำให้ผู้บริโภคสับสนอยู่ดี แต่ซุปเปอร์ริช สีส้ม มีกลยุทธ์ที่จะช่วงชิงความได้เปรียบ และสร้างความโดดเด่นเหนือคู่แข่งที่ไม่ใช่แบรนด์ชื่อเดียวกันนี้เท่านั้น หากแต่รวมถึงผู้เล่นรายอื่นๆ ที่มีอยู่ประมาณ 2,000 รายทั่วประเทศด้วย

ดังนั้นหัวหอกทะลวงฟันที่จะนำพาซุปเปอร์ริชให้ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องได้แก่ การบริการ, สาขาที่ครอบคลุมตาม Strategic Location ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยว รวมถึงในสถานีบีทีเอสบางแห่ง กอปรกับความน่าเชื่อถือ และชื่อเสียงที่สั่งสมมาอย่างยาวนานของแบรนด์ที่ปักหมุดทำธุรกิจมานานกว่า 53 ปี ตลอดจนนวัตกรรมด้านการชำระเงินใหม่ ๆ อย่าง Visit Thailand Card

“ผมไม่เคยแข่งเรทกับใคร แต่ผมมั่นใจว่าเรทของเราไม่ขี้เหร่ สิ่งที่เราทำมาตลอดคือเน้นการบริการและมอบความสะดวกสบายให้กับลูกค้าเพื่อสร้างความแตกต่าง ซึ่งบัตรนี้ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ โดยเราคาดว่าบัตรล็อตแรกจำนวน 50,000 ใบ จะจำหน่ายหมดภายใน 3 เดือน และตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปี 2019 จะมีสัดส่วนยอดซื้อขายเงินต่างประเทศผ่านบัตรนี้ 50% จากช่วงเริ่มต้นที่คาดว่าจะมีสัดส่วน 5-10% หรือคิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท จากยอดซื้อขายทั้งหมด 100,000 กว่าล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม หัวเรือใหญ่ซุปเปอร์ริช เคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในอนาคตอาจจะไม่มีการขยายสาขาเพิ่มเติม แต่สาขาที่มีอยู่ก็จะไม่ปิดตัว เพราะมีประโยชน์ในการแง่ของการเป็นช่องทางสร้าง Brand Visibility และ Brand Credibility ซึ่งใช้เม็ดเงินพอ ๆ กับการโฆษณา

ซุปเปอร์ริชนับเป็นรายแรกในไทยที่ออกบัตรพรีเพด มาสเตอร์การ์ด ที่ไม่ใช่ธนาคาร แต่สำหรับในธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มีหลายรายออกบัตรพรีเพดที่แลกเงินและเติมเข้าบัตรมาก่อนหน้าแล้ว เช่น Travelex ที่มี Travelex Money Card ซึ่งร่วมมือกับมาสเตอร์การด์ และมอบสิทธิประโยชน์อื่นๆ เกี่ยวเนื่องกับการเดินทางท่องเที่ยวเช่นกัน ที่เด่นๆ คือ ทุกครั้งที่แลกเงินจะได้รับไมล์สะสมของยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เป็นต้น

ทั้งนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าจะตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทยในปี 2018 นี้  38 ล้านคน และมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปราว 50,000 บาท โดย 4 ค่าใช้จ่ายหลัก ได้แก่ รับประทานอาหาร, ของที่ระลึก, สินค้าแฟชั่น และบริการสปา