ภาพจาก : https://web.facebook.com/MilkLandTH
ได้เวลาที่ “นมวัวแดง” หรือชื่อตราสินค้าอย่างเป็นทางการ “ไทย–เดนมาร์ค” แบรนด์นมพร้อมดื่มเก่าแก่ของไทย อยู่ในตลาดมานานกว่า 56 ปี ขอลุกขึ้นมาปั้นร้านขายนมภายใต้ชื่อ “Milk Land” หวังเทียบชั้น “อเมซอน” ที่สามารถขยายสาขาไปทั่วประเทศ
“Milk Land” มีที่มาจากการที่ “ไทย–เดนมาร์ค” อยากมีสถานที่รับรองสำหรับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมโรงงานหลักที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี รวมไปถึงไว้เป็นสถานที่ทดสอบสินค้าใหม่ๆ ก่อนนำออกสู่ตลาดจริง โดยเปิดแห่งแรกเมื่อต้นปี 2018 สินค้าที่ขายมีทั้งนมปั่น กาแฟ ชา เค้ก ราคา 35-50 บาทต่อแก้ว และสินค้าภายใต้กลุ่มนมเย็น ได้แก่ นมพาสเจอร์ไรส์ นมเปรี้ยว และโยเกิร์ต
แต่ปรากฏว่าลูกค้าที่เข้ามากินกลับชื่นชอบ และร้านเดิมไม่เพียงพอต่อการให้บริการ จึงได้ขยับมาเปิดอีกสาขาฝั่งตรงข้ามกับสำนักงานของโรงงานมวกเหล็กเช่นเดียวกัน โดยรีโนเวตจากร้านเช่าที่ออกไป พร้อมดึงร้านสเด๊กจากเชฟท้องถิ่นเข้ามาขายคู่กันด้วย ซึ่งนอกจากลูกค้าที่ชอบแล้ว ยังมีนักลงทุนสนใจตัวร้านจึงเริ่มขายเป็นแฟรนไชส์ตั้งแต่นั้น
วันนี้ “Milk Land” มีทั้งหมด 6 สาขา ไทย–เดนมาร์คเป็นเจ้าของเอง 3 สาขา โดยสาขาล่าสุดตั้งอยู่ที่ไอคอนสยาม ส่วนอีก 3 สาขาเป็นของแฟรนไชส์อยู่ที่พิษณุโลก ปากช่อง และอยุธยา ปีงบประมาณ 2019 (ตุลาคม 2018 – กันยายน 2019) วางแผนขยาย 40-50 สาขา ตอนนี้มีทำเลที่แน่นอน 10 สาขา
นโยบายของไทย–เดนมาร์คจะขยายในรูปแบบของแฟรนไชส์ทั้งหมด เพราะไม่อยากลงทุนเองด้วยต้องใช้เงินจำนวนมาก การเลือกแฟรนไชส์จะให้สิทธิ์กับเอเย่นต์ที่ขายนมให้ก่อน เพราะการสั่งสินค้าจะต้องผ่านทางนี้ โดยเอเย่นต์จะแบ่งไปตามภูมิภาค ได้แก่ เหนือ 2 ราย, กลาง 6 ราย, อีสาน 9 ราย และใต้ 5 ราย หากเอเย่นต์ไม่สนใจก็จะเปิดให้คนอื่นๆ ต่อไป
แฟรนไชส์มีให้เลือก 3 โมเดล คือไซต์ S พื้นที่ 20 ตารางเมตร ลงทุน 1.1 ล้านบาท ไซต์ M พื้นที่ 21-24 ตารางเมตร ลงทุน 1.4 ล้านบาท และไซต์ L พื้นที่ 40 ตารางเมตร ลงทุน 1.8 ล้านบาท มีสัญญา 6 ปี คาดคืนทุนใน 3 ปี สินค้าที่ขายนอกจากเป็นแบรนด์ไทย–เดนมาร์ค ยังอนุญาตให้ขายสินค้าอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย แต่ต้องมาถามทางแบรนด์ก่อน
ความตั้งใจของไทย–เดนมาร์คอยากให้ “Milk Land” เหมือนอย่าง “อเมซอน” ที่สามารถขยายสาขาไปทั่วประเทศ ในทำเลทั้งปั๊มน้ำมัน ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน แต่ต่างกันที่ “Milk Land” เน้นขายนมเป็นหลัก โดยสำหรับปปี 2019 ยังถือเป็นปีที่ต้องศึกษาเรียนรู้ก่อน ค่อยติดสปีซขยายสาขาในปีถัดไป
นอกจากร้าน “Milk Land” แล้ว ไทย–เดนมาร์คยังมีโมเดลร้านนมอีกร้านชื่อ “Milk Shop” ต่างกันที่ร้านหลัง จะเข้าไปเปิดในสถานศึกษาทั้งโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัย อีกทั้งราคาจะถูกกว่าและมีการขายสินค้าอื่นๆ เช่นขนมปังปิ้งซึ่งเป็นที่นิยมของวัยรุ่นเข้ามาด้วย ปัจจุบันมี 9 สาขา โดยรูปแบบเป็นแฟรนไชส์ทั้งหมด
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนมพร้อมดื่ม “ไทย–เดนมาร์ค” กล่าวว่า
“การมีร้านทั้ง 2 นอกเหนือจากจะเป็นช่องทางการหารายได้ใหม่แล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยสร้างแบรนด์อะแวร์เนสไปสู่ผู้บริโภคด้วย”
ไม่ใช่แค่นั้น การขายสินค้าอย่างนมพาสเจอร์ไรส์ นมเปรี้ยว และโยเกิร์ต ในร้านเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ไทย–เดนมาร์คสามารถนำสินค้าเจาะเข้าไปหากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เพราะพวกเขามองว่า การกินนมที่ผ่านวิธีพาสเจอร์ไรส์ สามารถเก็บคุณค่าได้ดีกว่าวิธี UHT ที่ต้องใช้ความร้อนสูง ทำให้สารอาหารบางตัวหายไป
ขณะเดียวกันเป็นประจำทุกปีที่ไทย–เดนมาร์คต้องเปิดสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด สำหรับปี 2019 ได้เลือกเปิด “ไทย–เดนมาร์ค แลคโตส ฟรี” ด้วยมองว่า ปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทานนมวัว เพราะคิดว่าดื่มแล้วท้องเสีย ทั้งที่ความจริง “แลคโตส” คือต้นเหตุไม่ใช่นมวัว อีกทั้งอาการแพ้ยังสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้นด้วย แม้ตอนเด็กจะกินแล้วไม่เป็นอะไร แต่พอโตมากินแล้วท้องเสีย หลายคนจึงเลิกกินนมวัว
เป้าหมายของสินค้าใหม่ไม่ได้มีเพียงแต่กลุ่มผู้แพ้นมวัวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้สูงวัยซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้เมืองไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัย เพียงแต่คนที่มีอายุมักไม่ค่อยกินนมวัวสักเท่าไหร่นั้น เพราะนอกเหนือจากการกินแล้วท้องเสีย คนไทยยังมีความเชื่อเรื่องการดื่มนม ติดภาพของการเป็นเด็ก ทำให้ตอนนี้ยอดขายนมวัวในตลาด 70% เป็นกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 22 ปี หรือก่อนจะจบมหาวิทยาลัยทั้งนั้น
“ความยากของการขาย แลคโตส ฟรี อยู่ที่การให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้เป็นอย่างมาก ทั้งการใช้สื่อหรือลงพื้นที่แจกสินค้าทดลอง”
“ไทย–เดนมาร์ค แลคโตส ฟรี” เริ่มวางจำหน่ายแล้วตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม มีให้เลือก 2 ขนาด กล่อง UHT ขนาด 220 มิลลิลิตร และขวดพาสเจอร์ไรส์ 180 มิลลิลิตร ราคา 19 บาทเท่านั้น ในช่องทางทั้งโมเดิร์นเทรดและเทรดดิชันนอลเทรด ตั้งเป้ามียอดขายปีแรก 15 ล้านบาท
สำหรับปี 2019 “ไทย–เดนมาร์ค” ตั้งเป้ามียอดขายรวม 10,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 9,560 ล้านบาท ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากกำลังซื้อที่ไม่เอื้อ โดยในตลาดนมพร้อมดื่มรวม 60,000 ล้านบาท “ไทย–เดนมาร์ค” มีส่วนแบ่งเป็นรองโฟร์โมสต์ แต่ถ้านับเฉพาะกลุ่มนมทั่วไปมูลค่า 16,000 ล้านบาท จะเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่ง 46-47%.