เปิดความท้าทายในยุคดิจิทัล พร้อมสู่ไปรษณีย์ไทย 4.0


ด้วยเทรนด์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวัน ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตรวดเร็ว ส่งผลพลให้ธุรกิจโลจิสติกส์ได้รับอานิสงส์เต็มๆ หลายปีที่ผ่านมามีผู้เล่นรายใหม่ๆ จากต่างประเทศตบเท้าเข้ามาทำตลาดในไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นโอกาสการเติบโตสูง

ท่ามกลางสมรภูมิตลาดโลจิสติกส์ในประเทศไทยในยุคปัจจุบัน พี่ใหญ่ในวงการอย่าง “ไปรษณีย์ไทย” ก็ไม่ยอมอยู่เฉยอย่างแน่นอน แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ต้องบอกว่าไปรษณีย์ไทยยังแข็งแกร่งอยู่มากด้วยบริการที่พัฒนาให้ตอบโจทย์ลูกค้าอยู่ตลอด มีการทำงานเชิงรุก นำนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยมีโจทย์ใหม่คือการก้าวสู่ไปรษณีย์ยุค 4.0

สมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เล่าว่า”ไปรษณีย์ไทยมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีการปรับทุกส่วนทั้งภาพลักษณ์ ทัศนคติของบุคลากร ทำงานเชิงรุกมากขึ้น นำเทคโนโลยีเข้ามารับกับยุคดิจิทัล มีบริการใหม่ๆ สำรวจความต้องการลูกค้าตลอดเวลาลูกค้าชอบบริการอะไรไม่พอใจอะไร เราก็นำสิ่งนั้นมาพัฒนาปรับปรุง เพื่อให้คนไทยได้ใช้บริการที่ดี”

แม้ว่าการแข่งขันในตลาดตอนนี้จะสูงมาก คู่แข่งมีการจับมือพันธมิตรค้าปลีกต่างๆ ในการตั้งจุดให้บริการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าจุดแข็งของไปรษณีย์ไทยก็ยังอยู่ที่”เป็นมิตรกับประชาชน” ไปรษณีย์ไทยมีจุดให้บริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทก็เข้าถึงทุกตรอกซอกซอย ไกลแค่ไหนก็ไปให้ถึง

ก้าวสู่ไปรษณีย์ไทย 4.0

ในปัจจุบันไปรษณีย์ไทยเปลี่ยนแปลงสู่การเป็น “ไปรษณีย์ไทย 4.0” ขับเคลื่อนองค์กรด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้กับระบบงานไปรษณีย์ทั้งกระบวนการ ยกระดับการให้บริการด้วยมาตรฐานคุณภาพที่เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของคนไทย นับได้ว่าเป็นการปรับปรุงงานบริการทั้งหน้าบ้าน และหลังบ้านอย่างแท้จริง

1. พัฒนาการรับฝาก ซึ่งจะทำให้การให้บริการมีคุณภาพและประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น รองรับกลุ่มธุรกิจ e-Commerce และการขนส่งมากขึ้น มีการนำระบบ Automation มาช่วยในการปฏิบัติงาน เช่น สายพานลำเลียงภายในที่ทำการไปรษณีย์จำนวน 21 แห่ง อาทิ ปณ.หัวหิน ปณ.คลองหลวง ปณ.หลักสี่ เป็นต้น เครื่องบริการรับฝากไปรษณีย์อัตโนมัติ หรือ APMรองรับผู้ใช้บริการที่ต้องการฝากส่งเร่งด่วน เปิดจุดให้บริการรับฝากร่วมกับพันธมิตรในพื้นที่ห้างสรรพสินค้าและสถานีบริการน้ำมัน เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการไปรษณีย์แก่ลูกค้า ยกระดับบริการ EMS ที่ต้องด่วนจริง

2. พัฒนาระบบงานคัดแยก จะทำให้การคัดแยกมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถลดการแตกหักเสียหายของสิ่งของที่ฝากส่งทางไปรษณีย์ในขั้นตอนการคัดแยกมีแผนติดตั้งเครื่องคัดแยกซองขนาดใหญ่ (เครื่องคัดแยกแบบ Mix Mail Sorter) และเครื่องคัดแยกกล่องพัสดุ (เครื่องคัดแยกแบบ Cross Belt Sorter) และเครื่องคัดแยกด้านจ่ายสำหรับชิ้นงานประเภทซองภายในศูนย์ไปรษณีย์ทั่วประเทศ

3. พัฒนาระบบงานส่งต่อ เพื่อควบคุมคุณภาพบริการให้มีความแน่นอนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีความรวดเร็วในการดำเนินงานและสามารถช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน มีแผนการดำเนินงานให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ปณท เป็นผู้รับผิดชอบด้านการส่งต่อ จำนวน 110 คัน 5 เส้นทาง จากทั้งหมด 28 เส้นทาง โดยในเส้นทางอื่นๆ จะดำเนินการต่อไป และจัดให้มี Control Room เพื่อติดตามรถยนต์ขนส่งไปรษณีย์ ซึ่งปัจจุบันรถขนส่งไปรษณีย์มีการติดตั้งระบบ GPS เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดไว้

4. พัฒนาระบบงานนำจ่าย เพื่อรองรับปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมตอบโจทย์ชีวิตคนรุ่นใหม่ยุคดิจิทัลที่เร่งรีบ หรือไม่สะดวกรับสิ่งของที่บ้าน สามารถจะเลือกรับสิ่งของได้ในจุดที่สะดวก หรือวัน เวลา ที่สะดวก อาทิ iBox บริการตู้นำจ่ายไปรษณีย์อัตโนมัติ โดยติดตั้งแล้ว ณ ที่ทำการไปรษณีย์ 28 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล

ปรับปรุงรูปลักษณ์ที่ทำการไปรษณีย์ 4.0 ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสังคม/ชุมชน

มีแนวคิดเพิ่มจุดจำหน่ายสินค้า OTOP ร่วมมือกับพันธมิตรในลักษณะต่างๆ ตลอดจนขยายพื้นที่ปฏิบัติงาน ไปพร้อมๆ กับการนำระบบ Automation มาช่วยปฏิบัติงานด้านต่างๆ ให้มีความคล่องตัวในการทำงาน ตลอดจนขยายเครือข่ายจุดให้บริการไปรษณีย์ในสถานที่ค้าปลีกขนาดใหญ่โดยปีนี้จะพัฒนาที่ทำการไปรษณีย์ 4.0 จำนวน 15 แห่ง

ปีหน้าต้องต่อยอดเรื่อง Big Data

ไปรษณีย์ไทยเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีข้อมูลของพื้นที่เยอะมาก ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่นั้นสามารถทำอะไรได้อีกมากมาย เพียงแต่ยังไม่ดึงออกมาใช้อย่างเต็มที่ ซึ่งในปีหน้าจะมีการต่อยอดเรื่อง Big Data มากขึ้น รวมถึงยังคงลงทุนเพื่อยกระดับบริการให้มากขึ้นด้วย

“ในปี 2562 จะเน้นให้ความสำคัญกับระบบปฏิบัติการไปรษณีย์ โดยจะนำ Big Data มาบูรณาการข้อมูลด้านการรับฝาก คัดแยก ขนส่ง และนำจ่าย เพื่อวางแผนการทำงาน พร้อมรองรับการทำงานในระบบอัตโนมัติ ส่วนด้านทรัพยากรบุคคล จะปรับปรุงระบบการจัดการด้าน Competency ทั้งหมดให้สอดคล้องกับโครงสร้างองค์กรด้วย”

นับได้ว่า เป็นความท้าทายของไปรษณีย์ไทย ภายใต้การนำของ สมร เทิดธรรมพิบูล จะนำองค์กรสู่ 4.0 และรักษาแชมป์เบอร์ 1 ด้านการขนส่งได้หรือไม่ต้องจับตาดู แต่ที่แน่ๆ ณ ปัจจุบันนี้ยังไม่มีองค์กรใด “เข้าถึง” และ “ใกล้ชิด” ชุมชน รู้จักทุกพื้นที่ได้ดีเท่ากับไปรษณีย์ไทยอย่างแน่นอน

รวมถึงพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านการบริการเพื่อยกระดับไปสู่ผู้ให้บริการ “e-Commerce 4.0” มีการวางแนวทางการสร้างฐานลูกค้าระยะยาวด้วยการนำเสนอบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าทุกกลุ่มเป็นหลัก ได้แก่ บริการ Delivery Option เพื่อลดปัญหาการนำจ่ายไม่ได้ในครั้งแรก โดยให้ผู้ซื้อเลือกช่องทางนำจ่ายได้ระหว่างขั้นตอนการสั่งซื้อสินค้าว่าต้องการให้นำจ่ายผ่านช่องทางใด เช่น จุดนำจ่ายพันธมิตร ตู้ iBox หรือใช้บริการ Flexible Delivery บริการเก็บเงินปลายทางผู้รับ หรือบริการ COD (Cash On Dilivery) ผ่าน Wallet@Post และ Payment Gateway เพื่อเพิ่มทางเลือกในการชำระค่าสินค่า บริการคืนสินค้า (Return) สำหรับกลุ่มลูกค้า B2C เสนอบริการแบบ Solution แก่ลูกค้า C2C เช่น ช่องทางขายสินค้า และระบบคลังสินค้า เป็นต้น

สำหรับภาพรวมธุรกิจของไปรษณีย์ไทยในปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจพัสดุยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง รับกับเทรนด์อีคอมเมิร์ซที่ยังเติบโตอยู่ สามารถแบ่งสัดส่วนรายได้เป้นบริการพัสดุ 45% จดหมาย 35% และอื่นๆ 20%

แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยจะเจอศึกรอบด้านจากการแข่งขันในตลาดที่ดุเดือด แต่การปรับตัว และพัฒนาบริการให้เข้าถึงผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องก็ทำให้ไปรษณีย์ไทยสามารถหยัดยืนมาได้จนถึงทุกวันนี้ และยังก้าวต่อไปอย่างแข็งแกร่ง