การเข้าสู่วงการบันเทิงอาจให้โอกาสด้านชื่อเสียง เงินทอง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องเสียไปคือโอกาสในการใช้ชีวิตส่วนตัว โดยเฉพาะการห้ามไอดอลมีความรัก กรณีล่าสุดเมื่อ Dispatch สำนักข่าวของเกาหลีออกเปิดเผยคู่เดตล่าสุดของวงการเคไอดอลระหว่าง “เจนนี่ BLACKPINK” กับ “ไค EXO” รับเทศกาลปีใหม่ตามธรรมเนียมของสำนักข่าวนี้ที่จะชอบออกข่าวในช่วงต้นปี ก็ทำให้เป็นที่ฮือฮาไปทั่ว และกลายเป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยในมุมการตลาดที่น่าลองมาศึกษาดูว่า สถานการณ์แบบนี้แท้จริงแล้วเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์การตลาดบริหารไอดอลของเหล่าเคป็อปหรือไม่อย่างไรกันแน่
ตระกูล AKB48 ตำนานฝ่ากฎเดตที่ไม่มีใครลืม
ถ้าพูดถึงผลกระทบเรื่องคู่เดตที่ฮือฮาและมีแอคชั่นน่าหวาดหวั่นไม่น้อย หลายคนอดไม่ได้ที่จะนึกถึง ไอดอลตระกูล AKB48 ซึ่งเป็นไอดอลกรุ๊ปที่ได้รับการพูดถึงในเรื่องนี้มากที่สุด รวมถึง BNK48 ในบ้านเราก็เคยมีข่าวละเมิดกฎเรื่องเดตที่มีมาตรการลงโทษรุนแรงไม่แพ้กัน
แม้ว่าบางค่ายต้นสังกัด จะไม่มีสัญญาออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรแต่เมื่อถูกจับได้จากปาปารัซซี่แล้ว ผลกระทบที่ตามมาย่อมเลวร้ายเสมอ อาทิ ถูกลดชั้นเป็นเด็กฝึกหัด เป็นต้น
อย่างกรณี “มี่จัง” มิเนกิชิ มินามิ ที่มีภาพหลุดออกจากที่พักของแฟนหนุ่มแดนเซอร์วง Generation จนถึงขั้นต้องโกนผมขอขมาแฟนเพลง หรือในฝั่งของเกาหลีที่สถานีโทรทัศน์ MBC ของเกาหลีใต้ ได้แสดงตัวอย่างของสัญญาจากต้นสังกัดไอดอลแห่งหนึ่ง ซึ่งระบุว่าศิลปินจะได้รับอนุญาตให้มีคนรู้ใจหลังจากเปิดตัวเป็นศิลปินแล้ว 3 ปี ซึ่งแหล่งวงในเผยว่า ผู้ฝ่าฝืนกฎจะถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก หรือการที่ บ็อบบี้ วง IKON จากค่าย YG Entertainment ก็เคยพูดถึงกฎของต้นสังกัดสำหรับเหล่าศิลปินอีกว่า
“ห้ามออกเดต และในตอนที่พวกเราอยู่ที่หอ ถ้าเราจะเดินข้ามถนนไปร้านสะดวกซื้อ เราก็ต้องบอกกับต้นสังกัดตลอด” แถมบอกอีกด้วยว่า “พวกเขายังไม่ให้พวกเราได้พบกับเมมเบอร์วง BLACKPINK (ซึ่งอยู่ในสังกัดเดียวกัน) อีกด้วย”
รักของไอดอลกับโลกธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ในโลกของความเป็นจริง ความรักของไอดอลกับโลกทางธุรกิจและการทำเงินย่อมสวนทางกัน เพราะค่ายต้นสังกัดของเกาหลีและญี่ปุ่นมักจะใช้กลยุทธ์กระตุ้นยอดขายแผ่นซีดี ผ่านรูปแบบการใช้เงินเข้าทุ่ม ซึ่งจะยิ่งทำให้มูลค่าและการยึดติดแสดงความเป็นเจ้าของที่มีต่อตัวไอดอลคนนั้นยิ่งสูงขึ้นไปอีก
ดังนั้นกฎการห้ามมีแฟน หรือออกเดตจึงมักจะเป็นที่รู้กันว่าไม่ควรทำ หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรทำอย่างเปิดเผย เพื่อให้ไอดอลโฟกัสกับการทำงานอย่างเต็มที่และควบคุมไม่ให้เกิดข่าวอื้อฉาว และเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม
ที่สำคัญไอดอลของเอเชียมีการทำงานในรูปแบบทีมเวิร์ก มีการ “รับผิด” และ “รับชอบ” ร่วมกัน ดังนั้นการที่เมมเบอร์คนใดคนหนึ่งมีข่าวเดตในวงย่อมจะกระทบต่อเมมเบอร์คนอื่นๆ ไปตามๆ กัน
ตัวอย่างที่เคยมีให้เห็นผ่านมาแล้ว เช่น วงรุกกี้ ที่ยังมีฐานแฟนคลับไม่แข็งแรง จากกรณีของแฟนคลับ เพนตากอน มากกว่า 500 คน ขอคืนบัตรเข้าร่วมงานฉลองการก่อตั้งแฟนคลับอย่างเป็นทางการที่มหาวิทยาลัยเซจง เนื่องจากมีข่าวเดตของฮยอนอาและอีดอนที่เป็น 1 ในสมาชิกของเพนตากอน
เรื่องแบบนี้ยังมีตำนานระดับซีอีโอเจ้าของค่าย JYP Entertainment หรือ พัคจินยอง ที่เคยออกมาบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเองให้ฟังในรายการ Cool Kiz on the Block ว่า ในช่วงปี 1994 หลังจากที่เดบิวท์เพลง Don’t Leave Me ซึ่งปัจจุบันถือเป็นเพลงชาติของ “เจวายพี” ที่ศิลปินของค่ายจะใช้เวลาแสดงโชว์รวมในงานต่างๆ ซึ่งประสบความสำเร็จมากจนดังสุดๆ ทำให้เขาตัดสินใจเปิดเผยความสัมพันธ์ต่อสาธารณะ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของศิลปินหน้าใหม่ในตอนนั้นที่กล้าเปิดเผยเรื่องนี้
เรื่องนี้ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ ปฏิกิริยาของแฟนคลับยังคงเป็นไปเหมือนที่เคยเป็นเมื่อรู้ว่าศิลปินที่ชื่นชอบมีแฟน กรณีของ “พัคจินยอง” ก็ชัดเจน เมื่อเขาพบว่าหลังประกาศไปแล้วแฟนๆ ที่เคยตามมาเฝ้าที่บ้านหายหน้าไปเลยไม่ว่าเพลงจะฮิตขนาดไหนก็ตาม แถมเพลงก็ไม่ชนะโหวตรายการไหนทั้งนั้น สรุปแล้วแฟนๆ พอใจกับสถานะความโสดแม้อาจจะรู้ว่าศิลปินโกหกก็ตาม
แต่ก็นะ สำหรับศิลปินที่มีความสามารถจริงๆ อย่าง “พัคจินยอง” ก็เอาชนะเหตุการณ์นั้นมาได้ด้วยการใส่ความพยายามเพิ่มเข้าไปอีกเพื่อสร้างความสำเร็จให้ตัวเองจนกลายมาเป็นเจ้าของค่ายเพลงดังในปัจจุบัน
หรืออย่างกรณีข่าวเดตของ SNSD ที่ Dispatch สำนักข่าวชื่อดังของเกาหลีใต้เจ้าเก่า ทำการเปิดเผยภาพของแบคฮยอนและแทยอน ในรถยนต์ของทั้งสองออกมา เมื่อเดือนมิถุนายน 2014 ก็ทำให้เกิดดราม่าหนักมาก ต่างกับคู่ของเพื่อนร่วมวงอย่าง ยุนอา ซึ่งเดตกับอีซึงกิที่เป็นนักแสดงชาย
รีแอคชั่นของแฟนคลับต่อความสัมพันธ์ของไอดอล
รีแอคชั่นของแฟนคลับที่มีต่อกันนั้น จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยง่ายๆ ซึ่งพอจะแยกได้เป็น 4 เรื่องหลักดังนี้
1. อายุ ภาพลักษณ์ และขนาดของวง
ถ้าเป็นบอยแบนด์หรือเกิร์ลกรุ๊ปที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นนั้น จะมีปัญหามากกว่าอายุวงที่มากแล้ว ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวควรจะเป็นช่วงกอบโกยความสำเร็จในฐานะไอดอล และภาพลักษณ์ที่ต้นสังกัดวางว่า มีลักษณะเป็นไอดอลมากน้อยขนาดไหน เช่น ถ้าค่ายวางคอนเซ็ปต์มาในรูปแบบ Boyfriend Material หรือ Girlfriend Material ที่มีลักษณะเหมือนชายหนุ่มหรือสาวในฝัน แบบนี้จะมีปัญหาแน่นอน เพราะแฟนคลับจะหวงกว่าภาพลักษณ์ในรูปแบบอื่น
แต่ถ้าวางอิมเมจมาเป็นศิลปิน หรือนักแสดง ขายผลงานหรือบทบาทที่ได้รับ ผลกระทบตรงนี้ก็จะน้อยกว่า แฟนๆ ก็จะโฟกัสเรื่องส่วนตัวน้อยลง และวงที่มีเมมเบอร์จำนวนมากก็จะเป็นแหล่งรวบรวมแฟนคลับที่หลากหลาย ต่างอายุ ต่างความคิด ซึ่งทำให้แฟนด้อมนั้นมีขนาดใหญ่มาก เวลามีเรื่องทีก็จะเรื่องใหญ่ตามไปด้วย และทำให้ควบคุมได้ยากกว่าแฟนด้อมขนาดเล็ก
อันดับแฟนคาเฟ่ของศิลปินกลุ่มเกาหลีใน Baidu Bar (ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2018) และศิลปินเกาหลีที่ได้มีการสตรีมมิ่งมากที่สุดในประเทศจีน
2. อายุและวุฒิภาวะของแฟนคลับ
แฟนคลับที่โตจะมีสิ่งที่ให้ความสนใจมากกว่าความสัมพันธ์ของไอดอลเพียงอย่างเดียว เพราะมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบในชีวิตเยอะกว่า หรือถ้าให้ความสนใจก็จะควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่า อาจจะไม่ได้ออกมาในรูปแบบต่อต้านชัดเจน แต่จะเลือกไม่สนับสนุนไอดอลคนนั้นต่อไปในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำนั้น
3. รูปภาพที่สื่อนั้นนำมาเปิดเผย
ในกรณีที่มีการเปิดเผยรายละเอียดเนื้อหาข่าวเดต ชัดเจน รวมไปถึงมีการสืบเสาะไปจนถึงไอจีที่ควรจะเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างไอดอลกับแฟนคลับ แต่กลับมีนัยบ่งบอกไปถึงคู่เดตของตนมากกว่าก็เป็นเหมือนแหล่งเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้เรื่องเลวร้ายมากขึ้น
4. คู่จิ้นในวง
คำว่าคู่จิ้นชาย ชาย หรือ หญิง หญิงในวง ก็เป็นผลลัพธ์อย่างหนึ่งทางด้านการตลาดที่ต้นสังกัดเป็นคนสร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ เพราะจะได้จัดงานมีตติ้ง ออกอีเวนต์ร่วมกัน หรือออกสินค้าได้มากขึ้น เนื่องจากไม่ได้ซื้อแค่เมนตัวเอง แต่ยังต้องซื้อของคู่ชิปหรือคู่จิ้นตัวเองอีกด้วย (อ่านเพิ่มเติม : พจนานุกรมฉบับติ่ง รู้ไว้ก่อนตกกระแสเคป็อป)
ดังนั้นการทำตลาดคู่จิ้นจึงเป็นที่นิยมและมีเม็ดเงินจำนวนมหาศาล โดยที่ไอดอลก็มักให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
แต่การถูกจับได้ว่าออกเดตและไม่ใช่คู่จิ้นที่แฟนๆ คิดหรือเชื่อกัน ก็จะทำให้มีฟีดแบ็กที่ย้อนเข้ามาหาตัวไอดอลคนนั้นอย่างแรง รวมไปถึงประวัติว่าผู้หญิง ผู้ชายที่เป็นคู่เดตนั้นเป็นใคร เพราะไอดอลส่วนใหญ่จะมีภาพลักษณ์อย่างหนึ่งที่ค่ายตั้งใจขายเสมือนกับสินค้าชิ้นหนึ่งของแบรนด์ มีมูลค่าที่สูง จับต้องและเข้าถึงยาก ขายตัวตนลงไปในเนื้องานด้วย และบ่อยครั้งเมื่อเวลาแฟนคลับติดตามไปนานๆ ผ่านช่องทางส่วนตัว หรือในรูปแบบผลงาน จะเกิดความรู้สึกอยากเป็นเจ้าของขึ้นได้ แต่เป็นในลักษณะของเจ้าของที่มีร่วมกันของของคนจำนวนมากและเมื่อใดที่มีคนใดคนหนึ่งสามารถเป็นเจ้าของได้ จะทำให้เกิดอาการผิดหวังและเหมือนเสียของรักไปในคราวเดียวกัน
เคยมีคำกล่าวของ อีทึก ลีดเดอร์ ของ Superjunior ที่พูดถึงในเรื่องนี้ว่า
“ในโลกนี้เรื่องที่เศร้าที่สุด คือ ความรักของไอดอลและแฟนคลับ เพราะว่า ไอดอลจะพูดเสมอว่า พวกเขารักแฟนคลับแต่จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้รักแฟนคลับจริงๆ หรอก แต่สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดคือแฟนคลับตกหลุมรักศิลปินมาโดยตลอด.. “
ขณะที่ ยางฮยอนซอก ประธานค่าย YG Entertainment ก็เคยไว้พูดได้ตรงที่สุดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไอดอลกับแฟนคลับเป็นเรื่องของตลาดตั้งแต่ต้น
ขณะที่ในวงการ ไอดอลหลายคนรวมทั้งแฟนคลับก็มีสัญญาณที่เป็นอันรู้กันโดยอัตโนมัติบ่อยๆ ว่า เมื่อใดที่ไอดอลมีแฟน ก็มักจะถึงเวลาที่ต้องเลิกรากับแฟนคลับไปในที่สุด.