มูลค่าโฆษณาตลาดทีวีดิจิทัลของปี 61 ยังโต ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือดชิงเค้กเม็ดเงินโฆษณา รวมมูลค่าทั้งปี 67,936 ล้านบาท เติบโต 8.13% เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีมูลค่ารวม 62,827 ล้านบาท เดือนมิ.ย มูลค่าสูงสุด ส่วนเดือนม.ค. มูลค่าน้อยสุด
ตัวเลขประมาณการมูลค่าโฆษณาจากการสำรวจโดยนีลเส็น เป็นตัวเลขจากราคาโฆษณาที่ยังไม่รวมส่วนลด ราคาพิเศษของแต่ละช่อง พบว่าเดือนที่มีมูลค่าโฆษณาสูงสุดของปีคือ เดือนมิถุนายน มีมูลค่าโฆษณารวมกว่า 6,344 ล้านบาท รองลงมาคือเดือนมีนาคม มูลค่า 6,310 ล้านบาท และเดือนกรกฎาคม มูลค่า 5,982 ล้านบาท
ส่วนเดือนที่มีมูลค่าโฆษณาน้อยที่สุด ได้แก่ เดือนมกราคม มูลค่า 4,527 ล้านบาท, เดือนกุมภาพันธ์ 4,819 ล้านบาท, เมษายน 5,549 ล้านบาท และเดือนธันวาคม 5,574 ล้านบาท ที่สัมพันธ์กับช่วงเดือนที่มีเทศกาลวันหยุดมาก ในเดือนมกราคม, เมษายน และธันวาคม
จากตัวเลขประมาณการมูลค่าโฆษณาของแต่ละเดือน น่าจะเป็นตัวสะท้อนถึงการวางแผนการจัดรายการลงผังของแต่ละช่วงเดือนของแต่ละช่องได้ ในเดือนที่โฆษณาเข้าน้อยสุด จากเทศกาลวันหยุดยาว จึงกลายเป็นช่วงที่หลายช่องจัดรายการรีรันเหมือนที่เกิดขึ้นมาแล้วในเดือนธันวาคม 2561 มาถึงช่วงต้นเดือนมกราคม 2562 ที่หลายช่องจัดละครรีรัน มาราธอนลงออนแอร์
ช่อง 3, ช่อง 7 และเวิร์คพอยท์ 3 ช่องหลักกวาดมูลค่าโฆษณามากสุด
เมื่อแบ่งเป็นกลุ่มตามการประมูลทีวีดิจิทัลของ กสทช. 5 กลุ่ม ได้แก่กลุ่ม HD, SD วาไรตี้, ช่าว, กลุ่มช่องเด็ก และกลุ่มทีวีภาครัฐ พบว่ากลุ่ม HD ยังเป็นกลุ่มที่กวาดมูลค่าโฆษณาสูงสุด รวมมูลค่า 42,160 ล้านบาท
กลุ่ม HD ประกอบไปด้วยช่อง 7, ช่อง 3, ช่องวัน, ช่อง 9, ไทยรัฐทีวี, อมรินทร์ทีวี และพีพีทีวี โดยที่ช่อง 3 และช่อง 7 กวาดรายได้รวมกันกว่า 77 % ของมูลค่ารวมในกลุ่มนี้
ส่วนกลุ่มช่อง SD วาไรตี้ทั้งหมด 7 ช่อง ได้แก่ช่อง เวิร์คพอยท์, ช่อง 8, ช่องโมโน, ทรูโฟร์ยู, 3SD, จีเอ็มเอ็ม 25 และนาว 26 มีมูลค่ารวมทั้งปีอยู่ที่ 18,045 ล้านบาท โดยในกลุ่มนี้ช่องเวิร์คพอยท์นำกลุ่ม ตามมาด้วยช่อง 8 และโมโน
กลุ่มช่องข่าว 6 ช่อง เนชั่นทีวี และทีเอ็นเอ็น ทำมูลค่าสูงสุดของกลุ่มนี้ ตามมาด้วย ไบรท์ทีวี, สปริงนิวส์, นิวทีวี และวอยซ์ทีวี รวมมูลค่าทั้งปีอยู่ที่ 2,592 ล้านบาท
ในขณะที่ช่องเด็ก 2 ช่อง ช่อง 3 Family และ MCOT Family รวมมูลค่า 624 ล้านบาท
ช่องภาครัฐมีทั้งหมด 4 ช่อง คือ ช่อง 5, NBT, ไทยพีบีเอส และช่องรัฐสภา แต่สามารถมีโฆษณาได้ 2 ช่องคือช่อง 5 และช่อง NBT ได้มูลค่ารวมสูงถึง 4,515 ล้านบาท
ทั้งนี้มูลค่าโฆษณาส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับเรตติ้งของแต่ละช่อง แต่บางช่องมีมูลค่าสูงกว่าช่องอื่นๆ ที่มีเรตติ้งช่องสูงกว่า เนื่องจากรูปแบบช่องเป็นโฮมช้อปปิ้ง เช่นช่อง 8 และช่องสปริงนิวส์ หรือเป็นบริษัทในเครือที่มีสินค้าและบริการมาก เช่นกลุ่มซีพี ในช่องทรูโฟร์ยู และทีเอ็นเอ็น
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงการประมาณการจากโฆษณาของแต่ละช่องในปีนี้ ยังไม่สามารถวัดผลประกอบการจริงของแต่ละช่องได้ คงต้องรอตัวเลขผลการดำเนินงานทั้งปีของแต่ละช่องอย่างเป็นทางการ ที่จะชี้วัดได้ว่า ช่องไหนรุ่ง ช่องไหนรอดของจริง
รายได้โฆษณาในทีวีดิจิทัล 12 เดือนของปี 2561 ยอดรวมทั้งปี 67,936 ล้านบาท.