แต่ไหนแต่ไรมา “ละคร” ถือเป็นแม่เหล็กที่ “ช่องวัน” ให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะเป็นคอนเทนต์หลักที่สร้างเรตติ้งให้ช่อง ถึงขนาดในช่วงที่ช่องขาดทุนสะสมหลักพันล้านจนต้องผ่าตัดครั้งใหญ่ “ช่องวัน”
หากการเข้ามาเข้ามาถือหุ้น 50% มูลค่า 1,900 ล้านบาท เมื่อปลายปี 2017 ของ “บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด” ซึ่งเป็นของลูกสาว “นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททอง” ทำให้ช่องวันมี “เงินทุน” เข้ามาต่อชีวิตและทำอะไรได้มากขึ้น
หลังจากประสบความสำเร็จจาก “ละคร” ที่เป็นหัวใจหลักแล้ว ช่องวันจะหันมาให้น้ำหนักกับ รายการ“ข่าว” ที่เคยถูกมองเป็นเพียง “ไม้ประดับ” เท่านั้น
ปี 2018 ถือเป็นปีแรกที่ “ข่าว” พลิกกลับมามี “กำไร” และรายได้เติบโตกว่า 100% ได้เปลี่ยนมุมมองของช่องวัน จากที่แค่มีข่าวเพื่อให้ครบตามสัดส่วนที่ กสทช. กำหนด มาสู่ดาวดวงใหม่ที่จะหารายได้ให้กับช่อง
เดียว วรตั้งตระกูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายข่าวช่องวัน 31 เล่าว่า ที่ผ่านมาของ “รายการข่าว” ช่วงปี 2014 – 2016 ยังอยู่ในช่วงทดลองไม่ได้มีหลักตายตัว จนปี 2017 ได้เริ่มวางกลยุทธ์ โดยเน้น Current News ข่าวที่เป็นกระแสทั่วไป เพื่อให้ช่องไม่ตกข่าว ต่อมาปี 2018 Hemun Interest เลือกเฉพาะข่าวที่เป็นที่สนใจของกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก
เมื่อแนวทางเริ่มชัดเจนส่งผลให้รายการข่าวมีอัตราการเติบโตของฐานผู้ชมมากขึ้นกว่า 40% โดยวัดจากเรตติ้งการรับชมโดยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2015 – ปี 2018 โดยปีที่ผ่านมามีเรตติ้งในภาพรวม 0.43 ติดอันดับที่ 6 มีจำนวนฐานผู้ชม 51ล้านคน คิดเป็น 78% ของประชากรไทย อัตราคนดูเฉลี่ย 2.1 ล้านคนต่อนาที
ฐานผู้ชมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนเมือง (Bangkok & Urban) 77% โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชมเพศหญิงอายุ 35 ปีขึ้นไปจำนวน 60% (เฉลี่ยสูงสุด 1.2 ล้านคนต่อนาที) ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มผู้ชมที่มี Spending Power ทางการตลาดสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้รายได้เติบโตกว่า 100%
“ข่าวถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของช่องทีวี ในการสู้ศึกทีวีดิจิทัลที่ดุเดือด หลายช่องจึงปรับกลยุทย์และให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น ช่องวันก็เช่นเดียวกัน”
ปี 2019 ต้องติด Top 5
ช่องวันวางเกมข่าวปี 2019 ตั้งเป้าสู่ National Television และติด Top 5 ของสถานีข่าว ผ่านกลยุทธ์ Exclusive News นำเสนอข่าวที่เจาะลึกมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่หยิบข่าวจากโซเชียลมีเดียมานำเสนอ มีการลงพื้นที่ทำข่าว โดยคง DNA ของช่องไว้ คือทำให้เข้าใจง่าย เติมความเป็นไลฟ์สไตล์ เล่าผ่านสตอรี่ โดยวางแผนดึงศิลปินของช่องเข้าร่วม เพื่อสร้างมูลค่าให้เกิดความรอยัลตี้ในที่สุด
โดยเตรียมเพิ่มรายการใหม่ “เอาให้ชัด” เป็นทอล์กข่าว เข้ามาอยู่แทนที่รายการวาไรตี้ วางคอนเซ็ปต์รายการ กล้าถามทุกความจริง เริ่มออกอากาศ 4 ก.พ.นี้ หลังจบละครทุกวันจันทร์–พฤหัสบดี เวลา 22.30 น.
นอกจากนั้นยังมีรายการบันเทิงที่ผลิตร่วมกับ “ไนน์เอ็นเตอร์เทน” ของ อสมท แบ่งรายได้ในรูปแบบไทม์แชริ่ง การมีรายการใหม่จะทำให้เวลาของข่าวเพิ่มขึ้นอีก 10% จากเดิมที่ออกกาศ เช้า เที่ยง เย็น ข่าวคั่นระหว่างวัน รวมๆ กันประมาณ 8 ชั่วโมง
“ช่องวันมีภาพลักษณ์เป็นช่องบันเทิง แต่ในปีนี้กลับชูข่าวขึ้นมาด้วย เพราะเมื่อไปดูเรตติ้งรายการข่าวจริงๆ จะพบ 10 อันดับแรกไม่ได้เป็นช่องที่ประมูลมาเพื่อข่าวเลย แต่เป็นช่องวาไรตี้ทั้งนั้น โอกาสอยู่ที่ถ้าทำให้ข่าวเข้าถึงคนได้ ก็จะสามารถตรึงให้ผู้ชมอยู่กับช่องตลอดทั้งวัน”
ผู้ประกาศข่าวก็เหมือนดารา ถ้าไม่น่าสนใจคนก็ไม่ดู
ข่าวอย่างเดียวอาจสร้างความน่าสนใจไม่มากพอให้กับผู้ชม ช่องวันจึงวางแผนเพิ่มผู้ประกาศข่าว จากเดิมที่เคยมีแม่เหล็กอยู่แล้วอย่างจั๊ด–ธีมะ กาญจนไพริน, คิงส์–พีระวัฒน์ อัฐนาค, เอก–เอกพร ศรีสุขทวีรัตน์, แคน–อติรุจ กิตติพัฒนะ
ในปีนี้ได้ฟิล–ปรัชญา อรเอก, น้อย–บัญชา แข็งขัน ซึ่งนั่งควบอีกตำแหน่งบรรณาธิการข่าวเฉพาะกิจ และ เผย–วีณารัตน์ เลาหภคกุล ที่จะเข้ามาเติมเต็มด้านข่าวต่างประเทศ ซึ่งทั้ง 3 คนนี้ย้ายมาจากช่องเนชั่นทีวี
ทำไมถึงต้องเติมผู้ประกาศข่าวทั้งๆ ที่ช่องวันก็มีผู้ประกาศที่หลากหลายและตัวท็อปอยู่แล้วโดย “เดียว” เปรียบผู้ประกาศข่าวเป็นดารา และข่าวคือบทละครที่ต้องเล่น ถึงบทจะดีแค่ไหนถ้าดาราเล่นไม่ดีคนก็ไม่อยากดู เช่นเดียวกันข่าวที่นอกจากความน่าเชื่อถือ ต้องสร้างแรงดึงดูดให้คนอยากดูต่อด้วย
เดียวให้มุมมองในเรื่องที่ “จั๊ด–ธีมะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกาศข่าว ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้ชมทั่วไป แต่เรตติ้งของช่องยังอยู่ที่เบอร์ 6 เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะภาพรวมจะขึ้นมาทั้งแผงต้องใช้เวลา แต่ตอนนี้มีไฮไลต์อันหนึ่งที่เริ่มขึ้นมา จะทำให้ภาพรวมกลมขึ้นเรื่อยๆ และค่อยๆ เติบโต
แต่ทั้งนี้จะมีการไปผูกกับผู้ประกาศที่กลายเป็นซุปตาร์อย่างเดียว เพราะหากซุปตาร์ไม่อยู่ช่องอาจลำบาก แต่จะพัฒนาควบคู่ทำให้ข่าวเป็นคอนเทนต์ที่แข็งแรง ถึงซุปตาร์ไม่อยู่ก็ยังเติบโตได้ด้วยคอนเทนต์ข่าว
อยากอยู่รอดต้องขึ้น Top 5
ช่องวันมองการแข่งขันด้านข่าวตอนนี้รุนแรงไม่ต้องจากรายการอื่นๆ เพราะทุกคนต้องการเม็ดเงิน การอยู่รอดคือต้องอยู่ Top 10 หรือ Top 5 ให้ได้ ช่องวันจึงอยากเข้ามาอยู่ใน Top 5 ตอนนี้ในแง่ของฐานคนดูได้แล้ว ที่เหลือที่การขยาย
“ข่าว” แข่งขันกันที่ความน่าเชื่อถือ มุมมองการนำเสนอ ดูง่ายๆ คนที่เป็นแฟนประจำช่องข่าว ก็จะความคาดหวังด้านข่าวที่ต้องสุดขั้ว ก็จะต่างจากคนที่ดูข่าวในช่องวันที่อาจจะไม่ได้ฮาร์ดคอร์ขนาดนั้น ที่ผ่านมาช่องวันยอมรับ ข่าวคือเรตติ้งที่เป็นตัวประกอบ ถึงจะมีข่าววันศุกร์ที่โดดเด่นขึ้นมาเป็นพระเอกได้ หรือข่าวค่ำก่อนละครที่บางวันเรตติ้งได้ 2 แต่ก็เป็นช่วงที่คนมารอดูละคร
และด้วยความที่ช่องวันเป็นช่องบันเทิงความคาดหวังของช่องคือดนดูแล้วไม่ “ยี้” เช่นข่าวการจับงู ก็จะไม่ลงรายละเอียดตัวงูเพราะฐานคนดูที่เป็นผู้หญิงจะปิดทันที หรือข่าวการเมืองก็ทำพอให้เป็นสีสัน ทั้งหมดเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องเรียนรู้ ซึ่งเรตติ้งจะขึ้นจากอะไรก็ขึ้นอยู่กับการที่ช่องรู้พฤติกรรมของคนดูและเข้าใจ เสิร์ฟคอนเทนต์ที่คิดว่าใช่
แน่นอนการให้น้ำหนักกับข่าวก็ต้องเพิ่มต้นทุน เพิ่มจากจำนวนคนที่ไม่ใช่แค่หน้างาน แต่ยังรวมไปถึงทีมงานเบื้องหลังซึ่งตอนนี้มีทั้งหมด 110 คน ถือว่าเพิ่มขึ้นจากจุดที่น้อยสุด 80 คน แต่ก็ต่างกันเกือบครึ่งจากจุดที่เคยมีทีมงานมากที่สุด 200 คน ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มถือว่ารับได้ เพราะเมื่อเทียบกับการทำละครถือว่าห่างกันอยู่มาก
ปี 2019 “ช่องวัน” ตั้งเป้าเรตติ้งโต 49% เป็น 0.46 เช่นเดียวกับช่องทางใน Facebook ที่อยากได้ตัวเลข 2.5 ล้าน โดยคาดหวังให้สัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 30% ของทั้งช่อง จากวันนี้อยู่ที่ 15% โดยค่าโฆษณาเฉลี่ยหลักหมื่นปลายๆ ต่อนาที แต่ถ้าเป็นช่วงเย็นซึ่งเป็นช่วงไพรม์ไทม์จะเป็นหลักแสนบาทต่อนาที
“จั๊ด–ธีมะ” ผู้ประกาศข่าวตัวท็อปของช่องวัน กับปัญหาที่ถูกมองเล่นใหญ่เกินจริง
“จั๊ด–ธีมะ กาญจนไพริน” ถือเป็นผู้ประกาศข่าวที่ท็อปสุดของช่องวัน 31 ในขณะนี้ ด้วยสไตล์เล่าข่าวที่จัดจ้าน สนุกสนาน บวกกับการแต่งตัวให้เข้ากับเหตุการณ์นั้นๆ จึงได้รับความนิยมและเป็นกระแส
แต่เพราะความเล่าข่าวที่ “เล่นใหญ่” สไตล์ “จั๊ด” กลับถูกผู้ชมบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมว่า “ข่าว” ควรจะเล่าไปตามความจริง ไม่ใช่ใส่สีตีไข่เข้าไป ซึ่งเจ้าตัวได้ชี้แจงว่า
การเล่าข่าวสไตล์ “จั๊ด” คือการเล่าเรื่องยากให้ง่าย เล่าเรื่องง่ายให้มีมุมคิด คนชั่วคนทุจริตต้องโจมตี คนดีต้องสรรเสริญ นี่ถือ 4 ประโยคที่ยึดถือ ส่วนวิธีการให้การเล่าข่าวที่ใช้คำว่า “กบฎทุกการเล่าข่าว” ที่ไม่ได้หมายถึงเรืองที่เลวร้าย
ผมคิดว่าวิธีการในการนำเสนอไม่จำเป็นต้องเป็นวิธีการนำเสนอข่าวที่เราเห็นๆ ผ่านหูผ่านตากันตลอดชั่วชีวิตของเรา เพราะผมรู้สึกว่าข้างในคือข่าวแต่เราเอามาห่อใหม่ ปีนี้ความท้าทายอยู่ที่ข่าวการเมืองที่จะเข้มข้นขึ้น
จุดอ่อนของคนไทยคือการไม่ชอบเสพข่าวยาก หลักการของผมจึงต้องเอาข่าวยากไปให้คน วิธีการคือทำขึ้นมาใหม่ที่ทุกคนเห็นกันไป ถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็เหมือนช็อกโกแลตเอ็มแอนด์เอ็มที่มีสีสันที่หลากหลาย โดยข่าวก็เหมือนช็อกโกแลต วิธีการที่ผมนำเสนอก็เหมือนกัน สีสันที่เคลือบอยู่ดูน่ากินและกินง่าย แต่เมื่อกินเข้าไปข้างในก็คือช็อกโกแลตหรือข่าวนั้นเอง