ผ่าเกม SCB จับมือ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” จุดพลุ “QR Code” ในร้าน Street Food ตั้งเป้าปีนี้ได้เห็นแน่อีก 30 แฟรนไชส์

Thanatkit

นับตั้งแต่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไฟเขียวให้สามารถจ่ายเงินผ่าน “QR Code” ตั้งแต่ปลายปี 2017 เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการกระตุ้นให้เกิดสังคมไร้เงินสดในเมืองไทย ตลอดปี 2018 สิ่งที่เราเห็นคือทุกธนาคารต่างงัดกลยุทธ์เพื่อชักจูงให้เกิดการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งร้านค้า หรือผู้ใช้งานก็ตาม

ไม่เพียงการอัดโปรโมชั่นเท่านั้น แต่ละธนาคารก็หาวิธีเพิ่มกิมมิกเพื่อให้คนจดจำได้ง่าย และฉีกออกจากธนาคารอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่เล่นกับความเชื่อของคนไทย โดยถอดแบบออกมาจากนางกวัก ซึ่งร้านค้าขายส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่หน้าร้าน เพราะมีความเชื่อสามารถกวักลูกค้าให้เข้าร้านได้ ฟาก SCB ก็ตั้งชื่อใหม่เป็นแม่มณี

รูปจาก SCB Thailand

1 ปีที่ผ่านมา “SCB QR แม่มณีมีจำนวนร้านค้าทั้งหมดกว่า 1.3 ล้านร้านค้า โดยปลายปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดระบบใหม่ที่สามารถจ่ายเงินผ่าน QR Code แล้วไปหักบัตรเครดิตได้โดยตรง จากเดิมที่ต้องหักผ่านบัญชี จึงมีร้านค้าที่รองรับการจ่ายแบบบัตรเครดิตแล้ว 18,000 ร้าน

ธุรกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นภายใน “SCB EASY” โมบายแบงกิ้งของ SCB ที่มีจำนวนผู้ใช้งานเติบโตขึ้นกว่า 3 เท่าตัวในช่วง 3 ปีมานี้ โดยในปี 2016 มีจำนวนผู้ใช้งาน 1.3 ร้านราย ถัดมาปี 2017 ตัวเลขอยู่ที่ 5.3 ล้านราย ตัวเลขล่าสุดปี 2018 พุ่งขึ้นไปเป็น 8.5 ล้านราย

เช่นเดียวกันจำนวนผู้ใช้งานจำนวนธุรกรรมก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ย้อนกลับไปในปี 2016 ยังอยู่เพียง 89 ล้านธุรกรรม ปี 2017 มี 237 ล้านธุรกรรม ส่วนปี 2018 กระโดดขึ้นมาเป็น 711 ล้านธุรกรรม แน่นอนส่วนหนึ่งของยอดที่เติบโตมาจากจำนวนผู้ใช้งาน QR Code

ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดสะท้อนมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลกันมากขึ้น ซึ่งทุกธนาคารต่างก็อยากได้ฐานลูกค้ากลุ่มนี้มาอยู่ในมือ เพราะไม่ใช่แค่เพียงธนาคารจะสามารถลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการจัดการเงินสด

แต่ข้อมูลการใช้งานที่เกิดขึ้น จะกลายเป็นแต้มต่อให้ธนาคาร สามารถเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้า แล้วต่อยอดไปยังบริการอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อออนไลน์ที่ถูกมองจะเป็นโจทย์หลักที่ทุกธนาคารจะมาลุยกัน

พิมพ์ใจ ทองมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสาย Payments Product Sales and Delivery ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า

นโยบายธนาคารต้องการให้ลูกค้าเปิดใช้แอปบ่อยๆ ดังนั้นบริการที่เพิ่มเข้ามาจึงต้องตอบสนองกับการใช้ชีวิตประจำวัน SCB จึงตั้งเป้าเพิ่มจำนวนร้านค้ากว่าเท่าตัว โดยโฟกัสหลักจะอยู่ที่อาหารที่เป็นสตรีทฟู้ดส์

เหตุที่เลือกโฟกัสอาหารสตรีทฟู้ดส์ เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมทั้งจากคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายในปี 2020 มูลค่าตลาดอาหารสตรีทฟู้ดส์จะเพิ่มเป็น 340,000 ล้านบาท จาก 20,000 ล้านบาทในปี 2018 โดยร้านประเภทแฟรนไชส์จะมีส่วนแบ่งอยู่ 20%

ทั้งยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจากเว็บวงใน เกี่ยวกับพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลร้านอาหารในประเทศไทย พบว่าในปี 2017 คนไทยมีการค้นหาเมนูอาหารเป็นจำนวนมากถึง 7,500,000 ครั้ง ซึ่งเมนูอาหารที่มีการค้นหามากที่สุด คือก๋วยเตี๋ยวทำให้เห็นว่าธุรกิจร้านก๋วยเตี๋ยว ยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอยู่เป็นจำนวนมาก

จึงเป็นที่มาของการจับมือกับชายสี่บะหมี่เกี๊ยวแฟรนไชส์ร้านอาหารสตรีทฟู้ดส์ที่มีสาขากว่า 4,300 สาขาทั่วประเทศ จึงเป็นที่รู้จักของคนไทยเป็นอย่างดี ในการเปิดให้ลูกค้าชำระค่าบะหมี่เกี๊ยว และผู้ซื้อแฟรนไชส์ชำระค่าซื้ออุปกรณ์ และวัตถุดิบจากชายสี่บะหมี่เกี๊ยวผ่าน QR Code ซึ่งไม่ได้รองรับแค่การตัดผ่านบัญชีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการตัดผ่านบัตรเครดิตที่ได้ร่วมมือกับวีซ่าด้วย

ถ้าจ่ายเงินค่าก๋วยเตี๋ยวราคา 35-40 บาทในร้านชายสี่บะหมี่เกี๊ยวได้ ที่อื่นก็สามารถจ่ายได้เหมือนกัน

เบื้องต้นจะสามารถจ่ายได้ในร้าน 378 สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยพฤติกรรมคนผู้บริโภคที่นิยมใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต หลังจากเปิดให้บริการมีราว 1 เดือน พบมีการใช้จ่ายผ่าน QR Code เฉลี่ย 2-3 รายการต่อสาขา โดยต้องการเพิ่มเป็น 5-10 รายการต่อสาขา ภายในครึ่งปีแรกจะเพิ่มเป็น 2,000 สาขา เริ่มจากหัวเมืองก่อน

ความร่วมมือครั้งนี้ยังครอบคลุมไปถึงการที่ร้านแฟรนไชส์สามารถชำระค่าสินค้าผ่านทาง QR Code ได้ด้วย ซึ่ง SCB เชื่อว่า จะเป็นการเชื่อมต่อสังคมไรเงินสดตั้งแต่ต้นน้ำคือเจ้าของแฟรนไชส์ กลางน้ำเป็นร้านค้า และปลายน้ำได้แก่ผู้บริโภค ที่ SCB พยายามกระตุ้นมาตลอด

ปี 2019 SCB ตั้งเป้าจำนวนผู้ใช้งาน SCB EASY 12 ล้านราย ส่วน SCB QR แม่มณีต้องการเพิ่มเป็น 2 ล้านร้านค้า และที่รองรับบัตรเครดิตเพิ่มเป็น 1 แสนร้านค้า ซึ่ง SCB ยอมรับเป็นความท้าทายที่ต้องหาร้านที่ยอมรับการชำระด้วยบัตรเครดดิต

ภายในปีนี้ SCB ตั้งเป้าเพิ่มร้านค้าที่เป็นแฟรนไชส์อีก 30 แบรนด์ เช่น ร้านชาไข่มุก จะได้เห็นแน่นอน

ปัจจุบันมีจ่ายเงินผ่าน QR Code คิดเป็นเม็ดเงิน 2,000 ล้านบาท จำนวนธุรกรรม 2 ล้านครั้ง ด้วยจำนวนร้านค้าที่เพิ่มขึ้น SCB จึงตั้งเป้าเติบโต 3 เท่าทั้งเงินที่ใช้จ่ายและธุรกรรม ขณะเดียวกัน SCB ได้วางงบการตลาดกว่า 200 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการใช้งานอีกด้วย

ชายสี่บะหมี่เกี๊ยวร้านก๋วยเตี๋ยวที่อยากติดนามสกุลมหาชน

สำหรับ ชายสี่บะหมี่เกี๊ยววางแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า มองว่า  การจับมือกับ SCB ที่ให้แฟรนไชส์สามารถจ่ายผ่าน QR Code จะทำให้ได้ตัวเลขทางบัญชีเข้ามาเสริมรวมไปถึงได้ข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้ามาไว้ในมือ เป็นผลดีต่อการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีข้อกำหนดทางบัญชีที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

พันธ์รบ กำลา ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว บอกว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีถ้าอยากเป็นนกอินทรีต้องเข้าตลาด ซึ่งในปีที่เข้าตลาดคาดจะมีสาขาทั้งหมด 8,000 – 10,000 สาขา และมีรายได้ราว 1,400 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนั้นอีก 10 ปีอยากมีรายได้เพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท

ก่อนจะไปถึงวันนั้นชายสี่บะหมี่เกี๊ยววางแผนเปิดโมเดลร้านขึ้นมาใหม่ชื่อ “CHYSEE FACTORY” เป็นร้านสแตนด์อโลนพรีเมียมขึ้น ต้องการเจาะกลุ่มคนที่มีเงินเพิ่มมาอีกหน่อย โดยจะมีเครื่องให้เลือกมากกว่า และราคาเริ่มต้น 49 บาท ต่างจากร้านรถเข็นที่มีราคา 35-40 บาท

นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดร้านชานมไข่มุก ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของตลาด และการบริหารจัดการไม่ได้ยุ่งยากมากนัก เบื้องต้นทดลอง 1 สาขาที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ใช้ชื่อว่าทรีชาราคาขายอยู่ที่ 19 บาท มียอดขายราว 200 แก้วต่อวัน โดยตั้งเป้าขยาย 100 สาขาภายใน 1 ปี

นับเป็นความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อเดินเกมรบของทั้งธนาคารไทยพาณิชย์และชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ที่หวังจะเพิ่มความสะดวกในการชำระเงินและต่อยอดธุรกิจต่อไปในอนาคต.