เป็นความจริงที่ว่า ชนชั้นใดร่างกฎหมาย ก็ย่อมร่างกฎหมายเพื่อประโยชน์ของชนชั้นนั้น
เช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎเกณฑ์กติกาสำหรับการบริหารปกครองบ้านเมือง ที่วันนี้อยู่ในกระบวนการแก้ไขแล้ว
สอดคล้องกับที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เคยประกาศไว้ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งท่ามกลางความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมือง ที่มีที่มาจากการแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจ
“ปัญหาการเมืองก็ต้องแก้ไขด้วยการเมือง และวิถีทางการเมือง”
ด้วยแนวคิดเริ่มต้นเรื่องนี้มาจาก “การเมือง” และ “คนการเมือง” แน่นอนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นไปเพื่อประโยชนของหมู่นักการเมืองเป็นสำคัญ
โดยไม่แน่ใจว่าประชาชนจะได้อะไรด้วย?
ถึงแม้ว่าส่วนหนึ่งในกระบวนการจะเปิดโอกาสในการให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมโดยการทำประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของคนทั้งประเทศ
แต่หากเจาะลึกเข้าไปเนื้อหาของการแก้ไข ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการดำเนินการเพื่อหมู่คนที่เรียกว่านักการเมืองเป็นหลัก
ไล่เรียงเนื้อหา ที่ “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่มีการเสนอให้ประธานรัฐสภาตั้งขึ้นภายหลังนายกฯ เข้ารับตำแหน่ง
6 ประเด็นตุ๊กตาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นบทสรุปของ ส.ส. และ ส.ว. เป็นสำคัญ โดยไม่มีหลักประกันว่าหากดำเนินการแล้ว
จะทำให้ความแตกแยกขัดแย้งยุติได้
ในเมื่อจุดเริ่มคือการแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจยังไม่ได้รับแก้ไขจริงจัง!
ว่ากันถึงเรื่องความเหมาะสม ความจำเป็น และสถานการณ์ปัญหาสมควรต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงใด ก็ต้องจำแนกรายประเด็นจาก 6 ปมที่เป็นตุ๊กตาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ข้อแรกคือ เรื่องการกำหนดให้การทำหนังสือสนธิสัญญาใดๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
ที่จริงประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการ และอยากเห็น การบริหารงานราชการใดๆ ของฝ่ายบริหาร ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่งุบงิบปิดบัง ซ่อนเร้นเช่นอดีต
ส่วนที่มองว่าเป็นอุปสรรคปัญหาในการบริหารงาน อันที่จริงก็มีกฎหมายลูกเรื่องนี้รองรับ สามารถปรับปรุงแก้ไขส่วนนี้ให้เกิดความชัดเจนได้โดยไม่ต้องรื้อ รธน.
หากมั่วนิ่มโละทิ้ง ก็เท่ากับ กลับไปสู่จุดที่ว่า รัฐบาลจะทำอะไรก็ได้ ประชาชนไม่มีสิทธิรับรู้?
ขณะที่ประเด็นการยุบพรรคการเมือง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคในปมทุจริตการเลือกตั้ง คือการกำจัดการซื้อเสียงที่เป็นวงจรอุบาทว์
หากจะโละทิ้งไปทั้งหมด นั่นก็หมายความว่า ทุกฝ่ายยินดีที่จะปล่อยให้ต้นตอที่เป็นมูลเหตุของการเมืองน้ำเน่าคงอยู่ต่อไป?
เช่นกันกับเรื่องที่มาของ ส.ส. และ ส.ว. ที่มีความพยายามผลักดันให้แก้ไขระบบเลือกตั้ง จากรูปแบบรวมเขตเรียงเบอร์ “พวงใหญ่” กลับไปเป็น “เขตเดียว คนเดียว”
และประเด็นการเลือกตั้ง ส.ว. ทั้งหมด ที่ต้องการโละทิ้ง ส.ว. ลากตั้งจากการสรรหาแต่งตั้ง
สองประเด็นนี้อาจจะนับเป็นเรื่องที่ดี ที่จะกลับไปสู่การพัฒนารูปแบบการเลือกตั้งและประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ที่ได้รับการยอมรับ
แต่อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนวัตถุประสงค์ของพรรคการเมืองขนาดเล็ก นักการเมืองที่ไม่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งในเขตใหญ่ ที่ต้องอาศัยกระแสมากกว่าตัวบุคคล
ขณะที่ประเด็นที่เกี่ยวกับการห้าม ส.ส. เข้าไปดำรงตำแหน่ง และยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายบริหาร คือความต้องการแยกอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติออกจากฝ่ายบริหารให้ชัดเจน
ความพยามแก้ไขในเรื่องนี้ ก็คือความต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยว แทรกแซง ซ้อนทับอำนาจและผลประโยชน์ที่คนการเมืองคุ้นชินมาตลอด และถูกปิดกั้นโดย รธน. 2550
จาก 6 ประเด็นที่จะมีการปรับปรุงแก้ไข ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่คือ “ยาแรง” ที่ส.ส.ร. ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จับเอามาใส่ไว้
เป็นวัคซีน และยารักษาโรค กำจัดเชื้อร้ายที่ฝังตัวอยู่ ทำให้การเมืองและประชาธิปไตยไทย “อมโรค” มานาน
อย่างไรก็ดี ก็พอเข้าใจได้ว่า ที่นายกฯอภิสิทธิ์ เปิดไฟเขียวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ด้วยจากที่ประกาศ รับปากไว้ตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาล จนไม่อาจบ่ายเบี่ยง
คำพูดรัดคอ เสมือน “ทำสัญญาใจ” กับพรรคร่วมรัฐบาล
การประกาศให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกรอบเวลาที่นายกฯประกาศไว้ ทั้งกระบวนการยกร่าง การจัดทำกฎหมายลูก และทำประชามติ “9 เดือน” เสร็จ
ต้องถือว่าเป็นแผนที่แยบยลของนายกฯ ยื้ออายุรัฐบาลไปได้อย่างน้อย 3 ไตรมาส!
ที่น่าสนใจ ปมรัฐธรรมนูญ ถือเป็นความเขี้ยวของ “อภิสิทธิ์”และพรรคประชาธิปัตย์ที่เชี่ยวชาญในการ “บริหารการเมือง” ท่ามกลางความขัดแย้ง
เมื่อเข้าสู่โหมดรัฐธรรมนูญ นอกจากการยื้อเวลาของรัฐบาล ยังสามารถสยบความเคลื่อนไหวจากทุกฝ่าย
ลดแรงสั่นสะเทือนได้ “ทุกสี”
สำหรับพรรคฝ่ายค้าน เพื่อไทย และกลุ่มม็อบเสื้อแดง ที่ชูธงต่อต้านรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มองว่าเป็น “มรดกเผด็จการ” สิ่งตกค้างจากรัฐประหาร ปลด “กับดัก คมช.”
เมื่อรัฐบาลตอบสนอง ลดเงื่อนไขก่อม็อบ ทั้งฝ่ายค้านและม็อบเสื้อแดงจึงเหมือนถูกย้อนเกล็ด ติดไฟเขียวสยบไฟแดง
กับพรรคร่วมรัฐบาล ที่บรรดาแกนนำรวมตัวกันบีบ “อภิสิทธิ์” เมื่อมีความชัดเจนตามประสงค์ ก็ไม่สามารถนำปมนี้ กลับมาเล่นเกมนี้ได้อีก
ที่สำคัญกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง พันธมิตรฯที่ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะลดทอนพลังลง เมื่อมีการจัดทำประชามติ
เพราะหากดูจากจำนวนการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 ฝ่ายที่รับร่าง 14 ล้านเสียง ที่เป็นเสียงจากฐานของพรรคประชาธิปัตย์ ผสมกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง
เมื่อพรรคประชาธิปัตย์พลิกไปรวมกับอีก 10 ล้านเสียงที่ไม่รับร่าง และต้องการที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั่นก็เท่ากับว่า เสียงประชามติฝ่ายแก้ไขน่าจะผ่านฉลุย
จำนวนมวลชนที่คัดค้านอย่างม็อบพันธมิตรฯ ก็ไม่มีน้ำหนักและพลังต่อรองต่อต้านเพียงพอ
ถือว่า “อภิสิทธิ์” ใช้เกมประชามติ เอาหลังพิงประชาชน สยบทุกสีได้เนียนๆ
แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น คือระหว่างทาง หรือหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ นายกฯคนหนุ่มคงจะต้องพยายามควบคุมเกมให้อยู่ในทิศทาง ไม่มีปัจจัยแทรกซ้อน
โดยเฉพาะ “วาระแฝง” จากทุกฝ่ายสีที่จ้องหาช่องอยู่!
ไม่เฉพาะพรรคฝ่ายค้าน เพื่อไทย และกลุ่มคนเสื้อแดง ภายใต้การบงการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลอายุยืน ยืดเวลาออกไป
ย่อมต้องหาประเด็นมาโจมตี ล้มกระดานอำนาจ โดยปมรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในแผนการนั้น
โดยต้องพยายามหาทางเพิ่มประเด็น ที่เป็นที่ต้องการของนักโทษชายหนีคดี โดยเฉพาะการแก้ไขในเรื่องที่ส่งผลดีต่อความผิดที่เป็นชนักติดหลัง
รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาล ที่บรรดา “ผู้มีบารมีนอกพรรค” ที่ติดคดี ที่แน่นอนว่าเมื่อ “ได้คืบ” แล้ว หากมีช่องให้ “เอาศอก” ก็คงฉวยคว้าแน่
โดยเฉพาะปมประเด็นเกี่ยวกับพิพากษาโทษในคดียุบพรรค ที่ทำให้บรรดาบิ๊กเนมต้องว่างงาน ติดคุกการเมืองกันเป็นทิวแถว
หากมีการแก้ไขประเด็นนี้จึงพึงระวัง ต้องจับตา และหาทางปิดช่อง ในการใช้โอกาสการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อ “เป็นคุณ” ย้อนหลัง ในคดีความการทุจริตเลือกตั้งนั้น
เพราะหากปล่อยให้แก้กฎเพื่อปลดโทษ ทลายคุกคุมขังให้ผู้กระทำความผิด นอกจากจะผิดหลักการ กระทำการชำเรากระบวนการยุติธรรมชัดเจนแล้ว
การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไฟเขียวของผู้นำสูงสุดในรัฐบาล “อภิสิทธิ์” ก็จะเป็นเพียง “แก้เกมการเมือง” เพื่อความอยู่รอดของตัวเองและพรรคประชาธิปัตย์ เพียงเท่านั้น
และที่สำคัญคือ เป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
อย่างที่พร่ำบอก ราวท่องอาขยาน!!