LinkedIn.com กับการบริหารความสัมพันธ์ทางธุรกิจ

คงไม่มีใครปฎิเสธนะครับว่าหนึ่งในนิยามความสำเร็จทางธุรกิจก็คือ การสร้างมิตรภาพ การสร้างเสริมความสัมพันธ์ทั้งระหว่างคู่ค้า ระหว่าง เพื่อนร่วมงาน ระหว่างเพื่อนร่วมอาชีพ หรือเรียกรวมๆ กันว่า “Connection” วันนี้ผมขอแนะนำ LinkedIn.com เว็บไซต์แนว Social Network ที่สร้างขึ้นมาเพื่อบริหารความสัมพันธ์ทางอาชีพการงานและธุรกิจโดยเฉพาะ ใครที่รู้จักและเคยใช้ก็ดีแล้วครับ ผมอาจมีข้อมูลเพิ่มเติมมาให้คุณใช้งาน ได้ใช้ประโยชน์มากกว่าเดิม แต่ถ้าใครไม่เคยใช้เลย ขอเชิญไล่เรียง สายตาศึกษารายละเอียดกันได้เลยครับ

LinkedIn คืออะไร ทำไมต้อง LinkedIn
LinkedIn.com นับว่าเป็นเว็บไซต์แนว Social Networking เฉพาะทางที่กล้าฉีกแนวออกจาก Social Networking อื่นๆ อย่าง Facebook Hi5 Friendster MySpace ที่เน้นสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง บุคคลในแบบเป็นกันเอง แต่ LinkedIn จะมาเน้นเรื่องการสร้างเครือข่าย ของคนทำงานและเรื่องอาชีพแทน เราก็ใส่เข้าไปเลยครับว่าทำงานอยู่ที่ไหน องค์กรไหน จบการศึกษามาจากที่ไหน สนใจในสายงานอาชีพแบบไหน

พอใส่ข้อมูลของเราเสร็จแล้ว ก็ลองหาข้อมูลคนอื่นดูครับ ไม่ว่าจะ เป็นเพื่อนที่ทำงานเก่า เพื่อนร่วมงานปัจจุบัน คนในแวดวง อุตสาหกรรมเดียวกัน อยากจะติดต่อกันเอาไว้ เผื่อวันใดวันหนึ่งอาจ ได้ร่วมงานกันใหม่ก็มา add เป็นเครือข่ายกันเอาไว้ก่อน แถมยังแนะนำว่าไม่ให้เรารับ add ง่ายๆ นะครับ ให้รับเฉพาะคนที่รู้จักเท่านั้น เพราะคนที่เรารับเข้ามาเป็นเครือข่ายนั้นจะเห็นว่าเรารู้จักใครบ้าง มีสายสัมพันธ์กับใครบ้าง ซึ่งถ้าไม่ใช่คนรู้จักเราก็ไม่ควร ปล่อยให้เขารู้จริงไหมครับ

นอกจากนี้ระบบยังเปิดโอกาสให้คุณได้ “แนะนำ” คนที่คุณชอบ คนที่คุณเคยร่วมงานด้วย เคยทำธุรกิจด้วยกันว่าเก่งอย่างไร ดีอย่างไร ซึ่งเว็บทั่วๆ ไปไม่สามารถทำได้แบบนี้ โดยทางทีมงานออกมาคุยว่า ปัจจุบัน LinkedIn มีผู้ใช้ถึง 40 ล้านคนจาก 150 ประเทศทั่วโลก นับว่าไม่ใช่จำนวนน้อยๆ เลย
ทำอะไรได้บ้าง?

คุณสามารถใช้ LinkedIn เสิร์ชหางานใหม่ให้ตัวเอง หาลูกค้าใหม่ หาซัพพลายเออร์ หาผู้เชี่ยวชาญงาน หาคนร่วมงานได้ทุกประเภทงาน หรือแม้กระทั่งตรวจสอบพื้นหลังการศึกษา ของคนที่คุณต้องการรู้จักเขา เพิ่มเติมก็ได้ อย่างเช่นที่ออฟฟิศผมมีเพื่อนร่วม งานคนหนึ่งที่คุยกันถูกคอมาก ไม่เคยคุยกันว่าสมัยเรียนเรียนที่ไหน ปรากฏว่าเราเรียนมาทางสายเดียวกัน จบมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่คนละชั้นปี ทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานก็มากขึ้นเช่นกัน เมื่อเราต่างคนต่างเข้าใจกัน มากขึ้น ว่าแล้วก็มาดูกันเลยนะครับว่ามี Feature อะไรน่าใช้บ้าง

Answers – โชว์กึ๋นกันหน่อย
ใน LinkedIn จะมีลูกเล่นที่เรียกกันว่า Answers สำหรับสมาชิกทุกๆ คนเข้ามาตั้งคำถามในเรื่องที่ตัวเองสงสัย อาจจะเป็นเรื่องวิธีการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ วิธีการเลือกที่ตั้งออฟฟิศ ที่เราไม่เชี่ยวชาญ แต่ใน LinkedIn มีคนที่รู้เรื่องพวกนี้เยอะครับ คนเหล่านี้จะเข้ามาช่วยกันตอบคำถาม

ว่ากันว่าคนที่ถามและตอบใน LinkedIn บ่อยๆ นี่ได้งานกันมาเยอะแล้วนะครับ อย่างผมเองนี่ก็มีประสบการณ์ในส่วนนี้มาบ้าง คือมีอยู่ครั้งหนึ่งมีฝรั่งเขา เข้ามาถามว่าถ้าต้องการหาคู่ค้าในเมืองไทยเฉพาะทางหน่อย บังเอิญว่าผมรู้จักเพื่อนที่ทำอยู่ทาง ด้านนั้นพอดี ก็เลยแนะนำให้เขาได้ เป็นต้น ตรงนี้ผมเห็นหนังสือฝรั่งหลายเล่มแนะนำให้เข้ามาตอบคำถามบ่อยๆ มันก็จะช่วยสร้างโปรไฟล์ในการเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ให้เราได้เหมือนกันครับ

User Groups
ลูกเล่นอีกอย่างของเว็บนี้ที่น่าสนใจก็คือกลุ่มความสนใจต่างๆ ของสมาชิก LinkedIn ครับ กลุ่มหลักๆ จะแบ่งออกเป็น 2 อย่างครับ แบบแรกคือ

“แบบองค์กร” อย่างผมเองทำงานที่ Yahoo! ผมก็จะเข้าไปร่วมในกลุ่มของ “ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน Yahoos” ซึ่งข้างในกลุ่มนี้ก็จะมีคนที่เคย/กำลัง ทำงานอยู่ใน Yahoo! เข้าไปคุยกันอยู่ในนั้น ใครย้ายไปประเทศอะไร อยู่ที่ไหนก็ตามกันได้ ใครมีงานใหม่ๆ มาประกาศกัน มีแม้กระทั่ง อดีตฝ่ายบุคคลมาตามหาคนไปทำงานก็มี

แบบต่อมาก็คือแบบ “กลุ่มความสนใจ” อันนี้แบ่งกันตามสะดวก เช่นวันดีคืนดีอาจจะมีคนมาชวนคุณมาเข้าร่วม “กลุ่มนักการ ตลาดออนไลน์แห่งประเทศไทย” หรือ “กลุ่มนักพัฒนาโอเพ่นซอร์ส” และถ้าไม่มีกลุ่มไหนตรงกับความต้องการหรือความสนใจเราเลย จะตั้งกลุ่มเองก็ไม่ผิดกติกาครับ

การตั้งกลุ่มที่เป็นกลุ่มเฉพาะในความสนใจของเราเองจะทำให้เราได้สนทนาภาษาเดียวกันกับคนที่ทำงานในสายเดียวกับเราได้แลกเปลี่ยนความรู้กับคนอื่นๆ มีแต่ได้กับได้ครับ เราเพียงแต่ต้องคอยจัดการกลุ่มหรือดูแลชุมชนของเราให้ดี

Applications
เมื่อปลายปีที่แล้ว ทาง LinkedIn เพิ่งเปิดตัวตรงส่วน Applications ขึ้นมา โดยตรงพื้นที่นี้มันจะเปิดให้เราสามารถฝังหรือ embed Application ต่างๆ เข้าไปในโปรไฟล์ของเราได้ เช่น ผมอยากจะเอาสไลด์พรีเซนเทชั่นของผม มาแชร์ ก็ใช้ Application ของเว็บไซต์ Slideshare.net มาวางเอาไว้ในโปรไฟล์ของผมได้ หรือจะเป็น Application TripIt ที่เอาไว้แชร์ว่าขณะนี้เรากำลังวางแผนจะเดินทางไปที่เมืองไหน ประเทศไหน เราอาจจะไปเจอคนรู้จักในต่างถิ่นต่างแดนก็ได้จริงไหมครับ อีกอันที่ผมชอบมากๆ ก็คือ Reading list ของ Amazon ทำให้เรารู้ได้ครับว่าคนที่ทำงานในแวดวงเดียวกับเรากำลังอ่านหนังสืออะไรกันอยู่ ทำให้เราไม่ตกข่าวตกประเด็นความสนใจ และประเด็นสำคัญของการมี Application ไว้ในโปรไฟล์ก็คือ เราสามารถแสดงตัวตนเราได้ชัดมากกว่าเดิม ไม่ใช่เพียงเขียนว่า เราทำงานอะไรที่ไหน
มาแสดงตัวตนของคุณ (ทางด้านการงานและธุรกิจ) บนโลกออนไลน์กันดีกว่า

เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพงษ์ คงมาลัย อดีตคนข่าวจาก manager.co.th และเว็บนิตยสารในเครือผู้จัดการอย่าง marsmag.net ที่ผันตัวเองเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตด้วยการสร้างเว็บไซต์คนไทยในต่างแดนทั้ง ในออสเตรเลียและสิงคโปร์ เคยร่วมพัฒนาสมุดหน้าเหลืองออนไลน์ กับบริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย ปัจจุบันจักรพงษ์กำลังสนุกกับการร่วมงานกับบริษัทอินเทอร์เน็ตชั้นนำของโลก อย่าง Yahoo! ในตำแหน่ง Community Manager คุณสามารถติดต่อกับเขาได้ทาง jakrapong.com หรือ follow twitter ได้ที่ @jakrapong