เจาะอินไซต์ #ทวิตภพ จาก #YearOnTwitter วันนี้คนใช้ไม่ได้มีแค่วัยรุ่นที่ “หนี” พ่อแม่เข้าไปเล่นอีกแล้ว

ภาพในวันก่อนของ “ทวิตเตอร์” หรือที่กลุ่มผู้ใช้งานมักจะเรียกตัวเองว่า #ทวิตภพ ถูกมองว่าเป็นโซเชียลมีเดียที่วัยรุ่น “หนี” พ่อแม่หรือครอบครัวจากใน “เฟซบุ๊ก” จึงทำให้กลุ่มผู้ใช้งานหลักอายุต่ำกว่า 25 ปี

แต่จากข้อมูลล่าสุดที่ ทวิตเตอร์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปิดเผยอินไซต์ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ แม้ฐานผู้ใช้หลัก 40% จะอยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี แต่กลุ่มอื่นๆ ก็ได้เติบโตขึ้นมาเช่นเดียวกัน ทั้ง 25-34 ปี สัดส่วน 26%

ความน่าสนใจที่สุดซึ่งทำให้ภาพจำเดิมๆ เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง คือกลุ่ม 35-44 ปี สัดส่วน 19% ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัด และเป็นกลุ่มที่มักจะใช้ทวิตเตอร์ เพื่อติดตามข่าวสารโดยเฉพาะตลาดหุ้นส่วน และที่เหลืออีก 15% อายุ 45 ปีขึ้นไป

ส่วนเรื่องที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์สนใจมากที่สุดเรียงลำดับคือ เพลง 77%, อาหาร และ ภาพยนตร์ เท่ากันที่ 68%, ท่องเที่ยว 60%, เกมและการเงิน เท่ากันที่ 57%, แฟชั่น 52% และรถยนต์ 51% 

ข้อมูลที่เกิดขึ้นทำให้ เมืองไทยถือเป็นตลาดที่มีผู้ใช้ทวิตเตอร์มากที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้  และไทยยังติดกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตและมีผู้ใช้ทวิตเตอร์สูงสุดประเทศหนึ่งของทวิตเตอร์ทั่วโลกด้วย แม้จะไม่สามารถเปิดเผยถึงจำนวนผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทยได้ก็ตาม

เมืองไทยจึงเป็นตลาดที่น่าสนใจของทวิตเตอร์ ที่จะมีการขยายตัวต่อเนื่อง และไทยยังเป็นเคสสตัสดี้ (Case Study) หลายอย่างสำหรับในที่ประชุมของทวิตเตอร์เองด้วยที่นำมาพูดคุยกัน โดยไทยเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจเหมือนในตลาดที่อินเดีย ฟิลิปินส์

ทวิตเตอร์ มองว่าตัวเองไม่ใช่เป็นแค่โซเชียลเน็ตเวิร์ค แต่ถือว่าเป็น อินเตอร์เรสเน็ทเวิร์ค” (Interest Network) ซึ่งแอคเคาท์ที่มีคนทวิตถึงมากที่สุด ไม่ใช่แอคเคานต์ที่มีจำนวนฟอลโลเออร์หรือผู้ติดตามมาก

แต่เป็นแอคเคานท์ที่ทำให้เกิดการสนทนาของกลุ่มเป้าหมาย และมุ่งเป้าในการสร้างสังคมของบรรดาแฟนผู้ติดตาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ มากกว่าจำนวนฟอลโลเออร์ 

ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากสถิติ #YearOnTwitter แอคเคาท์ที่มีคนทวีตถึงมากที่สุดประจำปี 2018 ซึ่งทั้ง 10 แอคเคาท์ที่ติดอันดับนอกเหนือจากบรรดาศิลปินดาราแล้ว ยังมีแอคเคาท์ของผู้ใช้ทั่วแต่ที่ติดอับดับได้ เพราะการทวิตที่โดยใจผู้ใช้ ทั้งคำคมที่สร้างแรงบันดาลใจ, อารมณ์ขัน หรือ ทวีตถึงประเด็นต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา และแชร์ความคิดเห็นในหัวข้อที่หลากหลาย รวมถึงการรีวิวอาหารแบบจริงใจ เป็นต้น

ขณะเดียวกันพฤติกรรมของการใช้งานก็เริ่มเปลี่ยนไปด้วย แรกเริ่มจะใช้ทวิตเตอร์กับเรื่องศิลปินเกาหลีหรือเคป๊อป เป็นต้น แล้วขยายสู่เรื่องอื่นๆ ทั้งละคร การจราจร หรือกระทั่งการติดตามเหตุการณ์ข่าวสำคัญๆ ซึ่งข่าวใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ติดอันดับบนทวิตเตอร์ประจำปี 2018 และกลายเป็นเทรนด์ไปทั่วโลกก็คือข่าวปฏิบัติภารกิจ #ถ้ำหลวง แม้ส่วนใหญ่ 10 แฮชแท็กยอดนิยมจะคงเป็นเรื่องของศิลปินและละครก็ตาม

นอกจากนั้นแล้ว การที่กลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์หลักๆในไทยเป็นกลุ่มมิลเลนเนียมหรือที่มีอายุระหว่าง 16 – 34 ปี มากที่สุด จึงเป็นเครื่องมือสำหรับสินค้าที่จะใช้ทำการตลาด หรือโฆษณาเพื่อเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายนี้ได้เป็นอย่างดี

จึงจะเห็นแบรนด์จากหลากหลายวงการทั้งด้านการสื่อสารโทรคมนาคม อาหาร ธุรกิจค้าปลีก และธนาคาร ต่างหันมาเริ่มโปรโมตแคมเปญบนทวิตเตอร์ กันมากขึ้น ตั้งแต่การทำไวรัลคลิป ทำคอนเทนต์ออนไลน์ ไปจนถึงการให้บริการลูกค้าสัมพันธ์แบบออนไลน์ รวมไปถึงการใช้ความโด่งดังของเซเลบดาราให้เกิดประโยชน์ คือสิ่งที่ทำให้ค่าย AIS (@AIS_Thailand) เป็นแบรนด์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดบนทวิตเตอร์ประจำปี 2018

ซึ่งสามารถอ่านยุทธวิธีที่ AIS ใช้ในทวิตเตอร์ได้จากบทวิเคราห์ที่ Positioning เขียนได้ที่ พรีเซ็นเตอร์ดังใช้แล้วโดน จ่ายเท่าไรก็ต้องทุ่ม!! บทพิสูจน์ เมื่อพลังแฟนคลับ PECKxBAMBAM ดันแบรนด์ AIS ลอยลม

สำหรับการลงโฆษณาในทวิตเตอร์นี้ มีรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายบนแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น โฆษณารูปแบบวิดีโอฉายแทรกอยู่บนหน้าไทม์ไลน์ แฮชแท็กเพื่อการโฆษณา และไม่นานนี้ทวิตเตอร์ยังได้เปิดตัวแบบใหม่คือ การโฆษณาอบบ pre-roll มีความยาว 6 วินาที ซึ่งจะเป็นเนื้อหาโฆษณาให้ดูก่อนที่จะเข้าชม โดยทวิตเตอร์จะมีระบบที่จะจัดการได้ว่าโฆษณาใดเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ทวิตเตร์รายใด

นอกจากนั้น ทวิตเตอร์ในไทยยังมีพันธมิตรช่องทีวีมากกว่า 10 ช่อง ที่ทำโฆษณาแบบพรีโรล เช่น ช่องเวิร์คพ้อยท์ ช่องวัน เป็นต้น โดยแบ่งส่วนแบ่ง 50% เท่ากันจากรายได้โฆษณา.

อ้างอิง : https://mgronline.com/business/detail/9620000010208