ผ่าแนวคิด อาทิตย์ “SCB” เขย่าองค์กร สู่วิถี “Agile ทีม”

ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังคงต้องปรับตัวอย่างหนัก เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ภายใต้ยุทธศาสตร์ SCB Transformation โดยวางกรอบการทำงานไว้ในปี 2017-2020 งบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านเทคโนโลยี และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในโลกเทคโนโลยี

การทรานส์ฟอร์มองค์กรไทยพาณิชย์เดินมาแล้วกว่าครึ่งทาง ใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 70% หรือกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท กับเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน

เขย่าโครงสร้างองค์กรด้วย Agile ทีม  

         

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่ากระบวนการ Transformation ได้เดินทางมาถึงภาคสอง บทเรียนถัดไป (Next Chapter) คือการพัฒนา ซอฟต์แวร์ หรือทีมงาน ที่จะมาโอเปอเรตสิ่งที่ได้ลงทุนไปแล้ว เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้าและธนาคาร 

โดยนำวัฒนธรรมองค์กรที่เรียก Agile Organization มาใช้บริหารองค์กรภายใต้ 4 แกน คือ ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) การปรับตัวอย่างรวดเร็ว (Speed) ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Innovation) และการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม (Risk Culture) เพื่อเร่งกระบวนการ Transformation สู่เป้าหมายในปี 2020

แนวคิด Agile เป็นการทำงานที่จะมาขับเคลื่อนองค์กร สร้างวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรแบบร่วมไม้ร่วมมือ เป็นทีมเดียวกัน อาจเปรียบได้กับการ ลงแขก โดยไม่แบ่งแยกแผนก และไม่ทำงานเป็นลำดับขั้นแบบเดิม เป็นรูปแบบการทำงานที่แพร่หลายใน Tech Company และสตาร์ทอัพ

การขับเคลื่อน Agile Organization จึงเริ่มตั้งแต่ผู้บริหารระดับบน คือ คณะผู้จัดการใหญ่ 4 คน ประกอบด้วย สารัชต์ รัตนาภรณ์, อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์, อรพงศ์ เทียนเงิน และ อารักษ์ สุธีวงศ์ ที่ถือเป็น First Agile Team นำวิถีการทำงานใหม่เข้ามาใช้ในองค์กร

ไม่เพียงแต่การปรับเปลี่ยนตำแหน่งของ คณะผู้จัดการใหญ่ เท่านั้น แต่องค์กรจะมีการหมุนเวียนปรับเปลี่ยนตำแหน่งอื่นๆ รวมทั้งจะมีการโปรโมตคนรุ่นใหม่ขึ้นมาในตำแหน่งสำคัญๆ โดยเฉพาะการทำงานด้านดิจิทัล เป็นการ เขย่า องค์กรในหลายตำแหน่ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SCB Transformation

สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ จะเปลี่ยนบทบาทและหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูง เริ่มตั้งแต่ผมที่บทบาทจะเปลี่ยนไป เน้นการเป็นโค้ชให้กับทีมผู้บริหาร

ปรับบทบาทสู่โค้ช

หากสามารถเปลี่ยนแปลงสู่ Agile Organization ได้สำเร็จ สิ่งที่องค์กรจะได้รับ คือ ลูกค้าจะได้ประโยชน์สูงสุด องค์กรจะเป็นที่พึงพอใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยสินค้าและบริการที่มีนวัตกรรมใหม่ ด้วยการทำงานอย่างรวดเร็วกว่าคู่แข่ง  และอยู่ภายใต้การบริหารความเสี่ยงได้ดี ที่ต้องเกิดขึ้นไปพร้อมกัน เป็นไปตาม 4 แกนหลักการขับเคลื่อนองค์กร

ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่ อาทิตย์ บอกว่าเขาต้องเปลี่ยนการทำงานด้วยเช่นกัน และเป็นคนเริ่มต้นก่อน โดยหลังจากนี้บทบาทของผู้บริหารระดับสูงในองค์กรจะต้องเปลี่ยนมาเป็น โค้ช 

หลังจากนี้ผมจะดูแลเรื่องหลักๆ ด้านโปรเจกต์ของธนาคาร เรื่องคน การบริหารความเสี่ยง และยุทธศาสตร์ด้านพันธมิตรเท่านั้น” 

ส่วนงานที่เหลือจะเริ่มส่งไม้ต่อไปที่ คณะผู้จัดการใหญ่ 4 คน และทั้ง 4 คนจะต้องส่งไม้ต่อเป็นทอดๆ ไปยังสายงานปฏิบัติของแต่ละคนเช่นกัน

หลังจากการรับแนวทางการทำงานสู่ Agile Organization รูปแบบการทำงานจะเป็นแนวราบ ลดสายการบังคับบัญชา เน้นทำงานเป็นทีม ให้มีอำนาจในการตัดสินใจ คิดค้นนวัตกรรมสินค้าและบริการ ทดลอง และบริหารความเสี่ยง

เรากำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง เรื่องมายด์เซตของทีมงาน นำวิธีการทำงานแบบใหม่มาใช้ ผมเชื่อมั่นว่าจะทำให้ไทยพาณิชย์แข็งแรงและแข่งขันได้ในโลกของดิจิทัล

เปิดวิชั่น 4 คณะผู้จัดการใหญ่

สารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์กลับหัวตีลังกา ต้องการผลักดันการเติบโตเพื่อมาทดแทนธุรกิจเดิม (New Normal of Growth) โดยธุรกิจแรก คือ การปล่อยกู้ผ่านช่องทาง digital (Digital Lending) ที่จะผลักดันให้ไทยพาณิชย์เป็นธนาคารที่สร้างประสบการณ์ที่ดีในการขอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลให้แก่ลูกค้าทุกกลุ่ม โดยตั้งเป้าหมายปีนี้ไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท

ธุรกิจที่สอง คือ ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง หรือ Wealth Management การให้บริการการลงทุนในต่างประเทศสำหรับลูกค้ากลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีความมั่งคั่งระดับสูง ผ่านบริษัทร่วมทุนกับ Julius Baer และผสมผสานการใช้ AI และ DATA รวมทั้งขีดความสามารถใหม่ๆ ทางเทคโนโลยีเพื่อบรรลุเป้าหมาย การเป็น The Most Admired Bank

อารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การพัฒนาขีดความสามารถใหม่ๆ เพื่อรองรับการเติบโตในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิมนั้น ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงสิ่งที่ได้สร้างในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า

โดยจะผลักดัน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1. Platform Banking ปรับรูปแบบการให้บริการเป็นแพลตฟอร์ม เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หรือในธุรกิจของลูกค้าให้ได้ 2.Partnership Banking ทำงานร่วมกับพันธมิตรในธุรกิจต่างๆ และ 3. Predictive Banking การนำดาต้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อความเข้าใจความต้องการของลูกค้าและทันต่อความต้องการ

อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การผลักดันภารกิจ SCB Transformation ให้สมบูรณ์ คือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ที่เปลี่ยนวิถีการทำงาน โดยเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมการทำงานให้พนักงานมีความกล้าที่จะเรียนรู้ให้เร็ว (learn faster) กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ และลองผิดลองถูกให้เร็ว (fail faster) แก้ไขและปรับปรุงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการให้ Empowerment ในการตัดสินใจ และมี Risk Culture ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็วอย่างมาก

อรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าในอนาคตคู่แข่งของธนาคารจะไม่อยู่ในรูปแบบของธนาคารดั้งเดิมอีกต่อไป แนวทางการทำธุรกิจจากคู่แข่งใหม่ๆ จะมีความยืดหยุ่นสูง ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เร็ว ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ใช้ดาต้ามาช่วยดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างต้นแบบธนาคารแห่งอนาคตที่จะอยู่รอดได้ท่ามกลางคู่แข่งระดับโลกใหม่ที่ไม่ใช่เพียงธุรกิจธนาคาร