เปิดหมดใจ “ประชุม มาลีนนท์” น้องเล็กผู้เข้ามาคุมอาณาจักรช่อง 3 ในวันที่เจอ “โจทย์” ยาก

ประชุม มาลีนนท์ น้องคนเล็กของตระกูล “มาลีนนท์” รับตำแหน่ง CEO บีอีซี เวิลด์ หรือ กลุ่มช่อง 3 ได้เปิดให้ Positioning สัมภาษณ์ ถึงการเข้ามารับตำแหน่งใหญ่ และการมองทิศทางของธุรกิจทีวี พร้อมที่จะปรับตัวหาแหล่งรายได้ใหม่ ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดของทีวีดิจิทัล

ประชุม มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ผู้ชาย 4 และผู้หญิง 4 คน โดยที่เขาเข้ามารับหน้าที่บริหารสูงสุด หลังจากที่บรรดาพี่ชายทั้ง 3 คนผ่านงานใหญ่เหล่านี้มาทั้งหมดแล้ว

“พอเรียนจบมา อายุ 20 กว่าๆ ก็เข้ามาทำงานที่ช่อง 3 ช่วงนั้นคุณประวิทย์ดูแลงานด้านการตลาด ส่วนคุณประชา เป็นผู้ดูแลด้านการผลิต และคุณอัมพร เป็นผู้ช่วยคุณประชา โดยที่ผมเข้ามาทำงานในแผนกของการผลิตรายการ เป็นผู้ช่วยคุณเกียรติก้อง วัฒนสุข ได้เรียนรู้งานผลิตมากมาย ในการช่วย classified งานละครให้มีความหลากหลายมากขึ้น

ช่วงนั้น ช่อง 3 ถือเป็นช่องแรกๆ ที่ปรับรูปแบบละครแบบไม่ต้องมีการบอกบทระหว่างแสดง เพราะคุณประชาต้องการให้เป็นมาตรฐานสากล แล้วพอเราเริ่มเปลี่ยนแปลง ปรากฏว่าทำได้ดี ละครเราเป็นที่นิยม ช่องคู่แข่งก็ทำตาม

โดยพี่น้องมาลีนนท์จะเข้ามาทำงานตามความสนใจ อย่างคุณประชา แสดงความสนใจในเรื่องการผลิต ก็ดูแลการผลิต ในขณะที่คุณประวิทย์ เรียนจบด้าน Industrial Engineer แต่ก็เข้ามาดูแลเรื่องงานขายโฆษณาของสถานี ส่วนตัวคุณประชุมเองนั้น เรียนจบบริหารธุรกิจ การตลาด แต่มีความสนใจเรื่องไอที

ผมทำงานได้ไม่นาน เกิดป่วย จึงหยุดไป และในภายหลังด้วยความสนใจงานด้านไอที ผมก็เลยฉีกไปทำงานใหม่ๆ

ประชุมกล่าว 

โดยช่วงปี 2533 ที่วิชัยได้มอบหมายให้ประชา และประชุม เข้ามาทำธุรกิจสื่อสาร โดยจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เพื่อวางแผนเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ทั้งธุรกิจเพจเจอร์ รวมถึงธุรกิจมือถือ

“เราก็พยายามหาทางเข้าประมูลโครงการสื่อสาร เพราะเราก็มีชื่อเสียงจากธุรกิจทีวีอยู่แล้ว แต่ลูกโป่งแตกเสียก่อน คิดแล้วก็โชคดี ถ้าหากตอนนั้นเราได้โปรเจกต์ใหญ่มา จะกลายเป็นว่าเราจะได้หนี้ก้อนใหญ่ทันที” ประชุมกล่าวถึงอดีตด้วยรอยยิ้ม

เมื่อไม่ได้ทำธุรกิจโทรคมนาคม จึงหันมาศึกษาธุรกิจเคเบิลทีวี แต่เมื่อผลวิเคราะห์ออกมา พบว่าไม่คุ้ม โครงการนี้ก็ต้องเลิกไปเช่นกัน

ต่อมาประชุมได้กลับเข้ามาช่วยงานในช่อง 3 โดยเข้าไปรับผิดชอบบุกเบิกงานด้านไอที เพราะมีความสนใจส่วนตัว โดยวางระบบไอทีของกลุ่มบีอีซีทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มทำบัญชี และการขาย

“มีวันหนึ่งคุณพ่อ (วิชัย) เรียกผม และคุณแคทลีน (ลูกสาวคุณประชา) มาคุยเรื่องการขยายงานในด้านเทคโนโลยี ในฐานะที่คุณพ่อท่านเป็นพ่อค้า ที่มองเห็นกระแสการเปลี่ยนแปลงของวงการธุรกิจ เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมเข้ามาทำ ที่ BECi“

บีอีซี ไอ คอร์ปอเรชั่น จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 มีวัตถุประสงค์คือทำธุรกิจมัลติมีเดีย และอินเทอร์เน็ต

ประชุมบอกว่า การที่สนใจทำธุรกิจอินเทอร์เน็ต เพราะเวลานั้น Time Warner ยักษ์ใหญ่วงการมีเดียของอเมริกาเข้าไปซื้อกิจการบริษัทอื่นๆ กลายเป็นบริษัทด้าน entertainment และ telecom รายใหญ่ระดับโลกรายหนึ่ง

ตั้งเป้าหา professional ช่วยบริหารกลุ่มช่อง 3

ประสาร มาลีนนท์

การเปลี่ยนแปลงชีวิตในหน้าที่การงานครั้งใหญ่ของประชุม จากที่ดูแลงานด้านไอที ต้องเข้ามารับตำแหน่ง CEO บริษัท หลังจากการเสียชีวิตของพี่ชายคนโต “ประสาร มาลีนนท์”

ที่ผ่านมาตำแหน่ง CEO ของกลุ่มช่อง 3 เป็นของลูกชายของตระกูลมาลีนนท์มาตั้งแต่ยุคของประวิทย์ มาลีนนท์ มาจนถึง ประสาร มาลีนนท์ ยกเว้น ประชา มาลีนนท์ จึงเป็นโอกาสของน้องชายคนเล็กของครอบครัว

การเข้ามาที่ตำแหน่งตรงนี้ของผม มันเป็นเรื่องของจังหวะมากกว่า อย่างที่ทุกคนก็รู้กัน ผมเข้ามาเพราะคุณประสารเสียชีวิต และตำแหน่งนี้ว่างลง

โดยการเข้ามารับตำแหน่งใหญ่ของประชุมนั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของบรรดาพี่สาวทั้ง 4 คน ที่เป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มช่อง 3

จากข้อมูลที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุด 4 สาวพี่น้อง นิภา – รัตนา – อัมพร มาลีนนท์ และ รัชนี นิพัทธกุศล, ถือหุ้นรวมกัน 27.78% รองลงมาคือกลุ่มครอบครัวประสาร ที่ถือหุ้นรวมกัน 5.90%, กลุ่มประชุม ถือหุ้น 4.165% และกลุ่มประชา 2.52% โดยที่กลุ่มประวิทย์ขายหุ้นทิ้งไปหมดแล้ว แต่ตอนที่ประชุมเข้ามารับตำแหน่งนั้น กลุ่มประวิทย์ยังถือหุ้นรวมกันอยู่ประมาณ 5.88%

การมารับตำแหน่งของน้องคนเล็ก เป็นช่วงที่ “ท้าทาย” ของช่อง 3 อย่างมาก นอกจากแข่งขันกับทีวีดิจิทัลด้วยกันถึง 25 ช่องแล้ว แถมช่อง 3 ยังประมูลมาถึง 3 ช่อง ซึ่งเป็นภาระต้นทุนที่หนักหน่วงแล้ว ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสื่อออนไลน์ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็น “เวที” แข่งขันใหม่ที่ช่อง 3 ยังไม่คุ้นเคย จึงเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาที่ต้องการ “มืออาชีพ” จากภายนอกเข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ 

“ช่วงที่คุณประสารยังอยู่ ทางครอบครัวได้มีการคุยกันเรื่องการหาผู้บริหารมืออาชีพมาช่วยเราบริหาร มีการ search หา professional กันมานาน แต่ก็ยังไม่ได้ทำสักที จนกระทั่งได้โอกาสเมื่อผมมารับตำแหน่ง”

สมประสงค์ บุญยะชัย

ประชุมได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากพี่น้องฝ่ายผู้หญิง 4 คน โดยเลือกกลุ่มผู้บริหารมืออาชีพกลุ่มแรก นำทีมโดยสมประสงค์ บุญยะชัย อดีตผู้บริหารมือดีจากเอไอเอสค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ของไทย พร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างทีมผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอก ในรูปแบบ Group C level 13 คน รวมทั้งยังได้ว่าจ้างที่ปรึกษาอีกจำนวนหนึ่ง เข้ามาศึกษาธุรกิจขององค์กร

แต่การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถทำได้โดยง่าย เพราะส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับธุรกิจมีเดีย แข่งขันสูง ทำให้ผลประกอบการปี 2560 ของกลุ่มช่อง 3 ยังไม่ดีขึ้น โดยปี 2560 บีอีซี เวิลด์ หรือกลุ่มช่อง 3 มีกำไรจากผลประกอบการเพียง 61 ล้านบาทเท่านั้น จากปี 2559 ที่ยังมีกำไรอยู่ที่ 1,218 ล้านบาท

ในปี 2561 บรรดาผู้บริหารมืออาชีพที่เข้ามา ทยอยลาออก หรือพ้นจากตำแหน่งไป

ประชุมบอกว่า “การหาผู้บริหารมาแต่ละครั้ง ล้วนมีวัตถุประสงค์ ทีมแรกที่เข้ามานั้น เพื่อรักษา Market Share และ Constructive (สร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ) มากขึ้น“

เมื่อถามว่าประเมินผลงานของทีมผู้บริหารมืออาชีพชุดแรกเป็นอย่างไร ประชุมบอกว่า “ผมเป็นส่วนหนึ่งของทีมนี้ในฐานะ CEO ดังนั้น พูดยาก เพราะถ้าพูดว่าดี ก็กลายเป็นการยกตัวเอง แต่บรรดาผู้ถือหุ้นและคนทำงานทั้งหมดทราบเรื่องดี ว่าโจทย์ทั้งหมดมันยาก มัน dynamic มาก”

ประชุมยังบอกอีกว่า ผู้บริหารที่ทยอยลาออกไปนั้น ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง ที่บางคนก็ไปด้วยเรื่องส่วนตัว บางคนก็มองว่านี่ ไม่ใช่ career path ของเขา ทุกอย่างเป็นการปรับด้วยเหตุผลของแต่ละคนเอง บางครั้งเราอยากให้เขาอยู่ทำงานแต่เขาเลือกที่จะไป

โดยจากนี้ โครงการสร้างผู้บริหารในกรุ๊ป C ยังมีอยู่ แต่อาจจะมีการปรับวิธีคิด และรูปแบบการทำงานให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ตำแหน่งผู้บริหารในกรุ๊ป C Level จากทั้งหมด 13 คนลดลงเหลือเพียง 8 คน ได้แก่ ประชุม มาลีนนท์ Chief Executive Officer, อัมพร มาลีนนท์ Chief Operating Officer, พิริยดิส ชูพึ่งอาสน์ Chief Financial Officer, รณพงษ์ คำนวณทิพย์ Chief Commercial Officer, ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย Chief Corporate Affair Officer, นพดล เขมะโยธิน Chief Investment Officer, น้ำทิพย์ พรหมเชื้อ Chief Strategy Planning Officer และ สมรักษ์ ณรงค์วิชัย Chief Production Officer

ส่วน สมประสงค์ ที่จากเดิมเคยเป็น ประธานคณะกรรมการบริหาร และจำเป็นต้องลาออกมาเป็นแค่บอร์ดบริษัท เพราะงานรัดตัว ไม่ค่อยมีเวลา แต่ตอนนี้ก็ยังเข้ามาช่วยอยู่ใน committee ชุดต่างๆ และยังมีอีกหลายคนที่จะมาช่วยดูเรื่องงาน Audit เพื่อความถูกต้อง เช่น การจ่ายค่าตอบแทนผู้บริหาร เพื่อให้เป็นธรรมและถูกต้องตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฯ

สำหรับการรับผู้บริหารใหม่เข้ามาช่วยงานนั้น ประชุมบอกว่า “ผู้บริหารที่อยากได้นั้น เขาต้องสามารถ drive ให้การทำงานเป็นไปตามเป้าได้ ต้องมีความเชี่ยวชาญหลากหลาย Factor มากที่สุด รู้ทั้งเรื่องการตลาด มีเดีย การสร้าง Network และต้องเป็นคนที่สามารถผลักดันการทำงานให้เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว ต้องช่วยหา Partner ได้เร็วด้วยเช่นกัน”

เรามีการปรับตลอดเวลา เรามองที่โจทย์ ไม่ใช่คน ถึงจะบอกได้ว่าจะต้องการคนเก่งแบบไหนเข้ามา ต้องคอยติดตามกันต่อไปละกัน ผมคงตอบไม่ได้ในตอนนี้ จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของตลาดหลักทรัพย์ฯ

เป้าหมาย ลดต้นทุน หารายได้ใหม่ 

ประชุมบอกว่า ภาพรวมบริษัทมีโจทย์ใหญ่ๆ คือการต้องพยายามหารายได้ให้มากขึ้น และพยายามคุมค่าใช้จ่ายไปด้วย เพื่อให้บริษัทยังคงทำกำไร

“ถ้าไม่มีกำไร เราก็ไปต่อไม่ได้ เพราะเราเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ จึงต้องควบคุมค่าใช้จ่าย ต้นทุน ในขณะที่บรรดารายเล็กๆ เขาก็ต้อง focusที่เงินสดมากกว่า”

ประชุมมองว่า ปัญหาของวงการทีวีดิจิทัลตอนนี้ คือการมี supply มากกว่า demand จากการที่ที่มีทีวีดิจิทัลหลายช่องมากเกินไป และยังมีสื่อ OTT ออนไลน์เข้ามาแข่งขันอีก เป็นเรื่องของเทคโนโลยี disrupt ที่ทุกคนจะต้องรับ และปรับตัวให้ได้

เมื่อแกนของช่อง 3 คือคอนเทนต์และดารา ดังนั้นจะต้อง Utilize ให้ได้เกิดรายได้สูงสุดได้ อาจจะต้องนำเอาเรื่องเทคโนเข้ามาช่วยเสริม ทุก channel ทำอย่างไรที่จะเอาคอนเทนต์ของเรา มา broadcast ให้เข้าถึงคนดูทั่วประเทศให้ได้มากที่สุด

โดยรวม ช่อง 3 และ 7 ยังเป็น leader แต่ความห่างของคู่แข่งไม่ได้ไกลแบบเมื่อก่อนแล้ว ทุกคนต่างกำลังวิ่งแข่ง ดังนั้นทุกช่องจะต้องมีความพร้อมและความสามารถในการแข่งขัน

“กลุ่ม BEC ไม่ใช่มีแค่ช่อง 3 ช่อง 28 หรือช่อง 13 แต่เรายังมี OTT แพลตฟอร์ม Mello และมีช่องทางที่จับมือกับพาร์ตเนอร์ที่จับมือกับ LINE, YouTube และยังมี Tencent ในประเทศจีน กลยุทธ์ของเราคือ มีทั้ง synergy กับพาร์ตเนอร์ และยังเป็น Friend-emy  (friend + enemy) โดยที่เราจะทำตัวเป็น Media Content Provider

ดังนั้นเป้าหมายในปีนี้ของกลุ่ม BEC คือ จะต้อง Utilize asset ทุกด้านให้เป็นประโยชน์มากที่สุด รวมถึงช่องทาง OTT รับจ้างผลิตคอนเทนต์ และที่สำคัญจะต้องบริหารศิลปิน นักแสดงในสังกัดช่องทำให้เป็นเม็ดเงินมากสุด โดยจะหารูปแบบในการทำโมเดล ที่ต่อยอด สร้างอีเวนต์ คอนเสิร์ต เป็นงานที่เพิ่มรายได้ให้ทั้งช่อง และดาราเองก็ได้ด้วยจากกิจกรรมทั้งรูปแบบ on ground และ online ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มช่อง 3 เป็นช่องหลัก ที่มีประสบการณ์มากที่สุด มี resource มากที่สุดช่องหนึ่ง

“จริงๆ แล้วสนามรบปีนี้และปีที่แล้ว เป็นเรื่องการทำตลาด ที่เริ่มมีการแข่งขันเรื่อง product คอนเทนต์ ทำให้แต่ละช่องใช้กลยุทธ์ต่างกัน บางช่องสร้างรายการขึ้นใหม่ บางช่องนำมาจากช่องอื่น แต่เราจะต้องพยายามฉีกหนีคู่แข่งออกไปให้ได้ เพราะฝีเท้าคู่แข่งไล่หลังมาแล้ว เราทำตัวให้เบาขึ้น วิ่งไกลขึ้น และอดทนมากขึ้น”  

“หม้อข้าว ยังมีอยู่แค่หม้อเดียว แต่มีคนกินมากขึ้น ก็จะเกิดคนตัวใหญ่ และคนตัวเล็กที่แตกต่างกัน”  

สำหรับชีวิตส่วนตัวของประชุม มาลีนนท์ นั้น ประชุมบอกเองว่า เขาไม่ใช่คนชอบเข้าสังคม แต่เนื่องจากหน้าที่และความรับผิดชอบ ทำให้เขาต้องทำงานตามหน้าที่

“Personal life ของผมที่ผ่านมา ไม่เข้าสังคมมาก ผมเป็นคนชอบเก็บตัว ไม่ชอบไปไหน แต่ตอนนี้ผมก็ปรับตัวได้แล้ว และก็อยู่กับมันได้ วันเวลาว่างของผม ก็ไปไหว้พระ ไปเที่ยวบ้าง เพราะผมชอบเดินทาง แต่ช่วงนี้มีปัญหาเรื่องสุขภาพส่วนตัว ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปได้มาก”