ต้องนับเป็นอีกหนึ่งใน “สถานการณ์” ตอกย้ำความยากลำบากของสายการบิน “นกแอร์” ที่ต้องเผชิญกับปัญหาขาดทุน จนต้องใช้สูตรเพิ่มทุนเพื่อแก้ปัญหามาแล้วหลายครั้ง
แต่แล้วการบินไทย แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ (13 ก.พ.62) ตัดสินใจไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนสายการบินนกแอร์ ตามที่นกแอร์ได้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ในราคาหุ้นละ 2.75 บาท ซึ่งได้รับสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุน 198,156,288 หุ้น รวมเป็นเงิน 544.93 ล้านบาท
เมื่อไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน ส่งผลให้การบินไทยถือหุ้นในสายการบินนกแอร์ลดลง จาก 21.80% เหลือ 15.94% หรือลดลง 5.86%
สาเหตุการที่การบินไทยตัดสินใจไม่เพิ่มทุนในสายการบินนกแอร์ แม้จะใช้เงินไม่เยอะ 544 ล้านบาท แต่เนื่องจากแผนธุรกิจและจุดยืนในการทำธุรกิจของนกแอร์ยังไม่ชัดเจนและไม่สอดคล้องกับการบินไทยจึงอาจมีความเสี่ยงในการลงทุน
ทางด้าน สายการบินนกแอร์ ออกมาระบุว่า ผู้ถือหุ้นตอบรับการเพิ่มทุนแล้ว 2,300 ล้านบาท (ตั้งเป้าจะได้เงินเพิ่มทุน 2,500 ล้านบาท) ดังนั้นนกแอร์จะเดินหน้าตามแผนปรับปรุงธุรกิจเป็นเงินทุนหมุนเวียน ลดภาระหนี้สิน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้จะนำมาใช้ปรับปรุงฝูงบินและลดต้นทุนบริหารจัดการ
หากเป็นไปตามแผน นกแอร์คาดว่าจะหยุดขาดทุนได้ภายในปีนี้ เนื่องจากที่ผ่านมานกแอร์นั้นต้องประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 โดยปี 2559 ขาดทุนสูงถึง 2,795 ล้านบาท ส่วนปี 2561 เฉพาะ 3 ไตรมาส ขาดทุน 1,962 ล้านบาท สูงกว่า ทั้งปี 2560
ดูเหมือนว่า การเพิ่มทุน จะเป็นสูตรการแก้ปัญหา อาการ “ขาดทุน” ที่อยู่ในภาวะ “เลือดไหล” ไม่หยุด ของ นกแอร์ มาตลอด นับตั้งแต่ยุค พาที สารสิน จนเกิดการเปลียนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ จากการบินไทย มาเป็น “กลุ่มจุฬางกูร” ถือหุ้นรวมกัน 49.34% การบินไทย 21.80%
แต่การเพิ่มทุน 2 รอบ รวมกัน 2.9 พันล้านบาท ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น จนมีกระแสข่าวว่ากลุ่มจุฬางกูรอาจตัดสินใจขายหุ้นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ โดยได้แต่งตั้งให้ ประเวช องอาจสิทธิกุล มารักษาการแทน ปิยะ ยอดมณี ที่ลาออกไปเมื่อปีที่แล้ว
ต้องรอดูว่าจากนี้นกแอร์จะหยุดปัญหาขาดทุนให้ได้ภายในปี 2562 ท่ามกลางกระแสการแข่งขันโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ความผันผวนของราคาน้ำมัน ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่.