เปิดเส้นทาง “ธนวัฒน์ วันสม” ทำไมต้องเป็นธุรกิจประกวดความงาม

ชื่อของ “ป๊อป – ธนวัฒน์ วันสม” เป็นที่รู้จักในแวดวงสื่อครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อก้าวสู่ตำแหน่ง “กรรมการผู้อำนวยการใหญ่” บมจ. อสมท ในปี 2552 ด้วยวัยเพียง 38 ปี

หลังพ้นตำแหน่งจาก อสมท ในปี 2554 “ธนวัฒน์” ไม่ได้ปรากฏตัวในธุรกิจสื่ออีกเลย จนกระทั่งปรากฏชื่อเป็นผู้ได้รับสิทธิ์จัดประกวด “มิสยูนิเวิร์ส 2018” แม้ท้ายที่สุดจะถูกยกเลิกสิทธิ์ แต่การคว้าสิทธิ์จัดประกวด Miss World 2019 ครั้งแรกในประเทศไทยในรอบ 69 ปีของเวทีนี้ ตอกย้ำความสนใจในธุรกิจประกวดความงาม ทั้งเวทีระดับประเทศ และระดับโลก

“ธนวัฒน์” จบการศึกษาปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ ยูซีแอลเอ สหรัฐอเมริกา และปริญญาโท MM (EMBA) บริหารธุรกิจ สถาบันศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจบการศึกษาจากสหรัฐฯ เขาเริ่มงานแรกในปี 2538 ที่ “ไทยสกายทีวี” ธุรกิจเคเบิลทีวี ที่ดำเนินการโดย บริษัท สยาม บรอดแคสติ้ง จำกัด ในเครือธนายง ภายใต้สัมปทานกับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) หรือ บมจ.อสมท ในขณะนั้น

จากนั้นปี 2540-2543 “ธนวัฒน์” ดำรงตำแหน่งรองประธานภูมิภาค สตาร์ทีวี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทลูกของ “สตาร์ กรุ๊ป” ฮ่องกง ในเครือบริษัทสื่อชั้นนำของโลก “New Corporation”.

เริ่มงานประกวด

ช่วงปี 2543 -2546 เป็นกรรมการผู้จัดการ แชนแนลวี ประเทศไทย ธนวัฒน์ เล่าว่าช่วงนี้เริ่มเข้าสู่งานด้านการจัดประกวดทาเลนต์ เพื่อตัดเลือก “วีเจ” แชนแนลวี

โดยก้าวเข้าสู่การจัดประกวด เวทีแรกคือ Elite Model Look Thailand 2003 การประกวดนางแบบ เป็นตัวแทนนางแบบไทย ก้าวสู่แคตวอล์กอินเตอร์

ปี 2546-2549  นั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ท็อปคอร์ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 

ปี 2549-2550 ที่ปรึกษาอาวุโส Lumina-Looque International Pte Ltd. ปี 2550-2550 เป็นที่ปรึกษาอาวุโสพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตนา กรุ๊ปจำกัด (มหาชน)

นั่ง อสมท จัดนางสาวไทย

ในปี 2550 ธนวัฒน์ มีชื่อเป็นหนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท แต่ครั้งนั้น คณะกรรมการ อสมท มีมติเลือก “วสันต์ ภัยหลีกลี้” ซึ่งในการคัดเลือกกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ปี 2552 ธนวัฒน์ ลงสมัครคัดเลือกอีกครั้ง และครั้งนี้เขาเป็นผู้คว้าชัย

การทำงานที่ อสมท ปี 2552-2554 ธนวัฒน์ บอกว่า เขามีประสบการณ์จากการจัดประกวด “นางสาวไทย” ซึ่งสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยช่อง 9 เริ่มจัดประกวดและถ่ายทอดสดครั้งแรกในปี 2551

เมื่อพ้นตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ในปี 2554  ธนวัฒน์ เล่าว่า ได้เข้าไปทำงานที่กลุ่มซีพี ในส่วนสำนักงาน คุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ดูแลด้านการลงทุนใหม่ๆ โฟกัสงานธุรกิจสื่อสารบันเทิง ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยทำงานถึงช่วงปลายปี 2561

ก้าวสู่เวทีระดับโลก

ชื่อของ ธนวัฒน์ กลับสู่แวดวงสื่ออีกครั้ง ในฐานะ ประธานกรรมการผู้บริหาร TW Investment Group ซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้งร่วมกับพาร์ตเนอร์ ได้ประกาศเป็นผู้คว้าสิทธิ์จัดประกวด “มิสยูนิเวิร์ส 2018” ในเดือนสิงหาคม หลังจากนั้นเดือนตุลาคม 2561 “มิสยูนิเวิร์ส” ยกเลิกสิทธิ TW Investment Group โดยสิทธิการจัดประกวด มาตกอยู่ในมือหุ้นส่วนธุรกิจ “ตี๋ แม็ทชิ่ง” และเกิดมหากาพย์ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหาย 600 ล้านบาทในขณะนี้

แม้ไม่ได้จัดประกวด “มิสยูนิเวิร์ส” แต่ปีนี้ ธนวัฒน์ คว้าสิทธิ์จัดประกวด Miss World 2019 ครั้งที่ 69 มาครองได้สำเร็จ หลังจากใช้เวลาติดต่อมา 3 ปี การประกวดรอบชิงชนะเลิศจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ช่วงกลางเดือนธันวาคม และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการประกวดมิสเวิลด์ ที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ เรียกว่าครั้งนี้มีเวลาเตรียมตัวกันยาวเกือบ 10 เดือน

ก่อนหน้าการประกาศคว้าสิทธิ์ “มิสเวิลด์ 2019” ทีดับเบิลยู เพเจ้นส์ ได้รับสิทธิเป็นผู้จัดประกวด “นางสาวไทย” จากสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยมาถึง 5 ปี คือ ปี 2562-2566 และนับเป็นเวทีที่ ธนวัฒน์ คุ้ยเคยมาแล้วในยุคทำงานที่ อสมท

อาจมีถามว่าทำไม ธนวัฒน์ จึงสนใจธุรกิจการจัดประกวดความงามทั้งเวทีระดับประเทศและนานาชาติ เขาบอกว่า TW Investment Group เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นที่มองโอกาสการลงทุนธุรกิจสื่อและบันเทิง ทั้งไทยและต่างประเทศ การประกวดความงาม เป็นธุรกิจที่สามารถต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นๆ ได้ ทั้งในแง่ของสปอนเซอร์ ที่สินค้าเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมความงาม ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลย่อมสนใจ การบริหารทาเลนต์จากเวทีประกวด นอกจากการจัดประกวดความงามแล้ว ปีนี้จะมีการลงทุนภาพยนตร์และเกม เพิ่มเติมอีกด้วย.