จัดต่อเนื่องมาเป็นเวลาถึง 7 ปีเต็ม สำหรับ ดีแทค แอคเซอเลอเรท เพื่อสนับสนุนเหล่า “สตาร์ทอัพ”
โดยปีนี้ได้เปิดหลักสูตรใหม่ A Academy สำหรับสตาร์ทอัพที่อยู่ในกลุ่มระดับซีรีส์ A ซึ่งครั้งนี้เป็นการลงทุนของกลุ่มนักลงทุนในระดับ Venture Capital และ Corporate Venture Capital ที่มีมูลค่าการลงทุนอยู่ในช่วง 1 – 15 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 33 – 495 ล้านบาท เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในภูมิภาคเอเชียและระดับโลก หลังพบสตาร์ทอัพไทยติดกับดัก ซีรีส์ A หรือ Series A bottleneck ไม่สามารถโตต่อไปได้ และเพื่อเชื่อมโยงเทคโนโลยีจากธุรกิจสตาร์ทอัพมาช่วยสร้างระบบนิเวศ 5G พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย
การทำดีแทค แอคเซอเลอเรท นั้น เป็นเป็นผลดีต่อดีแทคเอง อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดีแทคตั้งใจที่จะนำเอาดีแทค แอคเซอเลอเรท สตาร์ทอัพเข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจใน 2 ด้านหลัก คือ 1.ช่วยขับเคลื่อนองค์กรใหญ่ของดีแทค ไปสู่ Digital Transformation โดยการปรับวัฒนธรรมการทำงานในองค์กรแบบอไจล์ (Agile) ที่นำเอาแนวคิดการทำงาน และที่ปรึกษาสตาร์ทอัพ จาก ดีแทค แอคเซอเลอเรท เข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของพนักงานในองค์กร
2. การสร้างระบบนิเวศ เป็นหัวใจสำคัญของการเปิดให้บริการ 5G รวมทั้งหากรณีศึกษา เพื่อการใช้งานจริงในโลกธุรกิจ ดีแทค แอคเซอเลอเรท จะช่วยผลักดันให้เกิดบริการที่สร้างสรรค์ โดยได้นำเอาแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพมาช่วยสนับสนุนต่อยอด นำเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการ และนำสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการทดสอบ 5G Testbed โดยมีแพลตฟอร์มจากสตาร์ทอัพ Ooca และ Globlish เข้าร่วมทดสอบด้วย
ปลดล็อกสตาร์ทอัพไทย ซีรีส์ A ยูนิคอร์น
ปัจจุบันดีแทค แอคเซอเลอเรทมีสตาร์ทอัพที่ผ่านการระดมทุนระดับ Series A จำนวน 6 ธุรกิจ ในขณะที่ยังมีอีก 23 ธุรกิจที่ผ่านการระดมทุนระดับเริ่มต้น (Seed) โดยมูลค่าของการระดมทุนจะอยู่ในช่วง 20,000 – 50,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 600,000 บาท – 1.5 ล้านบาท ซึ่งยังไม่สามารถระดมทุนต่อไปถึง Series A ได้
ตัวโครงการ A Academy จะมุ่งเน้นไปที่การเตรียมความพร้อมสำหรับการระดมทุนในรอบการระดมทุนที่มีมูลค่าสูง รวมไปถึงการเข้าถึงลูกค้าที่มากขึ้น และการนำเทคโนโลยีขั้นสูง เข้ามาปรับใช้กับธุรกิจ เช่น นำการเรียนรู้ของ Machine Learning และ AI มาปรับใช้กับธุรกิจ เป็นต้น
ในโครงการนี้ ได้เชิญ VC ชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย เช่น 500Tuktuks/ Golden Gate Ventures/ Line Ventures/ KK Fund และ Monk’s Hill Ventures เข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการระดมทุน การจัดรูปแบบด้านการเงิน และแบ่งปันเทคนิคต่างๆ และยังได้ร่วมมือกับ Google Launchpad Accelerator มาฝึกอบรมให้กับสตาร์ทอัพ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้าน Machine Learning และ AI จาก Amazon Web Service และ Google Cloud
หลักสูตร A Academy เป็นโครงการที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถที่จะสร้างมูลค่าของบริษัทให้ได้ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ โครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่เป็นหนึ่งในโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท ให้กลายเป็นยูนิคอร์นต่อไป
เป้าหมายของดีแทค แอคเซอเลอเรท ปี 7 คือ มองหาธุรกิจที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพ เกษตรกรรม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน e-commerce การท่องเที่ยว insurtech และอื่นๆ
ลงทุนสตาร์ทอัพไทย ตกต่ำลงเป็นปีแรก
ทางด้าน สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ ดีแทค แอคเซอเลอเรท กล่าวว่า ในประเทศไทยมีสตาร์ทอัพไม่ถึง 10% ที่ได้รับการลงทุนจาก Seed ไปถึง Series A ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมาก ซึ่งในกลุ่มสตาร์ทอัพ ดีแทค แอคเซอเลอเรท มีถึง 25% ที่สามารถระดมทุนจาก Seed ถึง Series A ดีแทคอยากที่จะเพิ่มอัตราส่วนการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยให้ได้มากกว่านี้ โดยดีแทค แอคเซอเลอเรท เข้ามาช่วยปลดล็อกการลงทุนใน Series A เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตต่อไปได้และไม่กลายเป็นซอมบี้ (Zombie)
ทั้งนี้ การลงทุนในสตาร์ทอัพไทยพบข้อมูลจาก Techsauce Startup Report 2561 ระบุถึงสถิติการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ตั้งแต่ปี 2558 มีการลงทุนเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี 2561 ที่ผ่านมา การลงทุนลดลงเหลือเพียง 61 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2560 ที่มีจำนวน 105 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะไม่มีการลงทุนในดีลใหญ่ๆ ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา
โดยสาเหตุหลักที่ไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่มี 3 ประการคือ 1. นักลงทุนหันไปลงทุนในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าในไทย เช่น ไปลงทุนที่เวียดนาม เนื่องจากมีคนที่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีที่มากขึ้น ทำให้เวียดนามสามารถดึงดูดนักลงทุนให้ไปลงทุนได้มากกว่า ในเวียดนามมีการลงทุนถึง 890 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 92 ดีล
2. การแข่งขันที่รุนแรง จากแพลตฟอร์มซูเปอร์แอป (super app) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่น ที่ครอบคลุมทุกบริการ และต้องการให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้งานเป็นประจำทุกวัน ทำให้สตาร์ทอัพในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง ต้องออกจากธุรกิจ เพราะสู้ไม่ได้ เช่น Line และ Grab ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซูเปอร์แอปดังกล่าว แสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตร หรือควบรวมกิจการ สร้างอีโคซิสเต็ม ขยายบริการใหม่ๆ ที่ตอบสนองผู้ใช้งานได้ครบครันในแอปเดียว เช่น บริการส่งของ ส่งอาหาร บริการด้านการเงิน ทำให้ผู้ใช้งานสะดวกสบาย โดยไม่ต้องใช้แอปอื่น
3. ต้นทุนในการที่ได้ลูกค้า (Customer Acquisition Cost หรือ CAC) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจสตาร์ทอัพจำนวนมากจึงเริ่มที่จะเปลี่ยนรูปแบบจาก B2C (Business to Consumer) คือ การที่ธุรกิจขายสินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโภคทั่วๆ ไปโดยตรง ไปสู่ B2B (Business to Business) ทำธุรกิจโดยขายสินค้าหรือบริการ ให้กับลูกค้าที่เป็นองค์กร ไม่ใช่รายบุคคล เพื่อสร้างรายได้ที่มากขึ้น ซึ่งรูปแบบธุรกิจ แบบ B2B ที่มีศักยภาพในการเติบโตแบบก้าวกระโดด (scalable business model) ได้นั้นก็ทำได้ยาก
ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีการลงทุนในสตาร์ทอัพสัญชาติไทยทั้งสิ้น 34 รายการ โดยมีมูลค่าระดมทุนทั้งสิ้น 61 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมี 7 รายการที่เป็นสตาร์ทอัพจาก ดีแทค แอคเซอเลอเรท โดยมีมูลค่าระดมทุนทั้งสิ้น 11 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่ากับ 17% ของการลงทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งสตาร์ทอัพไทยที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ Fastwork ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าการระดมทุนสูงที่สุดในระดับ Series A ที่ผ่านมา นอกจากนี้ Ricult ก็ได้รับการระดมทุนระดับ Seed Fund ที่สูงที่สุดของหมวดเกษตรกรรมประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันดีแทค แอคเซอเลอเรท มีสตาร์ทอัพในโครงการรวมทั้งสิ้น 46 ธุรกิจ มีอัตราความสำเร็จของธุรกิจคิดเป็น 70% โดยคิดเป็นมูลค่ารวมอยู่ที่ 5.1 พันล้านบาท และมีปริมาณการระดมทุนคิดเป็นมูลค่า 870 ล้านบาท.
เปิด 2 หลักสูตร
สำหรับดีแทค แอคเซอเลอเรท ปี 7 เปิด 2 หลักสูตร คือ 1. หลักสูตรบ่มเพาะสตาร์ทอัพน้องใหม่ ทั้งในระดับ Incubator Track สำหรับผู้ที่มีไอเดีย แต่ยังไม่เกิดเป็นธุรกิจ และ Accelerator Track สำหรับธุรกิจที่ต้องการเติบโตอย่างรวดเร็ว
และ 2. หลักสูตร A Academy สำหรับสตาร์ทอัพในครอบครัวดีแทค แอคเซอเลอเรท ที่จัดอยู่ในกลุ่มการลงทุนระดับ ซีรีส์ A โดยร่วมกับ Google / 500 สตาร์ทอัพ และ VCs กลุ่มนักลงทุนชั้นนำในเอเชีย เป็นการสนับสนุนเส้นทางการหาเงินทุน ที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพได้เงินทุนในมูลค่าถึง 100 ล้านเหรียญ และช่วยผลักดันสตาร์ทอัพในครอบครัวดีแทค แอคเซอเลอเรท ได้เป็นยูนิคอร์นจากประเทศไทย เป็นรายแรก
โดย เปิดรับสมัครสตาร์ทอัพที่สนใจ เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันนี้ถึง 16 เมษายน 2562
– โรดโชว์ไปแนะนำโครงการ ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 13 มีนาคม ขอนแก่น วันที่ 19 มีนาคม ภูเก็ต วันที่ 21 มีนาคม และเชียงใหม่ วันที่ 27 มีนาคม 2562 สามารถส่งใบสมัครทางออนไลน์ ได้ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 16 เมษายน 2562 ผ่านทาง https://accelerate.dtac.co.th/en/home
มีอะไรใหม่ใน dtac accelerate ปี 7
- มีเมนเทอร์ใหม่ 2 คน เจษฎา สุขทิศ CEO และผู้ก่อตั้ง Finnomena (dtacacceletate Batch 4) และ ณธิดา รัฐธนาวุฒิ ผู้ก่อตั้ง Marketing Oops
- ไฮไลต์กูรูสตาร์ตอัพในด้านต่างๆ คือ NirEyal ที่จะมาสอนเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ Jacob Greenspan สอนเรื่องการออกแบบ UI/UX และ Scott Bales สอนเรื่อง Customer Validation
- พันธมิตรทางด้านเทคโนโลยีการเงิน (Official Finance Technology Partner) : KBTG
- พันธมิตรผู้สนับสนุนรางวัล (Award Sponsors) : เมืองไทยประกันชีวิต (Muang Thai Life Assurance) สิริ เวนเจอร์ (Siri Ventures) ปตท. (PTT) และ Line
- ผู้สนับสนุนรางวัลขวัญใจมหาชน (Popular Vote Award Sponsor) : WeWork / WeWork Labs
- พันธมิตรด้านเทคโนโลยี (Technology Partners)
- Tier 1: Amazon Web Services, Google Cloud, Facebook Start, Line ScaleUp
- Tier 2 :HubSpot, Appsflyer, Digital Ocean, Cloudee, Knowlarity