ใช่แต่การเมืองเท่านั้น ความร้อนแรงของไทยพรีเมียร์ลีก ยังส่งผลให้เหล่านักธุรกิจต่างสบโอกาส ต้องการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลกันถ้วนหน้า ล้วนแต่เป็นระดับบิ๊กเนมทั้งนั้น เพราะกระแสความนิยมของแฟนคลับ สะท้อนชัดว่าธุรกิจนี้เป็นระดับ Rising Star ที่เห็นโอกาสทำเงินเห็นๆ
ยิ่งกติกาของบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกที่ต้องการให้ทีมฟุตบอลปรับตัวเป็นมืออาชีพ มีระบบบริหารจัดการเป็นสากล สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เป็นแรงสโมสรฟุตบอลต้องเปิดทางให้กลุ่มธุรกิจเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล หรือมาร่วมหุ้นลงขันกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยหวังจะใช้ประสบการณ์ทางธุรกิจและเงินทุนจากกลุ่มธุรกิจเข้ามาต่อยอดเรื่องของบริหารจัดการ สร้างดีมานด์ขึ้นมาในตลาด
เมืองทอง ยูไนเต็ด ที่กลายเป็นตำนานความสำเร็จชั่วข้ามคืน ก็มีกลุ่มสยามกีฬาและเนสกาแฟ เข้ามาซื้อทีมหนองจอก ยูไนเต็ด มารีแบรนด์ใหม่ ใส่ไอเดียธุรกิจ สร้างแฟนคลับ แบบมืออาชีพ โกยรายได้จากไทยพรีเมียร์ลีกกอบเป็นกำ ทั้งจากค่าบัตรผ่านประตู ของที่ระลึก รายได้จากสปอนเซอร์
บางกอกกล๊าส ของกลุ่มภิรมย์ภักดี สบช่องเทกโอเวอร์ ทีมฟุตบอลสโมสรกรุงไทย มาแบบไม่ควักกระเป๋า นำมาอัดฉีดใหม่ ใส่เกียร์เดินหน้า ทั้งเงินและบริหารจัดการ กลายเป็นทีมบางกอกกล๊าส หรือกระต่ายแก้ว ขึ้นชั้นไทยพรีเมียร์ลีก
ส่วนโพลิซ ยูไนเต็ด ก็ได้ กมล เอี้ยวศิริกุล เจ้าพ่อลีสซิ่ง แห่งไมด้ากรุ๊ป เข้ามาเติมเต็มเรื่องเงินทุนและธุรกิจให้กับสโมสรเพื่อนตำรวจ โดยหวังว่าจะสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งงบจากรัฐบาล สามารถคว้าแชมป์ดิวิชั่น 1 ได้ขึ้นชั้นแข่งไทยพรีเมียร์ลีก เตรียมฟาดแข้งในปีหน้า ค่ายนี้พิเศษหน่อย นอกจากจะชูความเป็นมืออาชีพบริหารจัดการมาใช้แล้ว สร้างจุดขายให้ทีมแล้ว ยังหวังเข็นทีมฟุตบอลเข้าตลาดหลักทรัพย์ ตามสไตล์ของหุ้นส่วนใหม่ ที่คุ้นเคยดีกับตลาดหุ้น
กลุ่มคิงเพาเวอร์ ของ “วิชัย รักศรีอักษร” ที่มุ่งมั่นเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลให้ได้ จากเป้าหมายแรกในการเจรจากับทีมสโมสรฟุตบอลทหารบก ที่มีผลงานอยู่ในอันดับ 2 ของดิวิชั่น 1 โดยเตรียมจดชื่อทีมไว้ว่า “ทบ.คิงเพาวเวอร์” แต่อาจพลาดหวังต้องหลีกทางให้กลุ่มของ “เนวิน ชิดชอบ” ที่ผนึกมากับทีมจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี “วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” กลุ่มสามารถคอร์ปอเรชั่น พ่วงตามมาด้วยเสียบแทน หลังจากที่ “เนวิน” ผิดหวังจากการซื้อทีมทีโอที
ส่วน “คิงเพาเวอร์” จึงหันไปหาเจรจากับทีมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งมีดีกรีแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีกในปี 2551 แทน
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจบันเทิง 2 ค่ายเพลงดังของไทย อาร์เอส และจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ก็กางแผนธุรกิจเตรียมไว้
นักธุรกิจหลายคนพูดตรงกันว่า เสน่ห์ของการเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล ไม่ใช่แค่เรื่องของโอกาสทางธุรกิจ สร้างรายได้ จากตลาดเกิดใหม่อนาคตไกล Blue Ocean เท่านั้น ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ การได้ “บารมี” ผ่านทีมฟุตบอล อันเป็นที่ชื่นชอบของมวลชน ย่อมเกิดความรู้สึกผูกพันมากกว่าการเป็นเจ้าของสินค้ากับลูกค้าตามปกติ ซึ่งบารมีนี้เหนียวแน่นและยืนนาน (ตราบที่ทีมฟุตบอลยังคว้าชัยชนะ) ก็ยิ่งทำให้เค้กก้อนนี้จึงหอมหวานยิ่งนัก