ผ่าสูตรปั้น ค้าปลีกบนรถไฟฟ้า BMN ลุยสายสีน้ำเงินลอยฟ้า พลิกโฉม “เมโทรมอลล์”

ด้วยจำนวนผู้ใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT 3.5 แสนเที่ยวต่อวัน และส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน เฟสแรกหัวลำโพง-หลักสอง ที่จะให้บริการในเดือนกันยายนนี้ เมื่อเปิดครบทั้งเส้นทางจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มเป็น 5 แสนเที่ยวต่อวัน ถือเป็นโอกาสการขยายธุรกิจเชิงพาณิชย์ของ “บีเอ็มเอ็น” ในการขยายพื้นที่ค้าปลีกรูปแบบใหม่บนสถานีลอยฟ้าและสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน “เมโทร มอลล์”

ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือ “บีเอ็มเอ็น” (BMN) บริษัทในเครือบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กล่าวว่าในเดือนกันยายนนี้จะเปิดให้บริการ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย “หัวลำโพง-หลักสอง” รวม 11 สถานี ประกอบด้วย สถานีใต้ดิน 4 สถานี และสถานีลอยฟ้า 7 สถานี

โดยส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน “เตาปูน-ท่าพระ” จะเปิดให้บริการ มีนาคม 2563 เป็นสถานีลอยฟ้าทั้งหมด 8 สถานี   

ปั้นค้าปลีกพื้นที่ลอยฟ้า

สำหรับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่เป็นสถานีลอยฟ้า “ทุกสถานี” จะมีพื้นที่ว่างเชิงพาณิชย์ไม่มาก และไม่มีพื้นที่ชั้นรีเทลเฉพาะเหมือนสถานีใต้ดิน บริษัทกำลังอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่ค้าปลีก ซึ่งจะทำเป็นร้านคีออสก์ขนาดเล็ก 3×3 ตารางเมตร จำนวนร้านค้าเช่าขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและกำลังซื้อแต่ละพื้นที่ โดยจะเริ่มพัฒนาพื้นที่และเปิดให้เช่าในปี 2563 เนื่องจากต้องการดูจำนวนผู้ใช้บริการจริงในแต่ละสถานีก่อน เพื่อกำหนดพื้นที่ค้าปลีกและเลือกร้านค้าที่เหมาะสมกับความต้องการในแต่ละสถานีอีกครั้ง

ดังนั้นการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายปีนี้ จะเริ่มด้วยการติดตั้งสื่อโฆษณาในทุกสถานี ส่วนพื้นที่ว่างก่อนพัฒนาเป็นพื้นที่ค้าปลีกในปี 2563 เบื้องต้นศึกษาการใช้พื้นที่ทำกิจกรรมอีเวนต์ก่อน

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย “หัวลำโพง-หลักสอง” ที่เป็นสถานีใต้ดิน  4 สถานี คือ วัดมังกรกมลาวาส, วังบูรพา, สนามไชย และอิสรภาพ โดยสถานี “อิสรภาพ” มีพื้นที่ชั้นรีเทลประมาณ 2,000 ตารางเมตร ที่สามารถพัฒนาเป็น “เมโทร มอลล์” แต่การลงทุนจะอยู่ในปี 2563 เพราะต้องรอศึกษาจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการจริง พฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งกำลังซื้อของประชาชนโดยรอบสถานี เพื่อดูรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม

“แผนการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีก สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายทั้งหมด ต้องศึกษาปริมาณการใช้บริการจริงของผู้โดยสารในแต่ละวัน ก่อนจะลงทุนพัฒนารีเทล เพราะเป็นการลงทุนที่สูง จึงต้องแม่นยำเรื่องตัวเลข เพื่อให้เหมาะสมกับกำลังซื้อ”

โดยประเมินว่าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-หลักสอง จะมีผู้ใช้บริการ 1.5 แสนเที่ยวต่อวัน ปัจจุบันสายสีน้ำเงิน เอ็มอาร์ที มีผู้ใช้บริการวันละ 3.5 แสนเที่ยว เมื่อรวมกับส่วนต่อขยายที่จะให้บริการในปีนี้เพิ่มเป็น 5 แสนเที่ยวต่อวัน จึงเป็นโอกาสของทั้งธุรกิจสื่อโฆษณาในรถไฟฟ้าและพื้นที่ค้าปลีกทั้งที่จะขยายเพิ่มเติม และพื้นที่ค้าปลีก “เมโทร มอลล์” ปัจจุบัน

ขยาย “เมโทร มอลล์”

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันได้เปิดบริการพื้นที่ ไลฟ์สไตล์ รีเทล “เมโทร มอลล์” ใน 9 สถานี คือ คลองเตย, สุขุมวิท, เพชรบุรี, พระราม 9, ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, พหลโยธิน, กำแพงเพชร, จตุจักร และลาดพร้าว ให้บริการกูร์เมต์ มาร์เก็ต หากมีดีมานด์เพิ่มขึ้น จากการเปิดสายสีเหลือง จะพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกที่เหมาะสม

โดยยังมีพื้นที่ที่พัฒนาเมโทร มอลล์ คือ สถานีศูนย์สิริกิติ์และรัชดาภิเษก ที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาร้านค้าที่เหมาะสมกับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าในพื้นที่ สำหรับการลงทุนเมโทร มอลล์แต่ละแห่งจะใช้งบประมาณราว 30 ล้านบาทต่อจุด พื้นที่ขนาด 2,000-3,000 ตารางเมตร เนื่องจากมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไว้แล้วตั้งแต่เปิดสถานีรถไฟฟ้า การพัฒนาเป็นพื้นที่รีเทล เมโทร มอลล์ จึงใช้งบลงทุนเฉพาะการรีโนเวทพื้นที่ ตกแต่งใหม่และติดตั้งสื่อโฆษณาดิจิทัลเพิ่มเติม ปัจจุบันมีพื้นที่เชิงพาณิชย์รวม 18,000 ตารางเมตร

ปรับโฉมสถานีจตุจักร

ปีก่อนได้ปิดรีโนเวต เมโทร มอลล์ สถานีเอ็มอาร์ที จตุจักร เพื่อตอบโจทย์ ไลฟ์สไตล์ “คนเมือง” มากขึ้น จากเดิมที่จำหน่ายสินค้าเฉพาะกลุ่มประเภท การ์ดเกม โดยได้ทำวิจัยเพื่อสำรวจความต้องการผู้โดยสารเอ็มอาร์ที พบว่าสินค้าและบริการที่ต้องการ จะต้องตอบโจทย์ทุกคนที่ใช้บริการ “ทุกวัน” จึงได้ปรับโฉมสถานีจตุจักรใหม่ด้วยงบประมาณ 30 ล้านบาท ให้บริการด้านร้านอาหาร เครื่องดื่ม เซอร์วิสที่ใช้ได้ทุกวัน พร้อมปรับปรุงห้องน้ำใหม่ มี wi fi ฟรี เพื่อทำให้เป็นพื้นที่สำหรับพักรอหรือจุดนัดพบ

ล่าสุดได้เปิดบริการ เมโทร มอลล์ สถานีจตุจักร ด้วยคอนเซ็ปต์ “Good Food,Good Mood,Choose Happy” ให้สอดคล้องกับพื้นที่เชิงพาณิชย์ในระบบรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีให้เป็น Dynamic Lifestyle Platform พัฒนาพื้นที่ค้าปลีกให้กลายเป็นพื้นที่ไลฟ์สไตล์ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่และผู้ใช้บริการเอ็มอาร์ทีทุกกลุ่ม

ทั้งนักเรียน นักศึกษา พนักงานบริษัทและนักท่องเที่ยว โดยมีร้านค้ากว่า 40 ร้านที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เร่งรีบและสะดวกสบาย

โดยมีพันธมิตรร้านค้าแบรนด์ต่างๆ เช่น สตาร์บัคส์, คาเฟ่ อเมซอน, โคอิเตะ, โอชายะ, G Coffee แบรนด์ร้านกาแฟน้องใหม่ และ Au Bon Pain BON TO GO ที่จำหน่ายอาหารรับประทานง่าย ในปริมาณที่เล็กลงสำหรับวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ร้านเอสแอนด์พี, ดังกิ้น โดนัท, ร้านอาหารนาเอะกิ ซูชิ, Vietnam Express, ข้าวมันไก่ประตูน้ำ นอกจากนี้ยังมีร้านสะดวกซื้อ ลอว์สัน 108, ร้านเสื้อผ้า Keep The Faith Shop, ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวครบวงจร H.I.S., ร้านตัดผม เช่น Easy Cut , Three Brothers Barber Shop 2013, ร้านเครื่องสำอาง บริการแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ SuperRich  ร้านสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นญี่ปุ่น MINISO ร้าน JYSK (จุสก์) แบรนด์สินค้าตกแต่งบ้านจากเดนมาร์ก

สถานีเอ็มอาร์ทีจตุจักร มีผู้ใช้บริการกว่า 40,000 คนต่อวัน เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งมวลชน ที่ตั้งของสวนจตุจักร และตลาดนัดจตุจักร แลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่พักอาศัยที่หนาแน่น และแหล่งรวมของไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยว

รูปแบบการเดินทางปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง เพราะคนมีดีมานด์ความสะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้น ไม่ใช่แค่การเดินทางตรงเวลา

รายได้โต 20%

ทางด้านผลประกอบการปี 2561 บีเอ็มเอ็น มีรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ 634 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2560 เนื่องจากปิดปรับปรุงพื้นที่สถานีจตุจักร

สำหรับเป้าหมายในปี 2562 คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 760 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2561 จากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมของรายได้สื่อโฆษณา

พื้นที่ร้านค้าการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม และกิจกรรมการค้าอื่นเพิ่มขึ้น โดยในปีนี้จะมีรายได้จากการเปิดให้บริการพื้นที่ร้านค้าสถานีจตุจักรเข้ามาเต็มปี

สัดส่วนรายได้เชิงพาณิชย์ประกอบด้วยสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที 56% รายได้การให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม 28% และรายได้จากพื้นที่เช่าและบริการรวมกิจกรรมการค้าอื่นๆ 17%

ทางด้านงบประมาณการลงทุนปี 2562 ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รวม 120 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีปัจจุบันและสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เฟสแรก ด้านสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ 40 ล้านบาท, การปรับปรุงพื้นที่ร้านค้าและเมโทร มอลล์ พหลโยธิน 40 ล้านบาท และการพัฒนาธุรกิจอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณมอเตอร์เวย์ หรือทางด่วน โดยวางงบไว้ 40 ล้านบาท.