Canon ปรับเกมรับมือตลาดกล้องแข่งโหด ส่ง “EOS RP” รุ่นเล็กอุดช่อง mirrorless ฟูลเฟรม

สมาร์ทโฟนทำให้ชาวดิจิทัลถ่ายรูปสวยโดนใจได้ง่ายด้วยการแตะหน้าจอไม่กี่ครั้ง ภาวะนี้ทำให้ผู้เล่นในตลาดกล้องต้องหาทางรอดไม่ให้ถูกกลืนหายไป Canon เป็นหนึ่งในผู้เล่นกลุ่มนี้ บนความเชื่อว่ายังมีโอกาสงามรออยู่เสมอในตลาดกล้องทั่วโลก

ก่อนหน้านี้ Canon ฉลองอายุ 30 ขวบสินค้ากลุ่ม EOS ด้วยยอดขายเกิน 90 ล้านเครื่องสำหรับสินค้าตระกูลเดียว แต่หากมองในมุมกล้อง DSLR เจ้าพ่ออย่าง Canon ถือว่ามาช้ากว่าใคร จุดนี้ Canon ยอมรับว่าเป็นเพราะปรัชญาของบริษัทที่เน้นหยั่งเสียงความต้องการของผู้บริโภคแบบระยะยาว ทำให้ต้องมองถึงฟูลไลน์ของทั้งไลน์สินค้า ทำให้ DSLR ของ Canon ลงตลาดช้ากว่าค่ายอื่น

แต่แม้จะมาช้า Canon ก็เป็นแชมป์ในตลาด DSLR ไทยต่อเนื่อง 12 ปี คาดว่าจะเป็นแชมป์ต่อไปอีกในปี 2018-2019

ทั้งหมดนี้ นิฐิวัฒน์ วัจนวรานันท์ หัวหน้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ คอนซูเมอร์ อิมเมจจิ้ง (Imaging Consumer Product) บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ย้ำว่า การเปิดตัวสินค้าใหม่ของ Canon จะไม่ดูเฉพาะแค่กล้องหรือเลนส์ แต่จะมองถึงแอคเซสซอรี่อื่นที่จะตามมาด้วย ดังนั้นแม้วันนี้ Canon จะหันมาเอาจริงเอาจังกับสินค้ากลุ่ม mirrorless มากขึ้น แต่ Canon ก็จะไม่ทิ้งตลาดเดิม ด้วยการออกสินค้ากลุ่มตัวแปลงหรืออะแดปเตอร์ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ใช้ EOS เดิม

“Canon กำลังสร้างอีโคซิสเต็มส์ในกลุ่มคนใช้แคนนอน ลูกค้าที่ซื้อ DSLR จะใช้อุปกรณ์เสริมของ EOS ได้ด้วยผู้บริหารระบุ  “ถามว่า Canon เอาจริงเอาจังกับ mirrorless แค่ไหน เรื่องนี้ต้องย้อนถึงคำให้สัมภาษณ์ของท่านประธาน Canon ที่ญี่ปุ่น ว่าตลาดกล้องจะหด 50% ในช่วง 3-4 ปีนี้จะเห็นว่ากลุ่มที่ลดลงคือกลุ่มเริ่มต้น สมาร์ทโฟนเข้ามาแทนตลาดนี้ ลดลงอย่างน่าใจหาย

ผู้บริหาร Canon มั่นใจว่าตลาดกล้องอีก 50% ที่เหลืออยู่คือตลาดที่แน่น กลุ่มนี้คือกลุ่มฟูลเฟรมที่มีขนาดเซ็นเซอร์ใหญ่ แนวโน้มนี้ทำให้ชัดเจนว่ากล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาดเล็กจะไม่ได้รับความนิยมแน่นอน

ดังนั้น Canon จะไปที่ฟูลเฟรม แต่เราจะมีทั้ง mirrorless และ DSLR เรามองว่าแต่ละระดับราคาควรจะมีทั้ง EOS และ DSLR เพื่อเป็นทางเลือก ลองไปดูได้เลย เพราะ Canon จะวางไว้คู่กันทั้งหมด

ภาวะนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ Canon ออกกล้อง mirrorless ฟูลเฟรมในวันนี้ นั่นคือ EOS RP อาวุธใหม่นี้เป็นสิ่งที่ Canon เตรียมมาเพราะเห็นความต้องการของลูกค้าที่ต้องการฟูลเฟรม mirrorless โดย EOS RP เป็นรุ่นที่ 2 ของ Canon ในตระกูลกล้อง mirrorless ที่ใช้เซ็นเซอร์ฟูลเฟรมและสามารถใช้เลนส์ได้อิสระเหมือน EOS R รุ่นแรกที่มีราคาหลัก 6 หมื่นบาทขึ้นไป

EOS RP อุดช่องโหว่

EOS RP ถูกวางจุดยืนเป็น mirrorless ฟูลเฟรมรุ่นเล็กที่ Canon ส่งมาตอบตลาดด้วยราคา 48,900 บาท สามารถใช้เลนส์ตระกูล RF เหมือน EOS R และใช้ร่วมกับเลนส์เมาท์ EF, EF-S, MP-E และ TS-E ได้ผ่านอะแดปเตอร์ คาดว่าราคานี้จะโดนใจตากล้องผู้เริ่มต้นที่จะเริ่มขยับขยายขึ้นมาสู่ mirrorless แต่ยังไม่อยากจะขยับขึ้นไปถึงระดับ EOS R

รักพงษ์ ชลัษเฐียร ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ของ Canon กล่าวในงานเปิดตัว EOS RP ว่า เหตุผลที่ทำให้ EOS RP ถูกแจ้งเกิดเป็นเพราะ Canon มุ่งมั่นเรื่องคุณภาพการโฟกัสของกล้อง เนื่องจากช่างภาพทั่วโลกให้ความสำคัญกับโฟกัส ทำให้ Canon มุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาระบบโฟกัส Dual Pixel โดยมีการพัฒนาระบบจับตาหรือ eye detection ที่ปรับใหม่ให้รองรับภาพมุมกว้างมากขึ้น 

EOS RP มีความละเอียด 26.2 ล้านพิกเซล สูงสุดเมื่อเทียบกับกล้อง mirrorless ฟูลเฟรมรุ่นอื่นในตลาด น้ำหนักเบาไม่เกินขวดน้ำดื่มขนาด 500 มล โดยที่มีฟังก์ชันด้านวิดีโอครบ 

ราคาที่ลดลง แต่เราไม่ลดอะไรลงตามไปด้วย Canon ผลิตบอร์ดเซ็นเซอร์เอง ผลิตเลนส์เอง เราไม่ต้องเอาจากใคร แต่เราจะรู้วิธีการจัดการกับวัตถุดิบเราว่าทำอย่างไรให้ดี รวมถึงจุดเด่นของรุ่น R ก็ถูกรวมมาใน RP ด้วย คือกล้องสามารถทำงานกับซอฟต์แวร์ที่อยูู่ในเลนส์ กล้องจะรู้ว่าเลนส์ที่ใช้อยู่ต้องปรับอะไรให้เข้ากันจึงจะสมบูรณ์แบบที่สุด นี่คือความเก่ง

ดูเหมือนว่า EOS RP หวังตอบโจทย์กลุ่มคนใช้กล้อง mirrorless เพื่อถ่ายวิดีโอ เพราะหนึ่งในจุดขายหลักของ EOS RP อยู่ที่การช่วยให้ผู้ถ่ายวิดีโอสามารถภาพจับหน้าบุคคลได้อัตโนมัติ ทำให้เมื่อถ่ายวิดีโอ ภาพคนจะอยู่ในโฟกัสตลอด แม้นางแบบจะขยับตัว กล้องก็จะโฟกัสที่ตา เรียกว่าโฟกัสได้แม้อยู่ในสถาการณ์ที่ไม่มีความนิ่งเลย

นอกจาก DNA ของ Canon เรื่องปุ่มหมุนหรือ Dial ยังคงจัดเต็มมาใน EOS RP ยังมีการสาธิตการทำงานของซอฟต์แวร์ซ้อนภาพสูงสุด 999 ช็อต เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดทั้งระนาบ คุณสมบัตินี้เหมาะกับงานถ่ายภาพสินค้าขนาดเล็กเช่นนาฬิกา หรือเครื่องประดับ ทำให้การทำภาพลักษณะนี้ทำได้ง่ายขึ้นแบบไม่ต้องจ้างมืออาชีพ

อีกจุดน่าสนใจคือการมีแอปพลิเคชั่นให้ช่างภาพส่งภาพผ่านบลูทูธด้วยสมาร์ทโฟน โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเปิดกล้องหรือหยิบกล้องออกจากกระเป๋าเดินทาง ทั้งหมดนี้ผู้บริหารย้ำว่ากลุ่มเป้าหมายของ Canon ไม่ได้เน้นเฉพาะกลุ่มครีเอเตอร์หรือพ่อค้าแม่ขายบนออนไลน์ แต่ทุกอย่างพัฒนาขึ้นเพื่อให้กล้องตัวนี้ใช้งานง่าย ซึ่งเหมาะกับทุกคนไม่เฉพาะครีเอเตอร์ นักเดินทาง หรือคนที่ชอบแชร์

ได้หน้าไม่ลืมหลัง

“Canon เราจะทำทั้ง DSLR และ mirrorless เราจะมีกลุ่มกลาง มีฟูลเฟรม สิ่งที่เรามองคือฟูลเฟรมโตอย่างมาก ถ้ามองลักษณะการบริโภค Entry ลดลงแต่ตลาดกลางและสูงนั้นโตมาก เราจึงมีทั้ง R และ RP ถ้าถามว่าอนาคตฟูลเฟรมจะเป็นอย่างไร Canon ก็จะมองทั้ง 2 ค่าย ตรงนี้ถือว่าน่าแปลกใจเพราะตอนแรก เรามองว่า DSLR จะด้อยลงเมื่อออกฟูลเฟรม แต่พบว่าไม่กระทบเลย ถือว่าน้อยมาก การที่ตลาด DSLR ไม่ลดลงเลยแปลว่าลูกค้ายังมองหา ถือว่าเหนือความคาดหมาย นิฐิวัฒน์ระบุ

นิฐิวัฒน์ย้ำว่า Canon ไม่ได้รับกระทบจากตลาดกล้องคอมแพกต์ที่หดหายไป โดยบอกว่า Canon เป็นบริษัทเดียวที่มีสัดส่วนกล้องคอมแพกต์อยู่ที่ 10-15% เท่านั้น เมื่อกล้องกลุ่มกลางหรือมิดเรนจ์ ขยายตัวจึงเป็นประโยชน์กับ Canon เบื้องต้นประเมินว่าการเติบโตของมิดเรนจ์นั้นเกิน 2 เท่า

กลุ่มที่มาใช้กล้องระดับกลางเพิ่มขึ้นเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ แต่ฟูลเฟรมคือกลุ่มลูกค้าฐานเดิมบวกลูกค้าใหม่ สำหรับ EOS เป็นกล้องราคาสูง กลุ่มเป้าหมายหลักคือมืออาชีพซึ่งเราครองตลาดอยู่ จึงเป็นข้อได้เปรียบ เราจะใช้ความได้เปรียบนี้ในการทำตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่จึงจะไม่ทิ้งลูกค้าเดิม บางคนถ่ายภาพเป็นอาชีพ บางคนเป็นงานอดิเรก เลนส์ก็ใช้ได้นาน การออกแบบพร้อมอะแดปเตอร์จะช่วยเรา

Canon ยังมองว่าสมาร์ทโฟนช่วยสร้างวัฒนธรรมการถ่ายภาพ เพราะก่อนนี้ 7-8 ปีที่แล้ว ประชากรโลกเพียงครึ่งเดียวที่มีกล้องใช้งาน สัดส่วนคือ 0.5 ตัวต่อครัวเรือน วันนี้ Canon ได้เห็นการถ่ายภาพที่แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งพัฒนาจากคนที่ชอบถ่ายภาพทางมือถือ แล้วพัฒนามาเป็นงานอดิเรก

สำหรับปีนี้ Canon ย้ำว่าแผนการลงทุนในไทยจะเน้นที่การเพิ่มความแข็งแกร่งในตลาดมิดเรนจ์ถึงฟูลเฟรม กลุ่มเป้าหมายจะเน้นที่กลุ่มถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก คาดว่าจะมีเวิร์กช็อปเทรนนิ่งบ่อยขึ้น รวมถึงการเจาะกลุ่มนักศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทผ่านสื่อออนไลน์ โดยลูกค้ากลุ่มมือโปรและกลุ่มอดิเรกจะเจาะเข้าคอมมูนิตี้ เบื้องต้นไม่เปิดตัวเลขงบลงทุนไทยปีนี้

ความท้าทายของปีนี้คือการแข่งขัน ตลาดรวมลดลง ทำให้แบรนด์ระดับ entry ต้องยกตัวเองขึ้นมา กลุ่มกลางก็จะทำราคาหนักขึ้น โปรโมชั่นจะรุนแรงมาก ขณะเดียวกันเศรษฐกิจที่ไม่ดีจะทำให้การใช้จ่ายลดลงชัดเจน ดังนั้นโจทย์ของเราคือมีดีมานด์อยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการซื้อ ซึ่งจุดที่จะทำได้คือนวัตกรรม

ทั้งหมดนี้คือแผนของ Canon ในการรับมือภาวะแข่งโหดในตลาดกล้องทั่วโลก.