“บางกอกกล๊าส เอฟซี” “เดอะแรบบิท” หรือ “กระต่ายแก้ว” ไม่เพียงมีเป้าหมายเป็นสโมสรฟุตบอลที่คว้าแชมป์ได้เท่านั้น แต่ได้วาง Positioningไว้ชัดเจนว่าเป็น “Sport Entertainment Business Player” ที่ทำให้ทุกอย่างเกี่ยวโยงกับฟุตบอลเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของกลุ่มเป้าหมาย และทุกธุรกิจที่อยากสร้างแบรนด์ผ่านกลยุทธ์สปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง “กระต่ายแก้ว” จะเป็นทางเลือกให้แบรนด์นั้นเกิดได้ “บางกอกกล๊าส เอฟซี” จึงไม่ใช่แค่ทีมฟุตบอลเท่านั้น แต่กำลังเป็นโมเดลธุรกิจที่ต้องจับตา
“บางกอกกล๊าส เอฟซี” ใช้เวลาไม่ถึงปีในการรีแบรนด์ เปลี่ยนชื่อมาจาก “สโมสรธนาคารกรุงไทย” หลังถูกเทกโอเวอร์ และทำทีมด้วยผู้บริหารชุดใหม่ แต่สร้างผลงานด้วยจุดแข็งที่เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของการสร้างทีมฟุตบอล คือ
1. การเล่นกับลูกกลมๆ ในสนามจนสามารถคว้าที่ 3 ของ “ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล2552 เพราะจุดแข็งที่ตัวผู้เล่นส่วนใหญ่ยังเป็นทีมสโมสรธนาคารกรุงไทย
2. มีรายได้จากกลยุทธ์ “สปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง” ที่แม้ในปีแรกเงินทั้งหมดมาจากสปอนเซอร์หลักคือ บริษัทแม่ “บุญรอด บริวเวอรี่” เจ้าของแบรนด์เบียร์สิงห์ Bing และลีโอเท่านั้น แต่ในฤดูกาลหน้าเริ่มมี “สปอนเซอร์” อื่นวิ่งเข้าหา และรายได้อื่นๆ อีกมากมาย เพราะจุดแข็งที่วิสัยทัศน์ของผู้บริหารในการปั้นฟุตบอลเป็นธุรกิจให้ได้
3. จำนวนแฟนคลับ และผู้ชมที่ล้นหลามอย่างที่ไม่คิดมากก่อน จากที่เคยคิดไว้แค่หลักพันต้นๆ แต่กลายมาเป็นหลายพัน จนยืนติดขอบรั้วสนาม ด้วยจุดแข็งของการพยายามนำเสนอจุดเชื่อมโยงให้กับท้องถิ่นคนปทุมธานี ที่โรงงานบางกอกกล๊าส หรือโรงแก้ว เป็นแหล่งสร้างงานให้กับคนพื้นที่นี้มานานกว่า 30 ปี บวกกับวิธีการสร้างสีสันให้กองเชียร์ ด้วย “บันนี่เกิร์ล” สาวสวย ในชุดกระต่าย
นี่คือสัญญาณที่ทำให้ “เดอะแรบบิท” มองเห็นโอกาส และพร้อมกระโดดโลดแล่น ด้วยแผนธุรกิจที่ขยายอย่างหยุดไม่อยู่ ซึ่งทุกขั้นตอนของธุรกิจ “บางกอกกล๊าส เอฟซี” อยู่ในแผนชัดเจนที่ “ปวิน ภิรมย์ภักดี” ประธานสโมสรฟุตบอลบางกอกกล๊าส และ “ศุภสิน ลีลาฤทธิ์” รองประธานสโมสรฯ และในฐานะผู้จัดการทีม ร่วมกันวางไว้ ด้วยความมั่นใจว่าภายในไม่เกิน5ปี เม็ดเงินจะสะพัดอย่างคาดไม่ถึง
ทั้ง2 ยังสวมหมวกเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทบางกอกกล๊าส จำกัด ผู้ผลิตขวดแก้วรายใหญ่ของประเทศ ในเครือของบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด โดย “ปวิน” นอกจากเป็นทายาทครอบครัว “ภิรมย์ภักดี” แล้ว ยังเป็นกรรมการบริหาร และรองผู้จัดการใหญ่ ส่วน ศุภสิน เป็นผู้อำนวยการพาณิชย์ ซึ่งนับเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจ เงินทุน และฟุตบอลที่สามารถเร่งเครื่องให้ “เดอะแรบบิท” ไปได้ไกลยิ่งขึ้น
“เทกโอเวอร์” ทางลัดสร้างทีม
จุดเริ่มต้นของ “บางกอกกล๊าส เอฟซี” มาจากความชอบของผู้บริหารที่ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล และคนโรงแก้วเองก็เล่นฟุตบอลเป็นประจำ ซึ่ง “ปวิน” บอกว่าถึงขั้น “บ้าบอล” กันอยู่แล้ว แต่เมื่อจะทำทีมให้เป็นธุรกิจได้จริง การเติบโตได้เร็วที่สุดในเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดคือการ “เทกโอเวอร์กิจการ” ซึ่งถือเป็นการ Shortcut หรือทางลัดที่สุดเพื่อสร้างธุรกิจ ไม่ต่างจากธุรกิจทั่วๆ ไป
“บางกอกกล๊าส เอฟซี” เลือกซื้อ “สโมสรธนาคารกรุงไทย” ที่อยู่ในจังหวะที่แบงก์แห่งนี้ไม่สามารถจดทะเบียนสโมสรให้เป็นบริษัทตามข้อกำหนดของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียได้ เพราะจะผิดกฎหมายที่แบงก์ชาติกำหนดไว้ว่าไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ทำกิจการนอกเหนือจากธุรกิจการเงิน การธนาคาร
การเทกโอเวอร์ครั้งนี้ “ปวิน” บอกว่า “ไม่มีค่าใช้จ่าย” เหตุผลก็เป็นเพราะว่าทีมกรุงไทยเป็นทีมที่มีตำนานและผลงานดี เป็นที่รู้จักในวงการฟุตบอล ซึ่งทีมเองก็อยากให้ตำนานนั้นยังอยู่ จึงพร้อมให้บางกอกกล๊าสสานต่อ
“บันนี่เกิร์ล เสน่ห์แรงดันเรตติ้ง”
แต่ธุรกิจนี้จะสำเร็จได้เมื่อ “มีคนดู มีแฟนคลับ” เป็นหนึ่งใน “ทางลัด” ที่ “ปวิน” ได้จากการพูดคุยกับ “อรรณพ สิงห์โตทอง” ผู้จัดการทีมของชลบุรีเอฟซี ที่สามารถสร้างทีมจากท้องถิ่นนิยม ที่เป็นจุดเชื่อมโยงของแฟนคลับอย่างเหนียวแน่น
แต่จุดแข็งท้องถิ่นนิยมของ “บางกอกกล๊าส เอฟซี” อาจไม่แข็งพอ เพราะทีมผู้บริหารเลือกตั้งชื่อทีมให้ตรงกับชื่อองค์กร เพื่อเชื่อมโยง Corporate Brand โดยไม่ได้พ่วงท้ายชื่อจังหวัดปทุมธานี
การเรียกแฟนคลับ และผู้ชม จึงต้องหากลยุทธ์เพิ่มขึ้น
“ศุภสิน” บอกว่าส่วนหนึ่งที่ถือเป็นแรงดึงดูดสำคัญคือ “บันนี่ เกิร์ล” ที่ทำให้การดูฟุตบอลมีสีสันมากขึ้น จากเดิมที่คนมาดูฟุตบอลต้องมีความสัมพันธ์กับนักฟุตบอล หรือคนในทีม แต่สำหรับบางกอกกล๊าส เอฟซี ผู้ชมทั่วไป ยังได้ความสนุกสนานจากสีสันการเชียร์ นอกจากนี้ “บันนี่ เกิร์ล” ยังทำให้ภาพของทีมมีความเป็นมิตร เพราะมีทูตไมตรีเป็นสาวสวย
นี่คือกลยุทธ์แบบ Word of Mouth ที่ “ศุภสิน” ตั้งใจให้เกิดขึ้น บอกปากต่อปาก จากชาวโรงแก้ว คนพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ได้ยินไปถึงแฟนบอลทั่วไป จนทำให้ “เดอะ แรบบิท” ดังขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากการใช้ทุกสื่อเท่าที่จะทำได้เพื่อเชื่อมโรงกับแฟนคลับทุกลุ่ม ตั้งแต่เว็บไซต์ของสโมสร โซเชียลเน็ตเวิร์ค อย่าง Facebook Twitter ไปจนถึงวิทยุท้องถิ่น
จังหวะที่มาถึง คือกระแสของฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกแรง ด้วยกระบวนการสร้างขึ้นจากทีมเต็งอย่าง “เมืองทอง ยูไนเต็ด” ที่มีสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง “สยามกีฬา” เป็นแบ็กอัพ ทำให้ทีมอื่นๆ รวมทั้ง “บางกอกกล๊าส เอฟซี” ได้เรตติ้งไปด้วย ผลก็คือ จากผู้ชมประมาณแค่ 200-300 คน เพิ่มเป็นกว่าพันคน จนสนามในโรงงานที่รังสิต คลอง 3 ที่จุได้ 1,200 คนรับไม่ไหว ต้องย้ายไปสนามคลอง 6 ที่รับได้ 4 พันคน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่ง “ศุภสิน” บอกว่าแฟนบอลที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกแฟนคลับมีอยู่ประมาณ 5,000 คน ดังนั้นในฤดูกาลหน้าสนามที่ขยายไว้รองรับผู้ชมถึง 6,500 คน อาจไม่พอ เพราะคาดว่าจะมีผู้ชมมากขึ้นใกล้ถึงหลักหมื่น เพราะบางกอกกล๊าส เอฟซี ก็ไม่ได้อยู่เฉย ยังคงเพิ่มเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อสื่อสารกับแฟนคลับ ไม่ว่าจะเป็นทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต และการจ้างทีมข่าวเฉพาะ เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวของทีมตลอดเวลา แม้จะเป็นช่วงปิดฤดูกาลก็ตาม
การติดต่อสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เป็นกลยุทธ์เพื่อยึดโยงแฟนคลับไว้ให้ได้ รวมไปถึงโอกาสในการสร้างแฟนคลับใหม่ ที่ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก จากฐานจำนวนประชากรของจังหวัดปทุมธานี ที่มีอยู่ถึง 9 แสนคน และ 60% อาศัยอยู่ย่านคลองรังสิต นี่คือโอกาสของ “เดอะแรบบิท” ในอนาคต
ยิ่งเชียร์ดัง ยิ่งลงทุน
เมื่อมวลชนแฟนคลับมามากขึ้น ก็ทำให้ธุรกิจที่เคยอยู่ในแผนถูกนำมาเร่งให้เกิดเร็วขึ้น รวมไปถึงจุดคุ้มทุนจากการลงทุนก็น่าจะเร็วขึ้นไปด้วย
“เดิมคิดว่าจะคุ้มทุนภายใน 8 ปี ตามแผนการลงทุนที่จะสร้างสปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ที่คลอง 3 ด้วยงบลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท แต่ ณ เวลานี้ คิดว่าเร็วขึ้น เป็นภายใน 5 ปีก็คุ้มแล้ว”
“ปวิน และศุภสิน” ต่างเชื่อมั่นในการสร้าง “บางกอกกล๊าส เอฟซี” ให้เป็นธุรกิจ จนนำมาสู่ “วิสัยทัศน์” ที่ว่าทีมนี้จะเป็น Sport Entertainment Business ที่ไม่เพียงแต่ใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในกระบวนการสื่อสารสร้างแบรนด์ของธุรกิจในเครือเท่านั้น ซึ่งเฉพาะบริษัทบางกอกกล๊าสเองก็ใช้งบถึงปีละประมาณ 30 ล้านบาท และเครือบุญรอดฯ ได้ใช้งบในการสื่อสาร โฆษณาประชาสัมพันธ์รวมๆ แล้วปีหนึ่งอยู่ในหลักร้อยล้านบาท
แต่อีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า “บางกอกกล๊าส เอฟซี” จะขยายวงไปถึงธุรกิจบันเทิง และไลฟ์สไตล์ของคน แผนการลงทุนจึงไม่ใช่แค่ลงทุนหญ้าเทียม ที่นั่งในสนามฟุตบอล ซื้อนักเตะ จ้างโค้ชมือดีเท่านั้น แต่รอบๆ สนาม ยังมีธุรกิจอื่นๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย ตั้งแต่อาหารเครื่องดื่ม สนามกีฬาประเภทอื่น ไปจนถึงโรงแรมที่พัก
นี่คือแผนชัดเจน ที่ “บางกอกกล๊าส เอฟซี” ได้วางเป้าหมายในอนาคต ทำให้นอกจากมีรายได้จากสปอนเซอร์ การจำหน่ายของที่ระลึก ค่าตั๋ว แต่ต้องมีรายได้อื่นตามมา คือ “อาหารและเครื่องดื่ม” ที่กำหนดไว้สูงถึง 23%ของรายได้ทั้งหมด สูงกว่าค่าตั๋ว และของที่ระลึกเสียอีก
เป้าหมายในการจำหน่ายสินค้าที่ระลึก เช่น เสื้อนั้น ไม่ใช่แค่แฟนคลับมีเสื้อ 1 ตัวเพื่อใส่ไปเชียร์เท่านั้น แต่ต้องทำให้ใน 7 วัน เขาใส่เสื้อเดอะแรบบิท อย่างน้อย 2 วัน และอนาคตเป็นเสื้อประจำที่เขาอยากใส่ทุกวัน และยังตั้งเป้าหมายไปถึงการให้โลโก้ “เดอะแรบบิท” มีมูลค่ามากขึ้น ด้วยการไปวางไว้กับสินค้าใดแล้วขายได้ด้วย คือเหตุผลสำคัญ ที่ “ปวิน” บอกว่าการออกแบบโลโก้รูปกระต่ายซึ่งมาจากปีเกิดของเขา ได้เน้นว่าไม่ต้องมีลูกฟุตบอล เพื่อเปิดความหมายให้กว้างสามารถวางไปแปะไว้กับสินค้าอื่นได้
ความคาดหวังนี้ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสโมสรฟุตบอลดังของต่างชาติ ที่ไม่ว่าโลโก้ของเขาไปวางไว้กับสินค้าใด ก็มีแฟนๆ ตามไปซื้อ
คอมเพล็กซ์ ทำเงินนอกสนาม
สำหรับรายได้จากอาหารและเครื่องดื่ม มาจากแผนการสร้างกิจกรรมรอบๆ สนาม ซึ่ง “ปวิน” บอกว่าปกติคนมาดูบอลจะใช้เวลาในสนามประมาณ 2 ชั่วโมง แต่เขาจะทำให้คนมาที่ลีโอสเตเดี้ยมอยู่นานถึง 6 ชั่วโมง เป็น Spending Power ที่สำคัญ และไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มเป้าหมายผู้ชายที่มาดูบอลเท่านั้น แต่เขายังสามารถพามาได้ทั้งครอบครัว โดยภรรยาและลูกสามารถไปทำกิจกรรมอื่นรอบสนามบอล ไม่ว่าจะเป็นสนามเทนนิส ตะกร้อ ฟุตซอล หรือแม้กระทั่งโรงแรมขนาด 100 ห้อง เพื่อรองรับทั้งแฟนบอลต่างจังหวัด และต่างชาติที่มาทำงานในย่านปทุมธานี
ทั้งหมดอยู่บนพื้นที่ 290 ไร่ ของโรงงานบางกอกกล๊าส ที่เตรียมย้ายออกในอนาคต กับเงินลงทุน 500 ล้านบาท นี่คือเหตุผลที่ “บางกอกกล๊าส เอฟซี” เต็มที่กับลงทุน “สนามฟุตบอล” ที่ไม่ใช่แค่ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย ตามกฎของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียเท่านั้น แต่ยังต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก ตั้งแต่บริการพื้นฐานอย่างเช่น ห้องน้ำที่มากพอกับจำนวนผู้ชม แต่ยังต้องมีธุรกิจเสริม เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจที่วางไว้อย่างครบวงจร
“บางกอกกล๊าส เอฟซี” ทีมสโมสรฟุตบอลที่แม้เริ่มแรกจะเกิดจากความชอบ และการมองเห็นโอกาสในการแบรนด์ดิ้งสินค้าในเครือของบุญรอดเท่านั้น แต่ “ปวิน” มั่นใจว่าเมื่อกระแสฟุตบอลในไทยมาแรงจนมองเห็นอนาคตที่สดใส เงินสะพัดเติบโตไม่ต่ำกว่าเท่าตัวในปีหน้า แล้ว “เดอะแรบบิท” จะไม่เร่งเครื่องได้อย่างไร และที่สำคัญ ณ เวลานี้ เป้าหมายสูงกว่าเดิมแล้ว เพราะนี่คือธุรกิจใหม่ของบางกอกกล๊าส ที่จะทำกำไรได้มหาศาลในอนาคต
สนามนี้ ต้องเล่นเอง
หลังจากเป็นเจ้าของทีมสโมสรฟุตบอลอย่างเต็มตัว เกือบตลอดทั้งปีที่ผ่านมา “ปวิน ภิรมย์ภักดี” และ “ศุภสิน ลีลาฤทธิ์” 2 ผู้บริหารจากบริษัทบางกอกกล๊าส จำกัด ต้องแบ่งเวลาให้กับทีมฟุตบอล “บางกอกกล๊าส เอฟซี” เกือบครึ่งของการทำงาน เพื่อรันให้ทีมแข็งแกร่งและไปได้ไกล และเมื่อฟอร์มของทีมดี ไต่ขึ้นมาถึงอันดับ 3 ในฤดูกาลที่ผ่านมา ผู้บริหารทั้งสองคนต้องวางกลยุทธ์การสร้างทีม รวมไปถึงหาสปอนเซอร์ เพื่อรับศึกไทยพรีเมียร์ลีกฤดูกาลหน้าที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนมีนาคม 2553
ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แม้จะปิดฤดูกาลไปแล้ว แต่ “ปวิน” บอกว่า เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนยุ่ง และอาจจะยุ่งกว่าตอนเปิดฤดูกาลเสียอีก เพราะธุรกิจนี้ไม่มีวันหยุด
“ถ้าเปรียบกับบริษัท ก็เหมือนกับเป็นช่วงที่ต้องวาง Business Plan สำหรับปีหน้า ว่าบริษัทจะเดินไปในทิศทางใด ทีมฟุตบอลก็เช่นกัน ที่ต้องวางแผนว่าปีหน้ามีเป้าหมายอะไร ต้องทำอะไรบ้าง ดูเรื่องของทีมงาน สต๊าฟโค้ช และนักเตะ ดูผลงานของนักเตะที่ผ่านมา คัด และเลือกเข้าออก ถือเป็นช่วงของการเจรจาซื้อขายนักเตะที่คึกคักมากที่สุด เตรียมพร้อมก่อนเปิดฤดูกาลใหม่”
งานสำคัญนอกจากการดูแลเรื่องการขยาย “สนาม” แล้ว ยังมีเรื่องของการหาสปอนเซอร์ เพื่อให้มีรายได้คุ้มกับค่าใช้จ่ายในปีหน้า อย่างน้อยต้องได้ 30 ล้านบาท หรือเท่ากับค่าใช้จ่ายในฤดูกาลที่ผ่านมา แต่ที่รู้สึกมั่นใจกว่านั้นคือ น่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากสปอนเซอร์
“ผมกับคุณศุภสิน เดินไปหาสปอนเซอร์ด้วยกัน ไปเองเลย” “ปวิน” บอกว่าต่อไปสปอนเซอร์ของทีมเดอะแรบบิท จะไม่ใช่แค่สินค้าในเครือบุญรอดเหมือนฤดูกาลที่ผ่านมา ที่มีน้ำสิงห์ เครื่องดื่ม Bing เขาเชื่อมั่นว่า “ความดัง” ตอนนี้ เพียงพอที่จะขายได้
อย่างไรก็ตาม สปอนเซอร์หลักที่จ่ายหนักที่สุดในหลักสิบล้านบาท ก็ยังคงเป็น “ลีโอ” ที่ได้ทำเลทอง เป็นโลโก้บนอกเสื้อนักแข่ง และเป็นชื่อของสนาม ที่เรียกว่า “ลีโอ สเตเดี้ยม” เพราะถึงอย่างไรก็คือบริษัทในเครือเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีงบส่วนหนึ่งจากของบริษัทบางกอกกล๊าสเอง ซึ่งแม้จะทำธุรกิจรับผลิตขวด ไม่ได้สื่อโดยตรงกับผู้บริโภค แต่ทุกปีบริษัทก็ใช้งบสำหรับโฆษณาประชาสัมพันธ์ และซีเอสอาร์ รวมปีละ 30 ล้านบาทอยู่แล้ว
สำหรับสปอนเซอร์รายอื่นๆ ที่เข้ามา จะได้ป้ายรอบๆ สนาม สื่อรอบสนาม ซึ่งจะมีจอแอลซีดีติดตั้งไว้ด้วย ซึ่งแพ็กเกจราคาจะต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และจำนวนปีในการเซ็นสัญญา
“ปวิน”บอกว่า ไม่ใช่ว่าสปอนเซอร์จะเป็นผู้ตัดสินเลือกว่าจะใช้งบหรือไม่เท่านั้น แต่ทีมเองก็ต้องเลือสปอนเซอร์เหมือนกัน
“เราไม่ได้เอาใครก็ได้ เราต้องดูว่าแบรนด์นั้นเข้ากับนโยบายทีมของเราหรือไม่ แบรนด์กับสโมสรไปด้วยกัน และเขาก็ต้องได้ประโยชน์ทางธุรกิจเหมือนกัน”
กรณีศึกษาสำหรับบางกอกกล๊าส เอฟซี กับสปอนเซอร์รายใหญ่อย่าง “ลีโอ” แม้จะมีบริษัทแม่เดียวกัน แต่ “ปวิน” บอกว่าก็ต้องพรีเซนต์ให้เห็นจุดเชื่อมโยงของทั้งสองด้วยกัน คือ “ลีโอ” เป็นสินค้าสำหรับ Mass มากกว่า “สิงห์” “ลีโอ” จึงเหมาะกับ “บางกอกกล๊าส เอฟซี” มากกว่า นั่นคือสิ่งที่ไปด้วยกันกับทีม
นอกจากนี้แม้จะถือว่าเป็นทีมฟุตบอลเส้นใหญ่ในเครือบุญรอด แต่ “ปวิน” ก็ยังต้องพรีเซนต์ให้ผู้บริหารบุญรอด เห็นว่า จะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการเป็นสปอนเซอร์หลักให้กับทีม สิ่งที่เขาบอกไปมีดังนี้
1. เป็น Distribution Channel ที่ดีสำหรับลีโอ โดยเฉพาะในวันแข่งขันที่เขาสามารถขายสินค้าได้
2. การสร้างแบรนด์ Awareness เมื่อผู้ชมฟุตบอลมาเห็นแบรนด์ในครั้งแรกๆ ในสนาม อาจยังไม่สนใจ แต่เมื่อมาอีก ก็จะสามารถซึมซับแบรนด์เข้าไปในตัวเองได้
3. ผู้บริโภคที่เป็นแฟนของทีม จะสนใจและซื้อสินค้าแบรนด์ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ในทีมที่ตนเองได้ง่ายขึ้น
4. ใช้เป็นเครื่องมือในการทำซีเอสอาร์ได้อย่างดี
แต่ความเสี่ยงของสปอนเซอร์ที่ต้องเตรียมรับ คือ ความสามารถของทีมในการชนะได้อันดับที่ดี จะเป็นแชมป์หรือไม่ นั่นคือสิ่งที่ต้องลุ้นตลอดการแข่งขัน และความเสี่ยงที่อาจควบคุมลำบาก คือแฟนบอลตีกัน หรือแม้แต่นักเตะที่อาจควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ทำให้ภาพลักษณ์ของสโมสรเสียหาย
“ปวิน” บอกว่า ทั้งหมดทำไม่ได้ หากเขาไม่มี “Passionในกีฬาฟุตบอล” และ “ การมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ” เพราะเมื่อชอบแล้ว เขาก็มีพลังขับเคลื่อน
พื้นฐานแล้ว “ปวิน” ชอบฟุตบอล เขารักทีม “ลิเวอร์พูล” และดูการแข่งขันของอีกหลายๆ ทีมในยุโรป เขาชอบและศึกษาจนถึงกับบินไปดูงานของสโมสรฟุตบอลที่เยอรมนี “ไกรเซอร์ชร่าวเทน์” โดยเฉพาะ โดยไม่ได้พ่วงธุรกิจของครอบครัวแต่อย่างใด จนได้ร่วมกันเป็นพันธมิตรฝึกสอนนักฟุตบอลเยาวชนร่วมกัน
สำหรับบางกอกล๊าส เอฟซี ถือเป็นความลงตัวตั้งแต่ผู้บริหารไฟแรง เกมฟุตบอลที่เข้มข้น จนมาถึงธุรกิจที่วางไว้ด้วยกลยุทธ์ ทำให้ “ปวิน” มั่นใจว่าแม้ลูกกลมๆ นี้จะไม่มีอะไรแน่นอนในสนาม แต่หากตั้งใจแล้ว เม็ดเงินในธุรกิจนี้ต้องสะพัดอย่างแน่นอน
ขุมกำลัง “เดอะแรบบิท”
ชื่อทีม : บางกอกกล๊าส เอฟซี
บริษัท : “บีจี เอฟซี” จำกัด
ประธานสโมสร : “ปวิน ภิรมย์ภักดี” ทายาทตระกูลดัง อาณาจักร “บุญรอดบริวเวอรี่”
ผู้จัดการทีม และรองประธานสโมสร : “ศุภสิน ลีลาฤทธิ์” ผู้อำนวยการพาณิชย์ บริษัทบางกอกกล๊าส จำกัด
โค้ช : “สุรชัย จตุรภัทรพงศ์” หรือ “โค้ชง้วน” อดีตนักเตะทีมชาติไทย
จำนวนนักเตะ : 35 คน (ชุดไทยฯลีก) ต่างชาติ 4 คน
แฟนคลับ : 5,000 คน ชาย 80% หญิง 20% จากโรงงานบางกอกกล๊าส 15% คนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี 85%
คนดูเฉลี่ยต่อนัด : เลกแรก 1,823 คน เลกสอง 5,000 คน
สนาม : “ลีโอสเตเดี้ยม” ความจุผู้ชม 6,500 คน
สปอนเซอร์หลัก : “ลีโอ”
กลุ่มนายทุน : เครือบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่
พื้นที่กลุ่มเป้าหมาย : จังหวัดปทุมธานี
สื่อ : นิตยสารแจ้งข่าว “Warren”
เว็บไซต์ Bangkokglassfc.com
โซเชียลเน็ตเวิร์ค Facebook , hi5
E-magazine
สัดส่วนรายได้ (ทำเป็นวงกลม)
ปี 2552 อนาคต
สปอนเซอร์ 87% 43%
สินค้าที่ระลึก 9% 14%
ค่าตั๋ว 4% 9%
ค่าตัวนักเตะ – 3%
สิ่งอำนวยความสะดวก บันเทิง – 8%
อาหารและเครื่องดื่ม – 23%
สนาม “ลีโอ สเตเดี้ยม” คลอง 3
ความจุ 9,500 ที่นั่ง
สมบูรณ์แล้วเสร็จ เดือนธันวาคม2010
ห้องวีไอพี 24 ห้อง
ห้องสื่อมวลชน
แผนการขยายในอนาคต
-เพิ่มความจุอีก 7,000 ที่นั่ง
-ห้องวีไอพี 24 ห้อง
-บางกอกกล๊าส มิวเซียม
-บางกอกกล๊าส ช็อป
-ภัตตาคาร
-ห้องแถลงข่าว
-บางกอกกล๊าส สปอร์ตคอมเพล็กซ์
สนามปทุมธานี คลอง3
-สนามฟุตบอลขนาด 45*60เมตร
-สนามฟุตซอลกลางแจ้ง
-สนามฟุตซอลกลางแจ้ง หญ้าเทียม 2 สนาม
-สนามตะกร้อ
-สนามเทนนิส
-ที่พักรองรับได้ 100 คน
-สำนักงานของสโมสรบางกอกกล๊าสเอฟซี
-ห้องสัมมนาจุได้ 400 คน
เทรนนิ่งเซ็นเตอร์ สนามปทุมธานี คลอง 4
-สนามฟุตบอล 55*100 เมตร
-ที่พัก 20 ห้อง
-ห้องแต่งตัว2ห้อง
-ออฟฟิศของสต๊าฟโค้ช
-ห้องฟิตเนส
-ห้องกายภาพ
-ห้องปฐมพยาบาล
-ห้องนวด
-ห้องเอนกประสงค์