สังเวียนแข้ง สังเวียนการเมือง

กระแสไทยพรีเมียร์ลีกพุ่งปรี๊ดนอกจากจะดึงดูดเม็ดเงินจากธุรกิจและโฆษณา ยังเป็นเป้าหมายของบรรดานักการเมืองที่หวังเข้ามาสร้างแรงศรัทธาผ่าน Big Event ระยะยาวนี้ด้วยเช่นกัน มีทั้งการเข้ามาครอบครองสโมสร การเป็นสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนสโมสร ไปจนถึงการก่อตั้งถ้วยรางวัลใหม่ในชื่อขององค์กรตัวเอง

เริ่มต้นที่ความสำเร็จของ ชลบุรี เอฟซี ตั้งแต่ปี 2549 ที่เป็นผลจากการก้าวเข้ามาของทุนการเมืองท้องถิ่นที่เคยเป็นทุนระดับชาติมาก่อนอย่างตระกูล “คุณปลื้ม” มาสนับสนุนสโมสรตั้งแต่ปี 2543 แล้วปฏิรูปสโมสรให้เป็นมืออาชีพตามแนวของสโมสรฟุตบอลในยุโรป ประสบความสำเร็จคว้าแชมป์และรองแชมป์หลายสมัยต่อเนื่อง สร้างเรื่องราวความสำเร็จให้เป็นตัวอย่างของสโมสรอื่นๆ ถูกกล่าวถึงในสื่อต่างๆ และเรียกแฟนเข้าสนามได้ล้นหลามแทบทุกนัด พาให้ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของกลุ่ม “คุณปลื้ม” พุ่งด้านบวกไปกับสโมสร สะท้อนผ่านความสำเร็จในศึกเลือกตั้งท้องถิ่น

พัทยา ยูไนเต็ด ทีมร่วมเมืองชลบุรี ก็เป็นอีกสโมสรที่อยู่ในอ้อมอกกลุ่ม “คุณปลื้ม” ถัดจากชลบุรีเอฟซีตั้งแต่ปี 2545 ในชื่อ “โค้ก-เทศบาลตำบลบางพระ” ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น พัทยา ยูไนเต็ด และปรับการบริหารให้เป็นธุรกิจเต็มตัวเมื่อปีที่แล้วให้สอดรับกับข้อบังคับของ AFC และเป็นทีมพี่ทีมน้องกับชลบุรี เอฟซี เห็นได้ชัดจากเก้าอี้ประธานฯของชลบุรีฯนั้นเป็น วิทยา คุณปลื้ม ส่วนประธานฯของพัทยาฯ นั้นเป็น สนธยา คุณปลื้ม และโค้ชของพัทยาฯคนปัจจุบันอย่าง จเด็ด มีลาภ นั้นก็เคยปลุกปั้นชลบุรี เอฟซีในยุคแรกของความสำเร็จช่วง 2549 มาก่อน

ไม่ใช่เพียงแค่การเมืองภูธร กรุงเทพมหานครเองก็มีโมเดลนี้อยู่ที่สโมสร บางกอก ยูไนเต็ด ที่เดิมเป็นสโมสรมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แต่เมื่อต้องแปรรูปจากกฏของ AFC แยกออกมาเป็นบริษัท สโมสรก็เลือกที่จะไปสู่ความเป็นทีมจังหวัดมากกว่าทีมมหาวิทยาลัย จึงใช้ชื่อสโมสรบางกอกยูไนเต็ด และเล็งไปที่การจับมือกับฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครในยุคของอภิรักษ์ โกษะโยธิน

ดีลนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ที่จัดเมืองหลวงไว้เป็นแนวรบสำคัญที่สุดที่ต้องยึดให้ได้ทั้งในการเลือกตั้งระดับชาติและการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จึงมีการผนึกกำลังกันสะท้อนผ่านเก้าอี้ประธานสโมสรที่ตกเป็นของอภิรักษ์ ที่นอกจากจะดูแลการบริหารสโมสรแล้ว ยังจัดการงานประชาสัมพันธ์และเป็นพรีเซ็นเตอร์ของสโมสรไปด้วยในตัว และแม้ปัจจุบันจะเป็น ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ เป็นผู้ว่าฯ แต่อภภิรักษ์ก็ยังคงเป็นประธานต่อไปเพราะไม่มีเก้าอี้ประธานสโมสรนั้นผลกระทบจากตำแหน่งทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

การรอดตกชั้นไทยพรีเมียร์ลีกอย่างหวุดหวิดในปีนี้ของบางกอก ยูไนเต็ด จึงน่าจับตามองว่าปีหน้าประชาธิปัตย์โดยอภิรักษ์จะปรับปรุงสโมสรอย่างไร เพราะนั่นหมายถึงภาพลักษณ์ของเขาและพรรคส่วนหนึ่งผูกไว้ที่ความสำเร็จล้มเหลวของบางกอก ยูไนเต็ดด้วย

และข่าวร้อนล่าสุดที่เป็นจุดชี้ว่าไทยพรีเมียร์ลีกก้าวสู่ความเป็นสมรภูมิการเมืองเต็มรูปแบบแล้วก็คือ การเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรทีโอที โดย เนวิน ชิดชอบ แห่งพรรคภูมิใจไทยและบุรีรัมย์ ผ่านคอนเนกชั่นของโค้ช พงษ์พันธุ์ วงษ์สุวรรณ น้องชายแท้ๆ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และเตรียมย้ายสนามแข่งจากสนามกีฬากลางกาญจนบุรี ไปอยู่ที่สนามแห่งใหม่ที่มีข่าวลงทุนสร้างกว่า 200 ล้าน ที่จังหวัดบุรีรัมย์แทน

แม้แผนการเทกโอเวอร์ทีโอที อาจต้องสะดุด และทำให้กลุ่มนี้หันไปดีลกับสโมสรฟุตบอลทหารบก ที่กลุ่มทุนคิงเพาเวอร์จ้องอยู่แทน แต่ก็ชัดเจนว่ากลุ่มเนวินไม่หยุด และต้องเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลให้ได้

เป็นที่รู้กันว่า อีสาน นั้นเป็นแนวรบสำคัญของการเลือกตั้งทุกสมัย และบุรีรัมย์ก็คือเมืองหลวงของภูมิใจไทยและเนวินที่หวังจะใช้เป็นฐานขยายความนิยมทางการเมืองไปสู่จังหวัดใกล้เคียงด้วย และชัยนาทก็เป็นอีกแห่งที่พรรคภูมิใจไทยครอบครองอยู่ โดยมี อนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส. สามีของพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ คนปัจจุบัน นั่งประธานสโมสร “ชัยนาทเอฟซี” อยู่ที่ดิวิชั่น2

พรรคเพื่อไทยก็ไม่พลาดที่จะลงสนามเกมนี้ เพราะที่ศรีสะเกษ น้องใหม่ไทยพรีเมียร์ลีกปีหน้า ก็มี ส.ส.อีสานกลุ่ม “ขุนค้อน” ในสังกัดพรรคเพื่อไทยสายของ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งกลุ่มนี้อยู่ใต้การนำของ “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ที่นอกจากจะเป็นเจ้าของสโมสร ยังส่งคนในตระกูลคือ “สมบัติ เกียรติสุรนนท์” มาเป็นประธานสิทธิประโยชน์รับหน้าที่บริหารงานธุรกิจทั้งหมดของทีม ซึ่งล่าสุด “ศรีสะเกษ เอฟซี” ก็เตรียมเป็นตัวแทนหนึ่งเดียวจากอีสานมาโลดแล่นในฤดูกาล 2553 แล้ว

พรรคเพื่อไทยยังมี ยงยุทธ ติยะไพรัช ที่เลือกเทกโอเวอร์ “สโมสรฟุตบอลจังหวัดเชียงราย” มาเปลี่ยนชื่อเป็น เชียงราย ยูไนเต็ด แล้วส่งลูกชายวัยเพียง 23 ปีคือ มิตติ ติยะไพรัช มานั่งประธานสโมสร ล่าสุดคว้าแชมป์ดิวิชั่น2 เตรียมขึ้นสู่ดิวิชั่น 1 ในฤดูกาลหน้า 2553 แล้ว

ในกรุงเทพฯนั้นพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ทิ้ง เพราะแชมป์ล่าสุดอย่าง เมืองทอง ยูไนเต็ด ก็มีผู้อำนวยการสโมสรเป็น “กึ้ง” เฉลิมชัย มหากิจศิริ แห่งเนสกาแฟซึ่งเป็นสปอนเซอร์อยู่ด้วย มาปรากฏตัวโดดเด่นเคียงข้างสตาฟฟ์โค้ชในทุกนัด และก่อนนี้เฉลิมชัยก็นั่งประธานสโมสรมาก่อนในยุคที่ยังอยู่ในดิวิชั่น 2 และ1 ก่อนที่ “ประธานตัวจริง” อย่าง ระวิ โหลทอง จะมานั่งอย่างเต็มตัวในปีนี้

และในระดับสูงสุดของเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวแท้ๆ ของทักษิณ กำลังใช้มูลนิธิไทยคม ไปสนับสนุนตั้งถ้วยรางวัล “ไทยคม เอฟเอคัพ” ให้ทีมทุกดิวิชั่นมาจับสลากเล่น “น็อกเอาต์” แพ้คัดออกตามแบบอังกฤษ ซึ่งยิ่งลักษณ์กับ “โอ๊ค” พานทองแท้ ก็ปรากฏตัวโดดเด่นในการมอบรางวัลและแถลงข่าวต่างๆ ของรายการนี้ร่วมกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยด้วย

ความสำเร็จล้มเหลวของทุนการเมืองในสโมสรฟุตบอลขึ้นกับ 2 ทาง ทางแรกคือการปรากฏตัวในสนาม ณ วันแข่งขัน มอบรางวัล ของที่ระลึก หรืออยู่เคียงข้างสตาฟฟ์โค้ชและนักฟุตบอลในฐานะผู้บริหาร ให้แฟนๆ เห็นถึงความใส่ใจทุ่มเทเพื่อท้องถิ่น สร้างความรู้สึก “เป็นพวกเดียวกัน” สนับสนุนในทีมที่ประชาชนรักอย่างที่แทบทุกรายทำอยู่

ทางที่สองซึ่งใครก็อยากทำให้สำเร็จ ก็คือต้องคว้าถ้วยรางวัล หรือขึ้นชั้นสู่ดิวิชั่นสูงขึ้นไป และสูงสุดคือเป็นแชมป์ไทยพรีเมียรลีกให้ได้ ย่อมจะได้แปรความปลื้มใจของแฟนๆ มาเป็นความนิยมในกลุ่มการเมืองของตัวเองอย่างเช่นที่ชลบุรี เอฟซีทำสำเร็จมาแล้ว

และแม้จะต้องการความนิยมแค่ไหน ทุกกลุ่มทุกทีมก็ยังต้องอยู่ภายใต้กฎเหล็ก AFC ที่ต้องทำอย่างธุรกิจเต็มตัว เช่นห้ามแจกบัตรฟรี แจกเสื้อฟรี และห้ามบิดเบือนเรื่องของกีฬาให้เป็นเรื่องของการเมือง ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่าเส้นแบ่งของเรื่องนี้จะอยู่ที่ใด