สนามนี้ ต้องเล่นเอง

หลังจากเป็นเจ้าของทีมสโมสรฟุตบอลอย่างเต็มตัว เกือบตลอดทั้งปีที่ผ่านมา “ปวิน ภิรมย์ภักดี” และ “ศุภสิน ลีลาฤทธิ์” 2 ผู้บริหารจากบริษัทบางกอกกล๊าส จำกัด ต้องแบ่งเวลาให้กับทีมฟุตบอล “บางกอกกล๊าส เอฟซี” เกือบครึ่งของการทำงาน เพื่อรันให้ทีมแข็งแกร่งและไปได้ไกล และเมื่อฟอร์มของทีมดี ไต่ขึ้นมาถึงอันดับ 3 ในฤดูกาลที่ผ่านมา ผู้บริหารทั้งสองคนต้องวางกลยุทธ์การสร้างทีม รวมไปถึงหาสปอนเซอร์ เพื่อรับศึกไทยพรีเมียร์ลีกฤดูกาลหน้าที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนมีนาคม 2553

ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แม้จะปิดฤดูกาลไปแล้ว แต่ “ปวิน” บอกว่า เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนยุ่ง และอาจจะยุ่งกว่าตอนเปิดฤดูกาลเสียอีก เพราะธุรกิจนี้ไม่มีวันหยุด

“ถ้าเปรียบกับบริษัท ก็เหมือนกับเป็นช่วงที่ต้องวาง Business Plan สำหรับปีหน้า ว่าบริษัทจะเดินไปในทิศทางใด ทีมฟุตบอลก็เช่นกัน ที่ต้องวางแผนว่าปีหน้ามีเป้าหมายอะไร ต้องทำอะไรบ้าง ดูเรื่องของทีมงาน สต๊าฟโค้ช และนักเตะ ดูผลงานของนักเตะที่ผ่านมา คัด และเลือกเข้าออก ถือเป็นช่วงของการเจรจาซื้อขายนักเตะที่คึกคักมากที่สุด เตรียมพร้อมก่อนเปิดฤดูกาลใหม่”

งานสำคัญนอกจากการดูแลเรื่องการขยาย “สนาม” แล้ว ยังมีเรื่องของการหาสปอนเซอร์ เพื่อให้มีรายได้คุ้มกับค่าใช้จ่ายในปีหน้า อย่างน้อยต้องได้ 30 ล้านบาท หรือเท่ากับค่าใช้จ่ายในฤดูกาลที่ผ่านมา แต่ที่รู้สึกมั่นใจกว่านั้นคือ น่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากสปอนเซอร์

“ผมกับคุณศุภสิน เดินไปหาสปอนเซอร์ด้วยกัน ไปเองเลย” “ปวิน” บอกว่าต่อไปสปอนเซอร์ของทีมเดอะแรบบิท จะไม่ใช่แค่สินค้าในเครือบุญรอดเหมือนฤดูกาลที่ผ่านมา ที่มีน้ำสิงห์ เครื่องดื่ม Bing เขาเชื่อมั่นว่า “ความดัง” ตอนนี้ เพียงพอที่จะขายได้

อย่างไรก็ตาม สปอนเซอร์หลักที่จ่ายหนักที่สุดในหลักสิบล้านบาท ก็ยังคงเป็น “ลีโอ” ที่ได้ทำเลทอง เป็นโลโก้บนอกเสื้อนักแข่ง และเป็นชื่อของสนาม ที่เรียกว่า “ลีโอ สเตเดี้ยม” เพราะถึงอย่างไรก็คือบริษัทในเครือเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีงบส่วนหนึ่งจากของบริษัทบางกอกกล๊าสเอง ซึ่งแม้จะทำธุรกิจรับผลิตขวด ไม่ได้สื่อโดยตรงกับผู้บริโภค แต่ทุกปีบริษัทก็ใช้งบสำหรับโฆษณาประชาสัมพันธ์ และซีเอสอาร์ รวมปีละ 30 ล้านบาทอยู่แล้ว
สำหรับสปอนเซอร์รายอื่นๆ ที่เข้ามา จะได้ป้ายรอบๆ สนาม สื่อรอบสนาม ซึ่งจะมีจอแอลซีดีติดตั้งไว้ด้วย ซึ่งแพ็กเกจราคาจะต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และจำนวนปีในการเซ็นสัญญา

“ปวิน”บอกว่า ไม่ใช่ว่าสปอนเซอร์จะเป็นผู้ตัดสินเลือกว่าจะใช้งบหรือไม่เท่านั้น แต่ทีมเองก็ต้องเลือสปอนเซอร์เหมือนกัน

“เราไม่ได้เอาใครก็ได้ เราต้องดูว่าแบรนด์นั้นเข้ากับนโยบายทีมของเราหรือไม่ แบรนด์กับสโมสรไปด้วยกัน และเขาก็ต้องได้ประโยชน์ทางธุรกิจเหมือนกัน”

กรณีศึกษาสำหรับบางกอกกล๊าส เอฟซี กับสปอนเซอร์รายใหญ่อย่าง “ลีโอ” แม้จะมีบริษัทแม่เดียวกัน แต่ “ปวิน” บอกว่าก็ต้องพรีเซนต์ให้เห็นจุดเชื่อมโยงของทั้งสองด้วยกัน คือ “ลีโอ” เป็นสินค้าสำหรับ Mass มากกว่า “สิงห์” “ลีโอ” จึงเหมาะกับ “บางกอกกล๊าส เอฟซี” มากกว่า นั่นคือสิ่งที่ไปด้วยกันกับทีม

นอกจากนี้แม้จะถือว่าเป็นทีมฟุตบอลเส้นใหญ่ในเครือบุญรอด แต่ “ปวิน” ก็ยังต้องพรีเซนต์ให้ผู้บริหารบุญรอด เห็นว่า จะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการเป็นสปอนเซอร์หลักให้กับทีม สิ่งที่เขาบอกไปมีดังนี้

1. เป็น Distribution Channel ที่ดีสำหรับลีโอ โดยเฉพาะในวันแข่งขันที่เขาสามารถขายสินค้าได้
2. การสร้างแบรนด์ Awareness เมื่อผู้ชมฟุตบอลมาเห็นแบรนด์ในครั้งแรกๆ ในสนาม อาจยังไม่สนใจ แต่เมื่อมาอีก ก็จะสามารถซึมซับแบรนด์เข้าไปในตัวเองได้
3. ผู้บริโภคที่เป็นแฟนของทีม จะสนใจและซื้อสินค้าแบรนด์ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ในทีมที่ตนเองได้ง่ายขึ้น
4. ใช้เป็นเครื่องมือในการทำซีเอสอาร์ได้อย่างดี

แต่ความเสี่ยงของสปอนเซอร์ที่ต้องเตรียมรับ คือ ความสามารถของทีมในการชนะได้อันดับที่ดี จะเป็นแชมป์หรือไม่ นั่นคือสิ่งที่ต้องลุ้นตลอดการแข่งขัน และความเสี่ยงที่อาจควบคุมลำบาก คือแฟนบอลตีกัน หรือแม้แต่นักเตะที่อาจควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ทำให้ภาพลักษณ์ของสโมสรเสียหาย

“ปวิน” บอกว่า ทั้งหมดทำไม่ได้ หากเขาไม่มี “Passionในกีฬาฟุตบอล” และ “ การมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ” เพราะเมื่อชอบแล้ว เขาก็มีพลังขับเคลื่อน

พื้นฐานแล้ว “ปวิน” ชอบฟุตบอล เขารักทีม “ลิเวอร์พูล” และดูการแข่งขันของอีกหลายๆ ทีมในยุโรป เขาชอบและศึกษาจนถึงกับบินไปดูงานของสโมสรฟุตบอลที่เยอรมนี “ไกรเซอร์ชร่าวเทน์” โดยเฉพาะ โดยไม่ได้พ่วงธุรกิจของครอบครัวแต่อย่างใด จนได้ร่วมกันเป็นพันธมิตรฝึกสอนนักฟุตบอลเยาวชนร่วมกัน

สำหรับบางกอกล๊าส เอฟซี ถือเป็นความลงตัวตั้งแต่ผู้บริหารไฟแรง เกมฟุตบอลที่เข้มข้น จนมาถึงธุรกิจที่วางไว้ด้วยกลยุทธ์ ทำให้ “ปวิน” มั่นใจว่าแม้ลูกกลมๆ นี้จะไม่มีอะไรแน่นอนในสนาม แต่หากตั้งใจแล้ว เม็ดเงินในธุรกิจนี้ต้องสะพัดอย่างแน่นอน

สัดส่วนรายได้
ปี 2552 อนาคต
สปอนเซอร์ 87% 43%
สินค้าที่ระลึก 9% 14%
ค่าตั๋ว 4% 9%
ค่าตัวนักเตะ – 3%
สิ่งอำนวยความสะดวก บันเทิง – 8%
อาหารและเครื่องดื่ม – 23%

สนาม “ลีโอ สเตเดี้ยม” คลอง 3
ความจุ 9,500 ที่นั่ง
สมบูรณ์แล้วเสร็จ เดือนธันวาคม2010
ห้องวีไอพี 24 ห้อง
ห้องสื่อมวลชน
แผนการขยายในอนาคต
-เพิ่มความจุอีก 7,000 ที่นั่ง
-ห้องวีไอพี 24 ห้อง
-บางกอกกล๊าส มิวเซียม
-บางกอกกล๊าส ช็อป
-ภัตตาคาร
-ห้องแถลงข่าว
-บางกอกกล๊าส สปอร์ตคอมเพล็กซ์

สนามปทุมธานี คลอง3
-สนามฟุตบอลขนาด 45*60เมตร
-สนามฟุตซอลกลางแจ้ง
-สนามฟุตซอลกลางแจ้ง หญ้าเทียม 2 สนาม
-สนามตะกร้อ
-สนามเทนนิส
-ที่พักรองรับได้ 100 คน
-สำนักงานของสโมสรบางกอกกล๊าสเอฟซี
-ห้องสัมมนาจุได้ 400 คน

เทรนนิ่งเซ็นเตอร์ สนามปทุมธานี คลอง 4
-สนามฟุตบอล 55*100 เมตร
-ที่พัก 20 ห้อง
-ห้องแต่งตัว2ห้อง
-ออฟฟิศของสต๊าฟโค้ช
-ห้องฟิตเนส
-ห้องกายภาพ
-ห้องปฐมพยาบาล
-ห้องนวด
-ห้องเอนกประสงค์