หลังจากปรากฏการณ์ไทยลีกบูมแบบก้าวกระโดดในปีนี้แล้ว หากจะทำนายอนาคตวงการฟุตบอลไทย ก็อาจทำได้จากการมองไปที่กลุ่มประเทศต้นแบบอย่างอังกฤษและยุโรป ที่ทั้งธุรกิจและการเมืองสามารถอยู่ร่วมในระบบฟุตบอลอาชีพได้แบบไม่เป็นอุปสรรค แถมยังเป็นทรัพยากรขับเคลื่อนชั้นดีให้ทีมก้าวหน้าเติบใหญ่ได้
หากจะถามต่อว่าสุดท้ายแล้วฟุตบอลไทยลีกเติบโตแล้วประเทศไทยได้อะไร ก็ต้องไปดูตัวอย่างใกล้ๆ คือฟุตบอล J-League ของญี่ปุ่น ที่เป็นเสมือนหัวรถไฟชินคังเซ็นที่ลากเอาทั้งทีมชาติ วงการฟุตบอล และเศรษฐกิจสังคมโดยรวมสู่ความก้าวหน้าได้อย่างโดดเด่น เป็นโมเดลที่หลายๆ ประเทศในเอเชียยึดเป็นแบบอย่าง
หลากเส้นทางสโมสรใหญ่ในยุโรป
การปฏิวัติบอลไทยรอบนี้ มีต้นแบบและเป้าหมายที่ได้แนวทางมาจากสโมสรฟุตบอลอาชีพในยุโรป ซึ่งความเป็นจริงแล้ว นอกจากสโมสรในยุโรปส่วนใหญ่จะเดินหน้าแบบธุรกิจของตัวเองอย่างเต็มตัวแล้ว ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งเป็นของทุนการเมืองแบบชัดเจน ซึ่งเป็นทิศทางที่ทุกสโมสรในไทยต่างกำลังเลือกเดินไปเช่นกัน
ทิศทางธุรกิจเต็มตัวนั้นชัดเจนที่สุดในอังกฤษ เช่นสโมสรใหญ่ๆ อย่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ลิเวอร์พูล และอาร์เซนอลกับเชลซีแห่งลอนดอน แต่ละแห่งล้วนเปลี่ยนสปอนเซอร์มาหลายรายในประวัติศาสตร์สโมสร และก็ถูกซื้อขายเปลี่ยนมือโดยกลุ่มทุนต่างๆ แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงสโมสรได้ เพราะสโมสรมีความเป็นองค์กรที่ยั่งยืนยาวนาน การตัดสินใจใดๆ ต้องมีผลดีทั้งทางธุรกิจและทางกีฬาอย่างแท้จริง และได้รับความเห็นด้วยจากกลุ่มแฟนบอลพอสมควร
เช่นกรณีลิเวอร์พูล สโมสรที่มีจุดเด่นที่ตำนานความยิ่งใหญ่ในอดีตมาอย่างยาวนาน และมีกลุ่มแฟนบอลที่ทุ่มเทสร้างบรรยากาศการเชียร์ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเร้าใจที่สุดในโลกทีมหนึ่ง มีฐานแฟนบอลเป็นคนทำงานวัย 30-40 ปีขึ้นไปที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม กลุ่มทุนยิลเลตต์เข้ามาเทกโอเวอร์เมื่อ 2 ปีที่แล้วเกือบไม่สำเร็จเพราะพบกับแรงต้าน เมื่อเข้ามาได้แล้วจะย้ายไปสร้างสนามใหม่ก็ยังทำไม่ได้ เพราะถูกแรงต้านจากแฟนบอลและความไม่พร้อมทางการเงิน และล่าสุดก็ทำท่าจะอยู่ไม่ได้เพราะถูกกระแสต่อต้านอีกครั้งจากผลงานที่ไม่ได้ดังใจแฟนบอล
ส่วนแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เป็นธุรกิจที่ทำการตลาดระดับโลก สามารถทำรายได้จนกลายเป็นสโมสรที่รวยที่สุดในโลก ทั้งจากค่าตั๋วจากสนามที่ขยายทุกปีจนล่าสุดจุกว่า 7 หมื่นคน และจากของที่ระลึก จากเคเบิลทีวี MUTV จากสปอนเซอร์ และอีกสารพัดแหล่ง และยังใช้การซื้อนักฟุตบอลต่างชาติมาช่วยเปิดตลาดใหม่ๆ เช่นการซื้อ ปาร์คจีซอง นักเตะเกาหลีที่สร้างยอดขายสินค้าแมนฯยูฯในแดนโสมได้มากมาย
ส่วนอาร์เซนอลและเชลซี ด้วยความที่เป็นทีมในลอนดอน เมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางการค้าแห่งหนึ่งของโลกมายาวนาน จึงมีลักษณะทุนนิยมเปิดกว้างอย่างชัดเจน การสร้างและย้ายสนามใหม่ของอาร์เซนอลในชื่อ “Emirates Stadium” ตามชื่อสายการบินที่เป็นสปอนเซอร์หลักเมื่อหลายปีก่อน จึงเป็นไปอย่างราบรื่นสร้างเม็ดเงินให้มากมาย ส่วนเชลซีก็ต้อนรับการมาของ โรมัน อับราโมวิช มหาเศรษฐีน้ำมันจากรัสเซียอย่างยินดี ซึ่งก็ลงทุนมหาศาลทำให้สโมสรขึ้นจากระดับกลางๆ ของอังกฤษมาอยู่แนวหน้าของยุโรปและของโลกได้ในหลายปีนี้
ส่วนสโมสรที่อิงกับการเมืองนั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนอยู่ในอิตาลี คือ AC Milan ของนายกรัฐมนตรี ซิลวิโอ เบอร์ลุสโคนี่ ที่เข้ามาเทกโอเวอร์ทีมตั้งแต่ปี 1989 สมัยที่เป็นนักธุรกิจอสังหาฯและสื่อ ยังไม่เข้าวงการเมือง แต่จากนั้นเมื่อลงทุนมหาศาลซื้อตัวนักฟุตบอลดังๆมาหลายคน ก็สามารถพาทีมคว้าแชมป์สโมสรยุโรปได้ถึง 3 สมัย ทำให้ทีมที่เคยยิ่งใหญ่ในยุค 60’s อย่างเอซีมิลานกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และเป็นฐานความนิยมส่งให้เบอร์ลุสโคนี่ลงสนามการเมือง ชนะเลือกตั้งระดับชาติจนเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในที่สุด
อีกสโมสรในอิตาลีที่เป็นของกลุ่มทุนที่แนบแน่นกับการเมือง คือสโมสร Juventus F.C. แห่งเมือง Turin ซึ่งถูกเทกโอเวอร์โดยกลุ่มทุนตระกูล Agnelli (อันเญลลี่) เจ้าของบริษัทรถยนต์ Fiat มาตั้งแต่ ค.ศ. 1923 มาถึงปัจจุบัน ซึ่งตระกูลนี้นอกจากทำธุรกิจรถแล้ว ยังมีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในอิตาลีที่มีฐานเป็นสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมซึ่งก็เป็นทั้งคนงานของเฟียตและแฟนบอลของยูเวนตุสด้วย อีกทั้งสมาชิกในตระกูลเช่น Gianni Agnelli อดีตประธานสโมสรเคยเล่นการเมืองและเป็นวุฒิสมาชิกมาแล้ว
ส่วนอนาคตสโมสรฟุตบอลไทยที่กำลังเดินหน้าตามแนวทางยุโรปแต่ก็มีวัฒนธรรมที่แตกต่าง ฉะนั้นธุรกิจกับการเมืองจะมีบทบาทกับแต่ละสโมสรอย่างไร หรือจะมีโมเดลใหม่ๆ เกิดขึ้นมา จึงน่าจับตามองอย่างยิ่งในปีหน้า
J-League นำสิ่งดีดีสู่ญี่ปุ่น
แม้จะไทยลีกจะเดินหน้าสู่โมเดลยุโรป แต่เป้าหมายขั้นแรกที่ใกล้ตัวกว่าคือชาติเอเชียแถวหน้าอย่างเช่น J-league ของญี่ปุ่น ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1965 ในชื่อว่า JSL มีทีมเข้าร่วมเพียง 8 ทีม และก็เงียบเหงายาวนานเป็นสิบๆ ปีเพราะการบริหารสโมสรยังขาดการตลาดที่จะปลุกเร้าและเข้าถึงแฟนกีฬาที่ส่วนใหญ่ชอบแต่เบสบอลและซูโม่ได้ จนกระทั่งปี 1993 จุดเปลี่ยนวงการฟุตบอลญี่ปุ่นก็มาถึง เมื่อสมาคมฟุตบอลปรับรูปแบบการแข่งขันและใช้ชื่อว่า “J-League”
นอกจากความไม่เป็นการตลาดของแต่ละสโมสรแล้ว รูปแบบเดิมของ JSL นั้นมีจุดด้อยที่ระบบการแข่งขัน ที่แบ่งเป็นหลายกลุ่มหลายรอบ ทำให้มีทีมสโมสรจำนวนมากที่ตกรอบไปก่อนนั้นขาดการมีส่วนร่วม จนเมื่อเปลี่ยนระบบเป็นพบกันหมดทั้งฤดูกาล กินเวลานานเกือบปีแบบที่อังกฤษและประเทศยักษ์ใหญ่ในยุโรปทำกัน J-League ก็เติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1993 นั้นมาถึงปัจจุบัน
หันกลับมามองเมืองไทย รูปแบบการแข่งขันถ้วย ก. ถ้วย ข. หรือสารพัดถ้วยที่ผ่านมายาวนานในอดีตโดยไม่มีลีกแบบพบกันหมดทำให้วงการฟุตบอลไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรเช่นกัน
5 ปีหลังจากการปฏิรูปเป็น J-League เมื่อปี 1993 กลายเป็นแรงส่งให้ทีมชาติญี่ปุ่นก้าวหน้าเข้ารอบสุดท้ายบอลโลกในปี 1998 และญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลกปี 2002 กับเข้ารอบสุดท้ายบอลโลกอีกครั้งในปี 2006 อีกทั้งนักฟุตบอลญี่ปุ่นก็หลายเป็นที่ต้องการของสโมสรในยุโรป ไปค้าแข้งโด่งดังระดับโลก เช่น ฮิเดโตชิ นากาตะ, ชินจิ โอโนะ, ชุนสุเกะ นากามูระ และอีกมากมาย
ฟุตบอลเจลีกช่วยสร้างงานใหม่ๆ สร้างโอกาสให้เด็กญี่ปุ่นได้มากมาย การเป็นเจ้าภาพบอลโลกช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ประเทศญี่ปุ่นได้มหาศาล และการมีนักเตะเก่งๆ ไปค้าแข้งต่างประเทศ กับมีนักเตะต่างชาติชั้นดีมาเป็นแม่เหล็กในเจลีก ทำให้ฟุตบอลญี่ปุ่นกลายเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม ทั้งในรูปแบบการถ่ายทอดสดดาวเทียมและอินเทอร์เน็ตไปทั่วโลก ไปจนถึงการทำออกมาเป็นวิดีโอเกม เกมคอมพิวเตอร์จากสารพัดค่าย
ความสำเร็จทั้งหมดนี้จะมีขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีการปฏิรูปเป็น J-League เมื่อปี 1993 และนี่ก็คือโมเดลที่ใกล้ตัวไทย และเป็นเป้าหมายที่หลายคนในวงการฟุตบอลจับจ้องหวังจะผลักดันกระแสบอลไทยบูมรอบนี้ให้ตามรอยความสำเร็จของเจลีกและวงการฟุตบอลญี่ปุ่นให้ได้