“งานวิ่ง” เกลื่อนเมือง แต่ทำไมใครๆ ถึง “อยากจัด”

ภาพของเพื่อนๆ และคนใกล้ชิดที่โพสต์ใน Facebook หรือ Instagram อวดรูปตัวเองใน “งานวิ่ง” ต่างๆ ที่จัดขึ้นต่อเนื่องมาตลอดหลายปีมานี้ คงเป็นที่คุ้นตาไม่มากก็น้อย

นับวันแนวโน้มของงานวิ่งยังมีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างปีนี้ คาดว่าอาจพุ่งสูงถึง 1,500 งาน จนเป็นที่มาของคำถาม ทำไม “งานวิ่ง” ถึงฮิต? คำตอบที่บอกว่า เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ง่าย มี “รองเท้าคู่เดียว” แล้วสามารถทำกิจกรรมได้เลย คงใช่ไม่คำตอบที่สามารถอธิบายทุกอย่างได้ชัดเจนแน่นอน?

เพราะแท้จริงแล้ว “งานวิ่ง” เกิดขึ้นในเมืองไทยได้ 40 ปีแล้ว แม้ดูเป็นระยะเวลาที่ยาวนานแต่ต้องบอกว่าไทยเกิดตามหลังต่างประเทศอยู่พักใหญ่ เอาเฉพาะงานวิ่งที่นักวิ่งทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นต่างใฝ่ฝันอยากเข้าร่วมสักครั้งอย่าง “บอสตันมาราธอน” (Boston Marathon) อายุ 120 กว่าปีเข้าไปแล้ว

ส่วนคำถามที่ว่าเหตุใดงานวิ่งถึงมาบูมจัดๆ ในช่วง 3-4 ปีมานี้ ยิ่งช่วง 1-2 ปีหลัง ยิ่งเห็นงานวิ่งจัดกันทุกอาทิตย์ บางวันฤกษ์ดีๆ หน่อยก็อัดกัน 3-4 งานด้วยซ้ำ ล่าสุดงานวิ่งมาราธอนสุดยิ่งใหญ่อย่าง Amazing Thailand Marathon 2019 วิ่งผ่าเมืองเราขอท้า..ให้มาลอง ที่จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 3 ก.พ.นี้

กลายเป็น “ดรามา” ท่ามกลางกรุงเทพฯ กำลังเผชิญฝุ่นจิ๋วที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวันจนเกิดเสียงคัดค้านให้เลื่อนงานออกไป แทนที่จะได้สุขภาพกลับกลายเป็นทำร้ายร่างกาย ส่วน “ฮาราธอน” งานวิ่งมาราธอน ของขายหัวเราะ ที่เดิมจะจัดในวันที่ 17 ก.พ. ต้องเลื่อนการจัดงานออกไปก่อน

แน่นอนว่าเทรนด์การวิ่งนอกเหนือจากเทรนด์รักสุขภาพที่ทำให้คนไทยหันมาออกกำลังกายมากขึ้น และการอัพรูปขึ้นโชเชียลมีเดีย ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ตามมา จนเกิดเป็นธุรกิจถ่ายภาพงานวิ่งที่ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

Positioning สรุปจากการสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในวงการวิ่ง ได้ประมาณ 3 ปัจจัย คือ

1. สื่อที่เกี่ยวข้องกับงานวิ่งในโซเชียลมีเดียมีเยอะขึ้น เช่น Thairun มีผู้ติดตาม 5.4 แสนราย หรือวิ่งไหนดีมีคนติดตามกว่า 6.1 แสนราย ทำให้จากแต่ก่อนงานวิ่งกระจัดกระจายไม่ค่อยรู้ว่ามีการจัดที่ไหนบ้าง เดี๋ยวนี้เห็นได้หมดเพียงคลิก หรือจิ้มในสมาร์ทโฟน

2. มีผู้จัดคุณภาพเข้ามามากขึ้น ในแง่การรับสมัคร แต่ก่อนต้องปรินต์กระดาษมากรอกรอคิวจ่ายเงินเพื่อรับเสื้อและหมายเลขประจำตัว หรือ Bib แต่วันนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ทุกอย่างที่ว่ามาสามารถทำทุกอย่างได้จากที่บ้าน ส่วนการจัดงานก็มีมาตรฐานงานวิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจุดรับน้ำระหว่างวิ่ง อาหารหลังวิ่ง หรือเจ้าหน้าที่ที่พร้อมรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉิน

3. “พี่ตูน Effect” จากกระแสที่ “ตูนบอดี้สแลม” ออกมาวิ่งเพื่อระดมทุนภายใต้ชื่อ “ก้าวคนละก้าวเพื่อโรงพยาบาลบางสะพาน” เมื่อปี 2016 ต่อเนื่องมาถึงปี 2017 กับ “ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11โรงพยาบาลทั่วประเทศ” จนเกิดกระแสไปทั่วประเทศ ก่อให้เกิด “Inspire” หรือแรงบันดาลใจให้คนไทยหันมาวิ่งจากระยะสั้นๆ เป็นระยะยาวมากขึ้น

จากกระแสของพี่ตูนนี้เอง ทำให้เทรนด์ใหม่ของงานวิ่งซึ่ง “เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ได้อธิบายว่า

สิ่งที่เป็นเทรนด์จริงๆ เลยในวันนี้คือการหารายได้ให้เข้าสู่องค์กร ผ่านงานวิ่งที่จัดขึ้นเป็นงานการกุศลที่เกิดขึ้นจากคอมมูนิตี้บวกกับแชริตี้ ซึ่งเทรนด์ที่ว่านี้เพิ่งเกิดได้ไม่นาน

หากมองลึกเข้าไปถึงสาเหตุที่ทำให้เห็น “งานวิ่ง” จัดกันเกลื่อนเมือง ที่แท้จริงคำตอบคือจำนวน “นักวิ่ง” ที่ยอม “เสียเงิน” มาวิ่ง กำลังมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะสิ่งที่ “รศ. ดร.บุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ” CEO บริษัท ไทยดอทรัน จำกัด พบคือ จำนวนนักวิ่งที่มาสมัครกว่า 70% เป็นรายใหม่ๆ ทั้งนั้น ส่วนขาประจำมีเพียง 30% ซึ่งเหตุที่เพิ่มขึ้นอาจะเป็นเพราะเห็นภาพวิ่งของเพื่อนก็อยากมีโมเมนต์แบบนี้บ้าง เลยกระตุ้นให้คนออกมาวิ่งกันมากขึ้น

สมัยก่อนคนที่ไปงานวิ่ง คือ “Serious Runners” หรือคนที่วิ่งอย่างจริงจัง จึงเห็นงานวิ่งส่วนใหญ่เป็น “ฟูลมาราธอน” (Full Marathon) ระยะ 42 กิโลเมตร หรือ “ฮาล์ฟมาราธอน” (Half Marathon) ระยะ 21 กิโลเมตรส่วน “มินิมาราธอน” (Mini Marathon) 10 กิโลเมตร และ “ฟันรัน” (Fun run) การวิ่งระยะทาง 3.5–5 กิโลเมตร แบบไม่จับเวลาไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก

แต่วันนี้ทั้งงานวิ่งแบบ “มินิมาราธอน” และ “ฟันรัน” มีให้เห็นเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เลยทำให้ขนาดของงานวิ่งเพิ่มจาก 1,000 คนที่มักจัดในสวนสาธารณะ ขยับเป็นขนาด 3,000 – 5,000 คน ออกมาวิ่งตามท้องถนน ส่วนงานขนาดใหญ่ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5,000 คนขึ้นไป ก็ยังมีให้เห็นปีละประมาณ 20 งาน เช่น กรุงเทพมาราธอน และบางแสน 21 เป็นต้น ส่วนใหญ่งานที่จัดมักจะเป็นขนาดกลางที่เห็นได้เยอะในต่างจังหวัด

“สสส. ประเมินว่ามีคนวิ่งทั้งประเทศ 12 ล้านคน แต่คนที่มาวิ่งในงาน 1.2 ล้านคน หรือมีราว 10% ที่ยอมจ่ายเงินนั้น หมายความว่า มีอีก 90% ที่วิ่งเองแถวบ้าน กลายเป็นโอกาสของงานวิ่งเป็นช่องว่างทางธุรกิจที่ยังใหญ่อยู่ ยิ่งวันนี้มีเทคโนโลยีเข้ามาซัพพอร์ตผู้ผลิตเสื้อและเหรียญก็มีเพิ่มขึ้นด้วย”

จากจำนวนคนวิ่งทั้งหมดนี้เอง ได้กลายเป็นความหอมหวานที่แท้จริงของงานวิ่ง เพราะรายได้หลังหัก “ต้นทุน” ซึ่งปัจจุบันราคาเฉลี่ยงานวิ่งอยู่ที่ 500 – 900 บาท จะเหลือเป็น “กำไร” เฉลี่ยแล้วมากขึ้น 50% อย่างงานวิ่งในส่วนต้นทุนจะอยู่ที่ 250 บาทต่อคน หากขยับมาวิ่งในถนนจะเพิ่มเป็น 350 – 400 บาท ด้วยต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการปิดถนน และเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก

นี่เองทำให้จำนวนของงานวิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปีละ 600 งานในปี 2017 เป็น 1,200 งานในปี 2018 ส่วนในปี 2019 คงมีงานวิ่งไม่ต่ำกว่า 1,500 งาน เรียกได้ว่าเติบโตอย่างฉุดไม่อยู่เลยจริงๆ ซึ่งแม้จะมีโอกาสจากจำนวนคนวิ่งที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็อาจจะไปสู่ภาวะ “งานวิ่งเฟ้อ” ได้

เพราะงานวิ่งส่วนใหญ่มักจะจัดกันในวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ เพื่อให้มีจำนวนคนมาวิ่งกันเยอะๆ โลเคชันที่สามารถจัดได้ก็มีไม่เยอะมาก แต่จำนวนงานวิ่งก็มีเพิ่มขึ้นตลอด กลายเป็นงานวิ่งเองก็ต้องมาแย่งชิงคนวิ่งด้วยกันเอง โดยตอนนี้หันมาสู้ด้วยการทำ Marketing อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งโปรโมตเสื้อและเหรียญที่ออกแบบอย่างสวยงาม กระทั่งจ้าง “คนดัง” มาร่วมวิ่งเพื่อสร้างแรงดึงดูดด้วย

แต่ก็เชื่อว่า “กระแสงานวิ่ง” ในบ้านเราจะยังคงไปได้ไกลอีกอย่างน้อย 5-10 ปี แต่คงไม่หวือหวาเติบโตในระดับหลัก 100% เหลือเพียงหลัก 15-30% เหตุผลหลักคือราคางานวิ่งยังไม่ได้สูงมาก เฉลี่ยหลักร้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่อยู่ในหลักพัน คนไทยเองก็พร้อมที่จะจ่าย “รศ. ดร.บุญญฤทธิ์” ยกตัวอย่างงานบางแสน 21 ค่าสมัครฟูลมาราธอน 1,600 บาท ก็ยังมีคนยอมจ่ายกว่า 6,000 คนด้วยซ้ำ

นับได้ว่างานวิ่งก็ยังคงเป็นโอกาสทางธุรกิจและแหล่งรายได้ที่ยังมีโอกาสเติบโตได้สูง อยู่ที่ว่าใครจะสามารถหาช่องว่างเข้าไปแทรกตัว อย่างเช่นที่ “เกรียงไกร” ปั้นงานวิ่ง “กิโลรัน” หลังจากที่ธุรกิจหลัก “อีเวนต์” มีความไม่แน่นอนอยู่สูง จึงได้ปั้นธุรกิจใหม่เพื่อให้มีรายได้คงที่ ตัว “กิโลรัน” สร้างจุดต่างด้วยการวิ่งผ่านสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองและร้านอาหารชื่อดังในเมืองต่างๆ เน้นที่เอเชียก่อน ในปี 2019 วางแผนจัดทั้งหมด 6-7 ครั้ง คาดหวังรายได้ 50 ล้านบาท

ส่วน “รศ. ดร.บุญญฤทธิ์” แม้ไม่ได้จัดงานวิ่งโดยตรงแต่ก็สร้างรายได้จากการเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมช่างภาพมาถ่ายในงานวิ่งให้นักวิ่งมาโหลดไปอวดในโชเชียลหลังจบงาน มีทั้งให้โหลดฟรีแบบติดลายน้ำ หรือจ่ายเงิน 50-200 บาท แต่ละสัปดาห์มีรูปเข้าระบบ 8 แสนรูป มียอดซื้อราว 4 หมื่นรูป รายได้แบ่งให้ช่างภาพ 80%

นอกจากจ้างอดีตบรรณาธิการพร้อมทีมงานมาดูแลแล้ว ยังรวมไปถึงปั้นอินฟลูเอนเซอร์อีกราว 10 คน เพื่อโปรโมตเพจ โดยจ่ายเป็นเงินเดือนให้ เนื่องจากคอนเทนต์ที่จะหันมาบุกในปีนี้คือวิดีโอ เตรียมปล่อยรายการราว 10 รายการตลอดทั้งปี ปัจจุบันรายได้จากการทำคิดเป็นสัดส่วนราว 5% ของรายได้ทั้งบริษัท

นอกจากนั้นยังมี “เดกซ์ (ดรีมเอกซ์เพรส)” ตัดสินใจนำหนึ่งใน 4 คาแร็กเตอร์หลักที่ถือลิขสิทธิ์อยู่ “อุลตร้าแมน” มาทำเป็นกิมมิกงานวิ่ง เพื่อสร้างความแตกต่างจากงานวิ่งอื่นๆ ภายใต้ชื่อ “Ultraman Run & Trail” โดยหวังว่านอกเหนือจากรายได้ที่เข้ามาแล้ว ยังจะช่วยสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคด้วย

ขณะเดียวกัน ตัวกิจกรรม “วิ่ง” ยังสามารถนำมาสร้างความแตกต่างให้กับสำนักงานให้เช่าได้เช่นกัน เหมือนอย่างที่ “อาคารภิรัชทาวเวอร์ แอท ไบเทค” ทำลู่วิ่งลอยฟ้าระยะทาง200 เมตร มีพื้นที่กว่า 2,200 ตารางเมตร บนชั้น29 หวังจับไปกับกระแสคนวัยทำงานหันมาออกกำลังกายมากขึ้นอีกด้วย.