จับตา! GET ควง “Go-Jek” ลุยสังเวียนแอปฯ เรียกรถไทย ประเดิม 3 บริการ วินมอเตอร์ไซค์-ส่งพัสดุ-ส่งอาหาร คาด 1 ปีลูกค้า 1 ล้านราย

เมื่อ 2 เดือนก่อนสังเวียนแอปพลิเคชั่นเรียกรถ หรือ Ride-Hailing Application กลับมามีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง เมื่อน้องใหม่ “GET!” (เก็ท) ประกาศทดลองให้บริการฟรีรัศมี 6 กิโลเมตรใน 3 เขตลาดพร้าว วังทองหลาง และจตุจักร

จากนั้น Get ทยอยขยายพื้นที่ให้บริการมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ GET มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุม 80% ของกรุงเทพฯ พร้อมกับอ้างสถิติมีการใช้งานกว่า 2 ล้านครั้ง คิดเป็นระยะทางกว่า 3 ล้านกิโลเมตร หรือไปกลับดวงจันทร์ 7 รอบ

บริเวณที่ใช้บริการจำนวนมากอยู่ในย่าน CBD เช่น สาทรและบางรัก ยอดดาวน์โหลดแอป 2 แสนครั้ง และมีพี่วินมอเตอร์ไซค์ลงทะเบียนในระบบ 10,000 คน จากจำนวนที่ลงทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกทั้งสิ้น 80,000 คน

การที่ Get ถูกจับตามองอย่างมาก เพราะมี Backup ที่ไม่ธรรมมา อย่าง Go-Jek (โกเจ็ก) หนึ่งในเทคยูนิคอร์นที่น่าจับตามองในแถบเอเชีย จากอินโดนีเซีย แถมมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกมากมาย ทั้งกูเกิล เทนเซ็นต์ และเหม่ยถวนเตี้ยนผิง ร่วมลงทุนเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและ Know-how ในด้านเทคโนโลยี

Get นั้น ไม่ได้มีสถานะเป็นบริษัทลูกหรือบริษัทร่วมทุน ของ Go-Jek แต่อยู่ในลักษณะพาร์ตเนอร์ชิพโดยมีอำนาจในการบริการและตัดสินใจเอง ผู้บริหารและพนักงาน 100 กว่าคนเป็นคนไทยทั้งหมด และมีบางส่วน เช่น วิศวกรรมดูแลระบบที่ Go-Jek ส่งมาช่วยดูเท่านั้น

Go-Jek ได้เปิดตัวด้วยบริการรับส่งคนและพัสดุด้วยรถจักรยานยนต์เมื่อปี 2010 จนถึงตอนนี้มี 19 บริการ ตั้งแต่บริการขนส่ง รับส่งอาหาร ร้านค้าบริการนวด บริการทำความสะอาดบ้านโลจิสติกส์ รวมถึงบริการอีมันนี่ และโรยัลตี้โปรแกรม มียอดดาวน์มากกว่า 130 ล้านครั้ง และมีผู้ใช้งานกว่า 2 ล้านคนต่อวัน

ในอินโดนีเซียให้บริการ 200 เมือง/เขต และได้ประกาศการขยายสู่นานาชาติไปยัง 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม (ให้บริการเฉพาะเรียกมอเตอร์ไซค์) ใช้ชื่อ โกเหวียด” (Go-Viet) สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ (ให้บริการเฉพาะอีมันนี่เพราะเข้าไปซื้อบริษัทท้องถิ่นมา) ใช้ชื่อบริการ Go-Jek แต่ให้บริการทีหลังไทย

โดยไทยเป็นประเทศที่ 4 ที่ Go-Jek เข้ามาทำตลาด แต่ใช้ชื่อ GET! จะให้บริการ 3 บริการ คือ 1.บริการ เรียกมอเตอร์ไซค์ หรือ GET Win โดยจะมีแต่รถป้ายเหลืองที่ถูกกฎหมายเท่านั้น 2. GET Delivery บริการส่งพัสดุต่างๆ และ GET Food บริการซื้ออาหารที่มีร้านในระบบ 2 หมื่นร้าน ตั้งแต่ร้านสตรีทฟู้ดจนถึงร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ จะให้ป้ายขาววิ่งรับส่งได้

นาดีม มาคาริม ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ โกเจ็ก Go-Jek ให้เหตุผลที่สนใจตลาดเมืองไทยเพราะภาพรวมมีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน ทั้งการคุ้นชินกับการนั่งมอเตอร์ไซค์ ชื่นชอบอาหาร และนิยมใช้แอปพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์มือถือ จึงได้สนใจเข้ามาก่อนจะเจอกับทีมงานของ GET ที่เข้าใจตลาดเมืองไทยเป็นอย่างดี

ทีมงานที่ว่านี้คือ ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และรั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการ O2O (Online-to-Offline) เมืองไทย เพราะเคยเป็นผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งไลน์แมน (LINE Man) จนเป็นที่รู้จักในเมืองไทย ในด้านผู้ให้บริการรับส่งอาหาร (Food Delivery) รวมถึงสร้างไลน์แท็กซี่ (LINE Taxi) ขึ้นมาเป็นในฐานะอีกบริการหนึ่งของไลน์แมน

ช่วงบุกเบิก ไลน์แมน เขาได้ดึงพาร์ตเนอร์ใหญ่ๆ เข้ามาเสริมทัพได้มากมายไม่ว่าจะเป็นวงใน (Wongnai) หรือลาล่ามูฟ (Lalamove) และก่อนหน้านั้นภิญญาได้เคยทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำอย่าง PCUBED ในฮ่องกง และแอคเซนเจอร์ (Accenture) ในไทยพร้อมประสบการณ์ในวงการเทคโนโลยี

ภิญญาบอกว่าสังเวียน Ride-Hailing Application ยังถือว่าเป็น “Blue Ocean” เพราะถึงจะมีผู้ให้บริการรายใหญ่อยู่ แต่สัดส่วนของคนที่ใช้บริการยังเป็นตัวเลขหลักเดียว แสดงว่ายังมีโอกาสในตลาดอีกมาก ซึ่งการจะเจาะเข้าไปได้จะต้องเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภค

จากผลรองรับในช่วงทดลองชี้ให้เห็นว่า GET สอบผ่านได้ดีด้วย 3 เหตุผล เรื่องแรกการเป็นแบรนด์ของไทยเอง เพราะชื่อ “GET!” (เก็ท) เป็นชื่อที่สั้นและสามารถเข้าใจความหมายได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ต่อมาการใช้งานที่ง่าย และส่งผลต่อชีวิตประจำวันของผู้บริโภคจริงๆ

ความท้าทายที่สุดของ GET ในตอนนี้คือเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคให้คุ้นชินการเรียกพี่วินมอเตอร์ไซค์ให้เร็วที่สุด

GET ย้ำตัวเองเป็นบริการที่ถูกกฎหมาย เพราะตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมาได้เข้าไปหารือกับทางภาครัฐตลอด เพื่อให้บริการถูกต้องตามกฎหมาย

เบื้องต้นใน GET Win จะคิดค่าบริการตามที่กฎหมายกำหนด ช่วงนี้ยังมีโปรโมชั่นส่วนลดอยู่ มีอัตราระยะเวลาเรียกรถ 10 วินาที ส่วน GET Food และ GET Delivery คิดค่าบริการตามจริง ไม่ได้คิดค่าธรรมเนียมเพิ่ม โดยต่อไปได้วางแผนเพิ่มบริการอีมันนี่เข้ามา แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะเปิดให้บริการในช่วงไหน ส่วนพื้นที่ให้บริการคาดครอบคลุมภายกรุงเทพฯภายในไตรมาสแรกนี้

เป้าหมายภายในปีนี้ของ GET ก็ไม่มากไม่มายแค่อยากให้มีคนไทยที่ใช้บริการ “1 ล้านคนเท่านั้นเอง.