สมรภูมิ “แอปเรียกรถ” เมืองไทยเดือดได้อีก! ล่าสุดถึงคิว “TADA” แอปพลิเคชันจากสิงคโปร์เข้ามาเปิดตลาดไทย ชูโมเดลหมัดเด็ด “ไม่เก็บค่าคอมมิชชัน” เพื่อดึงดูดคนขับเข้าระบบ และทำราคาค่าโดยสารได้ถูกกว่าเจ้าตลาดเบอร์ 1 ขณะนี้
TADA แอปใหม่จากสิงคโปร์
“ฌอน คิม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TADA เล่าประวัติของแอปฯ ก่อนว่า แอปฯ นี้ก่อตั้งในสิงคโปร์เมื่อปี 2561 จนถึงปัจจุบันบริษัทขยายไปแล้ว 3 ประเทศคือ สิงคโปร์ กัมพูชา และเวียดนาม ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 4 ที่เข้ามาทำตลาด
บริษัทนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสตาร์ทอัปชื่อ “MVLLABS Group” ก่อตั้งโดย “เค วู” ร่มใหญ่ของบริษัทสตาร์ทอัปมีการทำธุรกิจขาอื่นด้วย ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อการขับเคลื่อน (Mobility) และการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า-รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ “ONiON” ซึ่งธุรกิจนี้มีความร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ของไทยในการนำมาทดลองใช้งานด้วย
อยู่รอดได้แม้ “ไม่เก็บค่าคอมฯ”
คิมอธิบายต่อว่า ความแตกต่างของ TADA ที่จะเข้ามาชิงตลาดไทยคือการใช้โมเดล “ไม่เก็บค่าคอมมิชชัน”
TADA จะเก็บเฉพาะค่าธรรมเนียมเรียกรถ (ครั้งละ 20 บาท) ซึ่งเก็บกับฝั่งผู้โดยสาร ทำให้คนขับรถจะได้ค่าวิ่งรถเต็มจำนวน ไม่ถูกหักค่าคอมฯ และค่าธรรมเนียมใดๆ
ส่วนค่าโดยสารจะคิดตามกรอบของกฎหมายที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ทำให้ภาพรวมผู้โดยสารจะ “จ่ายน้อยกว่า” เมื่อเทียบกับแอปฯ เรียกรถเจ้าตลาดที่มีในไทยขณะนี้
ถ้าถามว่าแล้วแพลตฟอร์ม TADA จะได้อะไร? คำตอบคือ ได้เฉพาะค่าธรรมเนียมเรียกรถเท่านั้น ซึ่งคิมยืนยันว่าบริษัทสามารถ “อยู่รอดได้” เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการค่อยๆ สร้างฐานผู้ใช้งาน ไม่ทุ่มตลาด และบริหารองค์กรให้พอเหมาะ
ยกตัวอย่างในสิงคโปร์ ปัจจุบัน TADA เป็นแอปฯ เรียกรถอันดับ 2 ของตลาดเมื่อคิดตามจำนวนครั้งในการเรียก มีมาร์เก็ตแชร์คิดเป็น 20-25% ของตลาด และเป็นปริมาณที่ทำให้แอปฯ สามารถทำกำไรได้ ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องใช้เวลา 5 ปี เพราะฉะนั้นในตลาดไทยก็เช่นกัน TADA จะเข้ามาเพื่อ “เล่นเกมยาว” แน่นอน
สรุปแล้ว TADA ต้องการจะสร้างโมเดลธุรกิจที่ วิน-วิน-วิน ทั้ง 3 ฝ่าย คือ
- “คนขับรถ” ได้ค่าวิ่งรถที่เหมาะสม สามารถยึดเป็นอาชีพได้โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
- “ผู้โดยสาร” ได้ค่าโดยสารที่สมเหตุสมผล ไม่แพงเกินจริงจากการเพิ่มค่าคอมมิชชัน
- “แพลตฟอร์ม” อยู่ได้จากค่าธรรมเนียมเรียกรถ
เริ่มที่กรุงเทพฯ ก่อนขยายไปต่างจังหวัด
สำหรับการขยายตัวของ TADA เริ่มแรกจะมีบริการเฉพาะในเขต “กรุงเทพฯ” ก่อน ก่อนจะขยายไปยังปริมณฑล จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ และ จ.ปทุมธานี เร็วๆ นี้
ส่วนการขยายไปต่างจังหวัด คิมระบุว่าจะมีแน่นอนภายในสิ้นปีนี้ แต่ยังไม่เปิดเผยว่าเป็นจังหวัดใด รวมถึงในอนาคต TADA จะเปิดระบบเรียกรถ “มอเตอร์ไซค์” เพิ่มขึ้นด้วย
ปัจจุบันแอปฯ มีรถให้เลือกทั้งหมด 4 ประเภท คือ แท็กซี่ 4 ที่นั่ง, รถส่วนบุคคล 4 ที่นั่ง, รถส่วนบุคคลพรีเมียม และรถเอสยูวี
ไม่ขอเป็นที่ 1 ขอโตแบบค่อยเป็นค่อยไป
ในตลาดแอปฯ เรียกรถที่เป็น “เรดโอเชียน” นี้ คิมมองว่า TADA “ไม่ได้ตั้งเป้าจะเข้ามาเป็นที่ 1” เพราะตลาดนี้ถือว่ามีเจ้าตลาดใหญ่ครองอยู่ โดยคาดว่าเบอร์ 1 น่าจะมีส่วนแบ่งตลาดถึง 60% ส่วนเบอร์ 2 มีส่วนแบ่งประมาณ 30% เหลือพื้นที่ให้เจ้าอื่นๆ น้อยมาก
ทำให้เป้าหมายของ TADA ไม่ต้องการจะเร่งตัวเองให้ขึ้นไปเป็นที่ 1 ซึ่งจะห่างไกลเกินไป ต้องการจะโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า
แม้ว่า TADA จะไม่เปิดเผยชื่อของเบอร์ 1 และเบอร์ 2 แต่จากชื่อเสียงในตลาด เราสามารถอนุมานได้ว่า “เจ้าใหญ่” ของไทยปัจจุบันนี้ก็คือ “Grab” และ “LINE MAN” นั่นเอง
โดยช่วงปีที่ผ่านมาตลาดแอปฯ เรียกรถนับว่าคึกคักมากเป็นพิเศษ เพราะมีเจ้าใหม่จากกลุ่มฟู้ดเดลิเวอรีอย่าง “Robinhood” เปิดตัวเข้าตลาดเรียกรถกับเขาด้วย หรือเจ้าเก่าที่ให้บริการมาพักใหญ่แล้ว เช่น “Bolt” และ “InDrive” ก็ขอเปิดตัวอย่างเป็นทางการเสียที
รวมถึงเจ้าใหญ่ก็มีการขยับ เช่น “LINE MAN” หลังจากมีเฉพาะแท็กซี่ในระบบมานาน ล่าสุดเริ่มรับรถบ้านเข้าสู่ระบบ เร่งโปรโมตเพื่อชิงมาร์เก็ตแชร์เพิ่ม
ตลาดดูจะแข่งขันดุเดือด แต่ซีอีโอคิมแห่ง TADA มองบวกว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจซึมเซาแบบนี้น่าจะเป็นผลดีกับแอปฯ ของเขามากขึ้น เพราะผู้โดยสารจะเริ่มมองหาทางเลือกที่จ่ายน้อยลงเพื่อรัดเข็มขัด มากกว่าจะติดกับแอปฯ เดิมที่ใช้ประจำ ทำให้ TADA มีโอกาสที่จะแทรกตัวเข้าสู่ตลาดประเทศไทยได้