“บางกอกแอร์เวย์ส” ยังไม่เว้น! กระทบทั้งรายได้และกำไร “ลดลง” ทั้งคู่

จากผลประกอบการของสายการบินที่ทยอยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างมีตัวเลขที่ลดลงกันถ้วนหน้าไม่เว้นแม้แต่บางกอกแอร์เวย์สที่แม้จะทำกำไรมาตลอด แต่ปี 2561 ทั้งรายได้และกำไรต่างก็ลดลงทั้งคู่

บางกอกแอร์เวย์ส รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2561 มีรายได้รวม 27,943.6 ล้านบาท ลดลง 1.9% จากปี 2560 ที่มีรายได้ 28,493.3 ล้านบาท หรือหายไป 549.7 ล้านบาท

แม้รายได้จากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น 2.3% หรือ 611.1 ล้านบาท จาก 26,199.4 ล้านบาท เป็น 26,810.5 ล้านบาท หากมีค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 1.4% จาก 26,151.2 ล้านบาท เป็น 26,515.3 ล้านบาท กำไรสุทธิทำได้ 263.7 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าจำนวน 582.6 ล้านบาท หรือ 68.8%

บางกอกแอร์เวย์สแบ่งธุรกิจออกเป็น 4 ขาหลัก ดังนี้

ธุรกิจสายการบินแข่งแรง นักท่องเที่ยวจีนหด

ธุรกิจสายการบินถือเป็นรายได้หลักด้วยสัดส่วน 73.3% ปีที่ผ่านมาทำรายได้ 20,475.4 ลดลง 0.1% หรือ 15.1 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบจากการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ราคาบัตรโดยสายเฉลี่ยลดลง 0.1%

รายได้จากเที่ยวบินประจำลดลง 0.2% เนื่องจากค่าเฉลี่ยของเส้นทางบินภายในประเทศลดลง 8% และจำนวนผู้โดยสารของเส้นทางบินภายในประเทศลดลง 2.7% จาก 4,254.8 พันคน เหลือ 4,141.6 พันคน

นอกจากนี้รายได้จากต่างประเทศลดลง 1.4% แม้จำนวนผู้โดยสายจะเพิ่มขึ้นจาก 1,689.7 พันคน เป็น 1,811.0 พันคนก็ตาม หลักๆ ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจภายในประเทศจีนมีการชะลอตัว และผลกระจากอุบัติเหตุเรือโดยสารนักท่องเที่ยวจีนล่มในจังหวัดภูเก็ต จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงในเดือนกรกฎาคมพฤศจิกายน 12%

ส่งผลให้ต้องปรับลดเส้นทางสมุยฉงชิ่ง จาก 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 1 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และยกเลิกเที่ยวบินในเส้นทางสมุย – กวางโจว ที่เคยทำการบิน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561

อย่างไรก็ตาม ยังได้จำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ เพิ่มจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพเวียงจันทน์ จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กรุงเทพมัณฑะเลย์ จาก 7 เป็น 11 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กรุงเทพเกาะฟูโกว๊ก จาก 4 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และได้เปิดเส้นทางบินใหม่ เชียงใหม่ฮานอย จาก 7 เป็น 11 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม

รวมไปถึงรายได้แบบเช่าเหมาลำได้เพิ่มขึ้น

ธุรกิจสนามบินโต 0.8%

บางกอกแอร์เวย์สเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการสนามบิน 3 สนามบินได้แก่ ได้แก่ สนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด ปี 2561 มีรายได้ 598.1 ล้านบาท โต 0.8% หรือ 4.9 ล้านบาท จากปีก่อนที่ทำได้ 593.2 ล้านบาท โดยธุรกิจนนี้คิดเป็นสัดส่วน 2.1% ของรายได้รวม

รายได้ของธุรกิจสนามบินมาจากจำนวนเที่ยวบินขาเข้าและขาออก รวมถึงรายได้จากค่าบริการผู้โดยสารซึ่งได้รับจากผู้โดยสารขาออก โดยมาจากสนามบินสมุยเป็นหลัก

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องโต 6%

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีสัดส่วนรายได้ 14.6% โดยมาจาก 3 ขาหลัก ได้แก่ การให้บริการภาคพื้นดิน การให้บริการอาหารบนเที่ยวบิน และการให้บริการคลังสินค้าระหว่างประเทศ ให้กับสารการบินตนเองและสายการบินอื่นๆ

ปี 2561 มีรายได้เพิ่มขึ้น 6.1% จาก 3,847.8 ล้านบาท เป็น 4,082.3 ล้านบาท หลักๆ มาจากการเติบโตด้านจำนวนของเที่ยวบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ และการเพิ่มขึ้นของลูกค้าสายการบินใหม่ระหว่างปีถึง 5 สายการบิน รวมแล้วมีจำนวนสายการบินลูกค้า 79 สายการบิน

รวมไปถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน ที่มาจาก บริษัท กูร์เมท์ พรีโม่ จำกัด และ บริษัท มอร์แดนฟรี จำกัด

รายได้ที่ไม่ได้แบ่งตามสายธุรกิจลดฮวบ 21.7%

ขาสุดท้ายเป็นรายได้ที่ไม่ได้แบ่งตามสายธุรกิจ โดยเป็นรายได้อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสายการบิน ธุรกิจสนามบิน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน โดยปี 2561 มีรายได้จากส่วนนี้ 2,787.8 ล้านบาท ลดฮวบ 21.7% หรือ 774 ล้านบาท จากปีก่อนที่เคยทำได้ 3,561.8 ล้านบาท

บางกอกแอร์เวย์ส ให้เหตุผลที่ลดมาจากผลกำไรจากการขายเงินลงทุน ซึ่งลดลงจำนวน 1,353.4 ล้านบาท หรือ 77.9% แม้ที่เหลือจะเติบโตก็ไม่ช่วย ทั้ง กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเติบโตก้าวกระโดด 195.8% จาก 55.7 ล้านบาทเป็น 164.7 ล้านบาท, เงินปันผลรับเพิ่ม 7.4% จาก 389.6 ล้านบาทเป็น 418.6 ล้านบาท

และยังมีรายได้อื่นๆ ที่ประกอบด้วย รายได้ค่าธรรมเนียมบัตรโดยสาร ค่าสัมภาระส่วนเกิน รายได้จากบัตรโดยสารที่หมดอายุ ซึ่งเกิดซึ่งเกิดจากการแปรผันของจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น และยังมีรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ โต 32% จาก 1,378.3 ล้านบาท เป็น 1,819.7 ล้านบาท.