แผนกู้ชีพการบินไทย

หลังเริ่มทำงานได้เพียง 8 วัน ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ DDบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก็เปิดใจถึงแผนธุรกิจของการบินไทยในงานสัมมนาเรื่อง Post Crisis ที่พลาซา แอทธินี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ “คุณคะ…หยุดบินค่ะ” เช่นเดียวกับอีกหลายสิบสายการบินที่ล้มละลายไปแล้วเป็นแน่

ส่งผลกระทบต่อการเดินทางที่ติดลบราว 10% เขาบอกว่าธุรกิจการบินเป็น Sensitive Business โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอก ขณะเดียวกันแม้แต่ละสายการบินจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่กลับเจอปัญหากำไรลดต่ำ เพราะสงครามราคาที่สายการบินงัดมาใช้เพื่อดึงดูดนักเดินทาง

อย่างไรก็ตาม สำหรับการบินไทยแล้ว เขายอมรับว่าปัญหาภายในก็เป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข โดยหยิบยกเรื่องที่ผู้โดยสารคอมเพลนมากที่สุดมาเป็นเรื่องเร่งด่วน ทั้งเรื่องรสชาติอาหารและ In-Flight Entertainment ที่เป็นจุดด้อยของการบินไทยมาโดยตลอด

“ผมเอาอาหารใน First Class ของการบินไทย สิงคโปร์แอร์ไลน์ คาเธ่ย์แปซิฟิค และแควนตัส มาเทียบกัน เอ๊ะ ทำไมของเขาดูดีกว่า อร่อยกว่า แต่รู้ไหมว่าอาหารพวกนี้ก็มาจากครัวการบินไทยทั้งนั้น (หัวเราะ) นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องมาดูกันว่าจะปรับปรุงยังไง”

ขณะที่ In-Flight Entertainment กลับกลายเป็นจุดต่างที่ไม่ควรและแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีพอ “เป็นสิ่งที่ผู้โดยสารบ่นมากที่สุด กำลังอยู่ในระหว่างทยอยติดตั้งอาจต้องใช้เวลาในการติดตั้งพอสมควรประมาณ 2 ปี เพราะนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราขายตั๋วในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งเฉลี่ย 30% ซึ่งทำให้สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้ถึง 18,000 ล้านบาทต่อปี”

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่ม “ครีม” ที่เขาบอกว่าต้องตามไปเกาะเกี่ยวให้ได้มากขึ้นเพราะเป็นกลุ่มที่มีผลกระทบจากเศรษฐกิจน้อยที่สุด

“การปรับปรุงดังกล่าวจะทำให้เราเลือกผู้โดยสารได้มากขึ้น สัดส่วนของตั๋วถูกจะลดจำนวนลงเรื่อยๆ”

นอกจากนี้เขาบอกว่าการบินไทยยังต้องปรับปรุงเรื่องอื่นเพิ่มเติม เช่น นิตยสารที่มีจำนวนน้อยและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งล้วนแล้วแต่จะต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อยึดแนวทางแบบ Customer Oriented ขณะที่การบินไทยต้อง Competitive มากขึ้นด้วย หรือต้องมีต้นทุนที่แข่งขันกับคู่แข่งได้

ปิยสวัสดิ์ ยกตัวอย่างกรณีนี้ว่า การลดค่าใช้จ่ายเรื่องที่พักของลูกเรือ เช่น ค่าโรงแรมที่ลอนดอนจากเดิม 80 ปอนด์ต่อคืน ก็เปลี่ยนเป็น 40 ปอนด์ต่อคืน และจากเดิมหากบินไปยุโรปต้องพัก 2 คืน ก็ลดเหลือ 1 คืน

อย่างไรก็ตาม การบินไทยเริ่มมีสัญญาณบวกแล้ว โดยกลยุทธ์ที่เขาจะใช้ต่อไปคือ การบริหารเส้นทางบินให้มีประสิทธิภาพและปรับตัวได้อย่างรวดเร็วหรือ Dynamic มากขึ้น เพื่อรับมือศึกหนัก 2 ด้าน

“เราจะจับมือกันกับนกแอร์เพื่อสู้กับแอร์เอเชีย ดีกว่าจะต่างคนต่างบิน” ปิยสวัสดิ์ยอมรับว่าการแข่งขันที่รุนแรงจากสายการบินโลว์คอสต์อย่างแอร์เอเชีย เป็นสิ่งที่ต้องรับมือให้ดี เพราะมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการเพิ่มเส้นทางการบินอย่างรวดเร็ว

“จะต้องลดจำนวน Destination ลง แต่เพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในเส้นทางยอดนิยมให้มากขึ้น”

รวมถึงแผนรับมือกับการแข่งขันกับคู่แข่งในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์ แอร์ไลน์ และคาเธ่ย์แปซิฟิค โดยเฉพาะแผนสั่งซื้อฝูงบินใหม่ที่สามารถประหยัดน้ำมันได้มากกว่ารุ่นเดิมราว 20-30%

กระนั้น เขายอกว่าราคาน้ำมันก็ยังน่าเป็นห่วง เพราะเป็นต้นทุนถึง 30% ในปีนี้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเท่ากับปัญหาคอรัปชั่นในการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน

สุดท้ายแล้วการบินไทยจะบินไปในทิศทางใด คงเห็นได้ชัดเจนขึ้นในวาระที่ก้าวเข้าสู่ 50 ปีในปี 2553นี้ แม้เขาจะบอกว่า ธุรกิจโดยรวมยังแย่แต่เริ่มเห็นแสงสว่างแล้วก็ตาม

“การบินไทยจะครบรอบ 50 ปี แต่ผมมองไกลถึงว่าเราจะอยู่อย่างไรในอนาคต ในฐานะองค์กร 100 ปี”

Did you know?
SKYTRAX มอบรางวัล World Airline Awardsเป็นประจำทุกปี ปีนี้รางวัล Airline of the year ตกเป็นของคาเธ่ย์แปซิฟิค ซึ่งปีที่แล้วได้อันดับ 2 ขณะที่สิงคโปร์ แอร์ไลน์ตกจากอันดับ 1 ในปีที่แล้วมาอยู่อันดับ 2 ในปีนี้ และสำหรับการบินไทยตกจากอันดับ 4 ในปี 2008 มาอยู่อันดับ 10 ในปี 2009 นี้

ขณะที่แอร์เอเชีย ครองรางวัล Best Low-Cost Airlines ในปีนี้จากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่อันดับ 6