ทวงแชมป์ช็อกโกแลต

ก่อนส่งท้ายปี 2552 ไทยกูลิโกะรุกตลาดอย่างหนักอีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นการเปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มช็อกโกแลต ภายใต้แนวคิด “The Wonder Chocolate Factory” เป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์และปรับบรรจุภัณฑ์ใหม่ของผลิตภัณฑ์เดิม เพื่อทวงแชมป์เจ้าตลาดช็อกโกแลตคืนจากเนสท์เล่ให้ได้โดยเร็ว

ยิโระ วาตาบิขิ กรรมการผู้จัดการ และฮิโระโนะบุ ฮานาดะ ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และการโฆษณา ให้รายละเอียดว่า “ผลิตภัณฑ์ใหม่ประกอบกูลิโกะ เจโลลี่ เยลลี่ เป็นเจลาตินผสมน้ำผลไม้ 20% เคลือบช็อกโกแลตและกลิ่นผลไม้ จับกลุ่มเป้าหมายอายุ 11-15 ปี ส่วนกูลิโกะ คาวาอี้ สตรอเบอร์รี่ เป็นถั่วลิสงอบเคลือบสตรอเบอร์รี่ จับกลุ่มเป้าหมายอายุ 15-18 ปี ทำให้ปัจจุบันกูลิโกะมีผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตทั้งสิ้น 12 ชนิด ขณะเดียวกันก็ถือโอกาสนี้ในการปรับภาพลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ของกลุ่มช็อกโกแลตใหม่ทั้งหมดในรอบ 10 ปี จากเดิมที่ดูเชยให้ดูทันสมัยและสดใสตรงกับแนวคิดใหม่มากขึ้น”

ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าวก็เป็นไปตาม Customer Profile ของกูลิโกะที่มี Core Target เป็นเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย

จากการรุกตลาดครั้งนี้เขาคาดว่าภายใน 3 ปีจะมีส่วนแบ่งการตลาดในเซ็กเมนต์ช็อกโกแลตเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากปัจจุบันมี 15% รั้งอันดับ 2 แบบหายใจรดต้นคอเบอร์ 1 อย่างเนสท์เล่ ทั้งนี้กูลิโกะเพิ่งเสียแชมป์ในเซ็กเมนต์นี้ให้กับเนสท์เล่เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา

ยิโระ บอกว่ากลยุทธ์ที่จะนำพากูลิโกะกลับสู่เจ้าตลาดช็อกโกแลตได้นั้น คือ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง กระตุ้นให้แบรนด์มีสีสันอยู่เสมอ ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มความหลากหลายให้กับผู้บริโภคด้วย

ขณะที่ผลสำรวจกับลูกค้ากลุ่มผู้ใหญ่ซึ่งเคยเป็น Core Target ของกูลิโกะมาก่อนพบว่า พวกเขายังรู้สึกดีกับแบรนด์กูลิโกะ แต่อาจลดความถี่ในการบริโภคน้อยลงตามวัย หรือมีการ Trade upไปสู่แบรนด์พรีเมียมเนื่องจากมีกำลังซื้อที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ ช่องทางจำหน่ายส่วนใหญ่ของผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตของกูลิโกะเป็นช่องทาง Modern Trade และเตรียมรุกช่องทาง Traditional Trade มากขึ้น เพื่อให้สินค้าเข้าถึงและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากกว่าเดิม โดยสินค้าทุกกลุ่มของกูลิโกะมี Price Range อยู่ที่ 6-60 บาท ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มแมส

เพื่อเกาะติดพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ไทยกูลิโกะกำลังอยู่ในการจัดทำแผนปรับเปลี่ยนสัดส่วนงบโฆษณามาทางสื่อดิจิตอลมากขึ้น แต่ยังคงให้ความสำคัญกับ TVC เป็นหลัก โดยใช้งบการตลาดสำหรับกลุ่มช็อกโกแลตประมาณ 30 ล้านบาท ในปี 2552 นี้

นับเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของไทยกูลิโกะกับการทำแคมเปญโปรโมชั่นชิงโชค สำหรับครั้งนี้ส่งแคมเปญมหัศจรรย์วันหวานกับกูลิโกะ เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคส่งชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ลุ้นโชคฉลองวาเลนไทน์ในรูปแบบพิเศษ

สำหรับในปี 2553 ไทยกูลิโกะจะครบรอบ 40 ปี ซึ่งถึงเวลานั้นจะมีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงภาพลักษณ์ของกลุ่มบิสกิตซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำรายได้หลักให้กับไทยกูลิโกะนั้นให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้นด้วย

โดย ฮิโระโนะบุ ฮานาดะ ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และการโฆษณา บอกว่า ภาพลักษณ์ของแบรนด์กูลิโกะคือความน่ารัก สนุกสนาน สดใส ร่าเริง แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ในตลาดโดยเฉพาะแบรนด์ยุโรปที่นำเข้ามาซึ่งจะเน้นในความหรูหรา ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และการสื่อสารการตลาดต่างๆ จะต้องอยู่ใน ขอบเขตดังกล่าวซึ่งเป็นเสมือนดีเอ็นเอของกูลิโกะ

เขาเชื่อว่าการยึดมั่นในตัวตนและ Positioning ที่ชัดเจนของตนเองอย่างแน่วแน่ คือ หนทางที่จะทำให้ไทยกูลิโกะมีก้าวที่ยิ่งใหญ่ต่อไปในประเทศไทยได้ไม่ยาก

Did you know?
16 ใน 20 ประเทศแรกที่มีอัตราการบริโภคช็อกโกแลตสูงสุดในโลกเป็นประเทศในทวีปยุโรป โดยประเทศที่เป็นคอช็อกโกแลตอันดับ 1 ของโลกคือ สวิสเซอร์แลนด์

สัดส่วนยอดขายไทยกูลิโกะ (by segment)
บิสกิต (ป๊อกกี้ เพรทซ์ โคลลอน) 70%
ช็อกโกแลต (แอลฟี่ ทูโทน เปลอตตี้ จิ้งเกิ้ล และนัท ช็อกโกแลต) 25%
สแนค (โปเตโต้ สปีคกี้) 5%

ส่วนแบ่งการตลาด ตลาดช็อกโกแลตมูลค่า 2,800 ล้านบาท (by brand) เติบโต 20%
เนสท์เล่ (คิทแคท ไมโล) 15 % เศษ
กูลิโกะ 15%
อื่นๆ (แคดเบอร์รี่, มาร์และโดฟจากดีทแฮล์ม, เฮอร์ชี่ย์ จากซีโน แปซิฟิค และอื่นๆ) 70%