JKN มุ่งค้าคอนเทนต์ป้อน 7 แพลตฟอร์ม ดันกลยุทธ์ “ซูเปอร์สตาร์ มาร์เก็ตติ้ง” ลุยตลาดอาเซียน

จากแอนะล็อกสู่ดิจิทัล ด้วยประสบการณ์เกือบ 20 ปี ในจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากทั่วโลกของ “เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย” สร้างชื่อโด่งดัง กู้เรตติ้งทีวีดิจิทัลหลายช่องด้วย “ซีรีส์อินเดีย” ล่าสุด เตรียมป้อนคอนเทนต์สู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม

แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ผู้จัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ระดับสากล  กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสื่อ มักมุ่งไปที่การเป็น “เจ้าของแพลตฟอร์ม” ตั้งแต่ยุคแอนะล็อก ทั้งการเป็นเจ้าของฟรีทีวี ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี สำนักพิมพ์ กระทั่งยุคทีวีดิจิทัล ที่มีการประมูลใบอนุญาต 22 ช่อง สะท้อนถึงการมุ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม โดยไม่มีใครโฟกัสการเป็น “เจ้าของคอนเทนต์”

“ช่วงปี 2013-2014 เข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล เราอ่านเกมออกว่าผู้ประกอบการมุ่งไปที่แพลตฟอร์ม เจเคเอ็นจึงวางตำแหน่งเป็นผู้ค้าคอนเทนต์ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจึงกวาดซื้อลิขสิทธิ์ คอนเทนต์ของซูเปอร์แบรนด์ จากทั่วโลกไว้ในมือจำนวนมาก”

บิสสิเนสโมเดลของ “เจเคเอ็น” วางเป้าหมายเป็น “ผู้นำ” ด้านการนำเข้าคอนเทนต์ระดับโลก เพื่อจัดจำหน่ายในประเทศไทยและกลุ่ม CLMV พร้อมทั้ง “ส่งออก” คอนเทนต์จากไทยไปขายลิขสิทธิ์ทั่วโลก และลงทุนผลิตคอนเทนต์ร่วมกับสตูดิโอระดับโลก เพื่อขายลิขสิทธิ์ในทุกแพลตฟอร์ม

ลุย 7 แพลตฟอร์ม

  1. ทีวีดิจิทัล จำนวน 22 ช่อง ปัจจุบันเกือบทุกช่องซื้อคอนเทนต์ ซีรีส์อินเดียและฟิลิปปินส์ สารคดี จากเจเคเอ็น
  2. เคเบิลและทีวีดาวเทียม ที่มีจำนวน 200 ช่อง
  3. โรงภาพยนตร์ โดยเป็นการปรับเปลี่ยนมาจากช่องทางดีวีดีและบลูเรย์ ที่คาดว่าปีนี้จะลดลงอย่างมาก
  4. เมอร์เชนไดส์ นำคอนเทนต์และคาแร็กเตอร์ไปเพื่อผลิตสินค้าที่ระลึกในธุรกิจต่างๆ
  5. พับลิชชิ่ง เพื่อจัดจำหน่ายในรูปแบบสิ่งพิมพ์ หรือ อีบุ๊ก
  6. โอทีที (Over The Top) นำเสนอคอนเทนต์ผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์ม ทั้งรูปแบบการหารายได้จากสมาชิกและโฆษณา
  7. Ancillary บริการด้านการเดินทาง เช่น สายการบิน รถโดยสาร เพื่อนำไปให้บริการกับผู้โดยสาร

แอน-จักรพงษ์ บอกว่า การจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในประเทศยังมีแนวโน้มเติบโต โดยกลุ่ม “ทีวีดิจิทัล” มีปัจจัยสนับสนุนหลังจาก กสทช. เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือ ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมีต้นทุนค่าใช้จ่ายลดลง และสามารถนำงบดังกล่าวมาผลิตและซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์ได้เพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับช่องทาง “โอทีที” ที่มีแนวโน้มเติบโตจากไลฟ์สไตล์ผู้บริโภครุ่นใหม่เสพคอนเทนต์ผ่านสมาร์ทดีไวซ์มากขึ้น ส่งผลให้การจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ผ่าน Video on Demand ปีที่ผ่านมารายได้เติบโต 50%

ปัจจุบัน เจเคเอ็น จำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ซีรีส์อินเดีย ให้กับผู้ประกอบการโอทีทีหลายราย รวมทั้ง บีฟลิกซ์ (Bflix) ผู้ให้บริการชมภาพยนตร์และซีรีส์ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมี Channel อยู่ในแพลตฟอร์มดังกล่าว 3 ช่อง คือ Namaste, JKN Zee Magic ทั้ง 2 แชนแนล นำเสนอคอนเทนต์ภาพยนตร์และซีรีส์อินเดีย และได้ร่วมมือกับ Viacom ธุรกิจบันเทิงระดับโลก เตรียมเปิดแชนแนลผ่านแพลตฟอร์มบีฟลิกซ์เพิ่มเติม

มุ่ง “ริจินัล คอมปะนี

จักรพงษ์ กล่าวว่าแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2562 ใช้งบเงินลงทุนกว่า 800 ล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์เพิ่มเติม รองรับแผนงานการขยายธุรกิจ เพราะไม่เพียงขยายธุรกิจในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะรุกขยายตลาดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ซีรีส์อินเดีย-ฟิลิปปินส์ ไปยังตลาดอาเซียนในทุกแพลตฟอร์ม ด้วยกลยุทธ์การตลาด “ซูเปอร์ สตาร์ มาร์เก็ตติ้ง” ด้วยการดึงนักแสดงระดับซูเปอร์สตาร์จากซีรีส์ต่างประเทศไปร่วมโรดโชว์การขายลิขสิทธิ์ในประเทศต่างๆ รวมทั้งงานเทศกาลขายคอนเทนต์

ปีนี้มีแผนขยายตลาดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ไปยังประเทศเวียดนาม มาเลเซีย บรูไนและไต้หวันเพิ่มเติม เนื่องจากตลาดต่างประเทศถือเป็น Blue Ocean ที่ เจเคเอ็น มีโอกาสนำลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในมือไปสร้างฐานรายได้ให้เติบโตได้อีกมาก หลังจากปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการทำตลาดในเมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ให้ความสนใจซื้อลิขสิทธิ์ไปออกอากาศ

ปีที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากรายได้รวม 1,400  ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะเพิ่มเป็น 30%

จากกลยุทธ์ “ค้าคอนเทนต์” เจเคเอ็น วางเป้าหมายในอีก 3-5 ปี จะก้าวสู่ “ริจินัล คอมปะนี” โดยจะมีสัดส่วนรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ 50% โดยจะตั้ง “โฮลดิ้ง คอมปะนี” ขึ้นมาอีก 1 บริษัท ซึ่งจะเปิดให้นักลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมสื่อและคอนเทนต์เข้าร่วมถือหุ้น และนำโฮลดิ้ง คอมปะนี ดังกล่าวจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เพื่อทำตลาในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและระดับโลกต่อไป

ส่งออกคอนเทนต์ช่อง 3  

ปีที่ผ่านมา เจเคเอ็น ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ “ช่อง 3” เป็นตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ละคร กว่า 70 เรื่อง กว่า 3,000 ชั่วโมง รวมทั้งละครใหม่ทุกเรื่องของช่อง 3 โดยจำหน่ายให้กับสถานีทีวีในกลุ่ม CLMV และฟิลิปปินส์ ซึ่งซื้อละครไป 15 เรื่อง กว่า 1,000 ชั่วโมง ปีนี้มีแผนขยายตลาดในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไต้หวัน เพิ่มเติมเช่นกัน

คอนเทนต์ละคร จากประเทศไทย ได้รับความสนใจในตลาดอาเซียนอย่างมาก และสามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่นๆ แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการยังไม่ออกไปทำตลาดขายลิขสิทธิ์กันมากนัก ปีที่ผ่านมา เจเคเอ็น ได้นำนักแสดงจากช่อง 3 ไปโรดโชว์เพื่อขายลิขสิทธิ์ในงานเทศกาลขายคอนเทนต์ ที่เวียดนาม สิงคโปร์ พบว่า นักแสดงจากละครนาคี ทั้ง แต้ว ณฐพร เตมีรักษ์ และ “เคน” ภูภูมิ พงศ์ภาณุภาค ได้รับความสนใจจากผู้ชมในกลุ่มอาเซียนอย่างมาก

ปีนี้จะนำนักแสดง นาคี 2 ณเดชน์ คูกิมิยะ และ ญาญ่า อุรัสยา เสปอร์บันด์ รวมทั้ง “มาริโอ้ เมาเร่อ” จากละคร “หมอยาแห่งท่าโฉลง” ไปโรดโชว์ขายคอนเทนต์ในงานเทศกาลต่างๆ โดยมีการจัดแพ็กเกจคอนเทนต์เรื่องอื่นๆ ของนักแสดงที่ไปร่วมโรดโชว์ เพื่อนำไปจำหน่ายเป็นเซตอีกด้วย

ในเอเชีย ผู้ผลิตคอนเทนต์ส่งออกอันดับ 1 คือเกาหลีใต้ ที่ปัจจุบันทำตลาดทั่วโลก รองลงมาเป็นอินเดีย จีน ญี่ปุ่น และไทย เชื่อว่าคอนเทนต์ Thainess มีความเป็นสากลที่ต่างชาติเข้าใจได้ และสามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาคเช่นเดียวกับประเทศที่เป็นผู้นำในด้านนี้ของเอเชีย

ลุยข่าว CNBC-โค โปรดักชั่น

สำหรับการดำเนินธุรกิจผลิตคอนเทนต์รายการข่าวภายใต้แบรนด์ JKN CNBC ซึ่ง เจเคเอ็นได้รับลิขสิทธิ์การผลิตคอนเทนต์ภายใต้แบรนด์ CNBC เป็นระยะเวลา 10 ปี จะเริ่มออกอากาศในเดือนมิถุนายนนี้ เป็นรายการข่าวเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อป้อนให้แก่สถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิทัลเพิ่มเติม จากเดิมที่จำหน่ายคอนเทนต์จาก JKN CNBC ให้ช่อง 3 และไบรท์ทีวีมาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับทีวีดิจิทัลหลายช่อง

สโรชา พรอุดมศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจเคเอ็น นิวส์ จำกัด กล่าวว่า สำหรับ 4 รายการข่าวที่จะออกอากาศสด 4 ชั่วโมงต่อวัน จันทร์-ศุกร์ ในเดือนมิถุนายนนี้ ที่นำต้นแบบมาจาก CNBC คือ SQUAWK BOX, Power Lunch, Street Signs และ Closing Bell และในเดือนตุลาคมนี้ มีอีก 3 รายการต่อสัปดาห์ คือรายการ CNBC Conversation, Managing Thailand (ต้นแบบจาก Managing ASIA) และ First Class

แต่ละรายการจะทำงานร่วมกับพันธมิตรทีวีดิจิทัล 1 ช่อง 1 รายการ โดยเป็นรูปแบบ “ไทม์ แชริ่ง” ปัจจุบันมีทีมงาน 40 คน ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านทีวีจากช่องต่างๆ อาทิ มันนี่ แชนแนล, เนชั่นทีวี, อมรินทร์ทีวี สำหรับ JKN CNBC ใช้งบลงทุนปีนี้ 50 ล้านบาท  ในการสร้างสตูดิโอใหม่ที่ศาลายา โดยวางเป้าหมายทำรายได้เป็นสัดส่วน 3-5% ของรายได้รวมเจเคเอ็น

จักรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าปีนี้ เจเคเอ็นได้ร่วมมือกับ Fox India ในการ Co-Production ซีรีส์เรื่อง สยามรามเกียรติ์ หรือ The Prince of Ayodhaya รูปแบบโมชั่น พิคเจอร์ ใช้นักแสดงไทยและอินเดีย ใช้งบประมาณหลักร้อยล้านบาท เริ่มสร้างปีนี้ โดยออกฉายและขายลิขสิทธิ์ทั่วโลกในปี 2020

ด้วยกลยุทธ์ “ค้าคอนเทนต์” ทั้งการนำเข้าและส่งออก ที่มองว่ายังเป็นตลาด Blue Ocean เชื่อว่าจะผลักดันเป้าหมายปีนี้เติบโต 20%