ลงขายยังฟรีเหมือนเดิม! แต่ที่ “Shopee” เพิ่มเติมคือ ขยับค่าธรรมเนียมจากผู้ขายอีก 0.5% ชำระเงินปลายทางโดนด้วยอีก 2%

ตั้งแต่ 15 มกราคม 2019 เป็นต้นมา “Shopee” ได้ออกกฎเก็บค่าธรรมเนียมรูดบัตรเครดิตและเดบิต 1.5% จากฝั่งผู้ขาย ซึ่งเบื้องลึกคงต้องหาได้รายได้เพิ่ม มาหยุดอาการเลือดไหลของตัวเอง

เพราะในปี 2017 “Shopee” แจ้งมีรายได้ 139,759,404 บาท ขาดทุนมหาศาลกว่า 1,404,204,028 บาท ส่วนตัวเลขของปี 2018 ยังไม่ได้แจ้ง แต่เชื่อได้เลยว่าคงไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาอัดโปรโมชั่นกันหนักเหลือเกิน ไม่เพียงเทศกาล 11.11 และ 12.12 หากยังเพิ่มโปรลดกระหน่ำทั้ง 2.2 และ 3.3 เข้ามาอีกด้วย

แต่ดูเหมือนว่าการประกาศเก็บค่าธรรมเนียมกับผู้ขายไปเมื่อต้นปีจะเป็นเพียงการหยังเชิงเท่านั้น เพราะเที่ยงนี้เอง (8 เมษายน 2019) Shopee ได้ประกาศเพิ่มการเก็บอีกระลอก โดยธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต/เดบิต ขยับจาก 1.5% เป็น 2% ส่วนธุรกรรมแบบผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิต/เดบิต เพิ่มจาก 4.5 เป็น 5%

ยังไม่หมดเท่านั้น รอบนี้ได้เพิ่มการเก็บธุรกรรมแบบชำระเงินปลายทาง ก็โดนด้วยอีก 2% ประกาศอัตราใหม่นี้จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2019 หรืออีก 1 เดือนให้หลัง Shopee ทิ้งท้ายประกาศว่าการลงขายสินค้า ยังฟรีเหมือนกัน

แน่นอนการประกาศในครั้งนี้ของ Shopee เป็นหนึ่งในความพยายามที่ต้องการหารายได้ใหม่ เข้ามาชดเชยไม่ใช่มีแค่การแบ่งเผาเงินเหมือนเดิม เพราะถึงแม้ Shopee จะมี “Tencent” หนึ่งใน 3 ยักษ์ใหญ่ไอทีของจีน หนุนหลังเพื่อให้เข้ามาสู่กับ “Lazada” ซึ่งวันนี้เป็นของ “Alibaba” อย่างเต็มตัวแล้ว แต่นานๆ ไปก็จะแย่เอาเหมือนกัน

แม้ข้อมูลจากสํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชนหรือ  ETDA จะเปิดเผยออกมากว่า ภาพรวม e-Commerce เมืองไทย ปี 2017 มีมูลค่าทั้งสิ้น 2,762,503.22 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าสูงถึง 7.91% และถือเป็นประเทศที่มีมูลค่า e-Commerce สูงสุด อันดับ 1 ในอาเซียน

ส่วนปี 2018 เชื่อว่าจะสามารถแตะที่ 3 ล้านล้านบาทได้เป็นครั้งแรก โดยจะมีมูลค่าสูงถึง 3,150,232.96 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.04%

ก่อนหน้านี้ Positioningmag ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ป้อม – ภาวุธ พงษ์วิทยภานุผู้ที่คร่ำหวอดใน e-Commerce กว่า 20 ปี โดยเขาระบุว่า 1 ใน 9 เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นกับ e-Commerce บ้านเรา คือ การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงของ JSL E-Marketplace ระดับโลกที่เข้ามาปักหลักในเมืองไทยทั้ง Shopee – Lazada – JD.com 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การทุ่มเงินไปกับการอัดโปรโมชั่น และครีเอตเทศกาลช้อปปิ้งใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อสร้างภาพจำให้กับผู้บริโภค รวมไปถึงการใช้เงินจ้างพรีเซ็นเตอร์ระดับ Top ของวงการเพื่อสร้างการรับรู้และดึงดูดขาช้อป โดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นที่คุ้นเคยกับการซื้อของออนไลน์อยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้แหละเป็นต้นทุนที่บรรดา e-Commerce แต่ละเจ้าต้องแบกรับ

ภาวุธ เชื่อว่า การทุ่มอัดเม็ดเงินในสงคราม e-Commerce จะดำเนินไปอีกอย่างน้อย 5 ปี เหมือนอย่างในอินเดียซึ่งจัดหนักมา 5 ปีแล้ว แต่ก็ยังหาผู้ชนะไม่ได้สักที

ที่สุดแล้วสงคราม e-Commerce ในเมืองไทย จะเหลือพื้นที่ให้เพียงเบอร์ 1 และ 2 ส่วนจะเป็นใครที่อยู่ได้ ก็ต้องไปลุ้นกันอีกที