Thanatkit
“ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ” เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นธุรกิจที่ต้องยอม “เผาเงิน” ในช่วงแรกเพื่อสร้างฐานลูกค้าให้มากพอ วันนี้ถ้ารวมกัน 3 เจ้าหลักๆ ที่มีอยู่ในตลาดอย่าง ลาซาด้า, ช้อปปี้ และ อีเลฟเว่นสตรีท รวมๆ กันเผาเงินไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา
ทำให้การจะ “อยู่รอด” ได้จึงต้องมี “สายป่าน” ที่ยาวเพียงพอ เพื่ออัดเงินทำโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ในการดึงลูกค้า ส่วนอีกทางคือการ “สกัด” คู่แข่งไม่ให้มีที่ยืนได้ และสุดท้ายจะบีบให้เหลือแต่ผู้เล่นไม่กี่รายในตลาด
ครั้งหนึ่งผู้บริหารลาซาด้า ผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดของไทยขณะนี้ เคยพูดเอาไว้ว่า ลาซาด้าไม่ได้กลัวที่จะต้องเผาเงิน เพราะตัวเองได้รับการซัพพอร์ตเรื่องเงินจาก “อาลีบาบา” เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซในจีน และการจะทำ “กำไร” ในช่วง 5-7 ปีแรกเหมือนธุรกิจอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย
และแม้คู่แข่งรายอื่นๆ จะพยายามแข่งเท่าไหร่ แต่หากไม่มีเงินทุนที่ใหญ่พอแล้ว ก็ยากที่จะอยู่ในตลาดนี้ต่อไปได้ จึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างการที่ “อีเลฟเว่นสตรีท” ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเกาหลีใต้ และประกาศยอมขาดทุนในช่วงแรก เพื่อผลักให้ตัวเองขึ้นมาเป็นผู้เล่นแถวหน้าให้ได้ สุดท้ายต้องม้วนเสื่อกลับไป และตัดใจขายธุรกิจให้กับ “ตระกูลมหากิจศิริ” แทน
หรืออีกข่าวที่เรียกเสียงฮือฮาเกิดขึ้นช่วงเมื่อวานเย็น คือการที่ “ช้อปปี้” ตัดสินใจประกาศ คิดค่าธรรมเนียมรูดบัตรเครดิตและเดบิต 1.5% จากฝั่งผู้ขาย โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้ความรวดเร็วในการชำระเงิน จึงต้องกำหนดอัตรานี้มา และจะเริ่มจัดเก็บตั้งแต่ 15 มกราคม 2562 เป็นต้นไป
ค่าธรรมเนียมนี้จะเกิดเฉพาะรายการซื้อ ที่ขึ้นสถานะประสบความสำเร็จเท่านั้น โดยจะคิดจากยอดรวมที่ชำระจริงหลังหักส่วนลดต่างๆ และรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เข้าไปด้วยแล้ว อีกทั้งยังได้ย้ำว่า การลงขายสินค้ายังฟรีเหมือนเดิม
หากศึกษาเกมการตลาดของ “ช้อปปี้” จะพบว่า นอกเหนือจากการอัดโปรโมชั่นที่มีมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ช้อปปี้ยังเลือกใช้ดาราระดับ “แม่เหล็ก” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์เพื่อดึงฐานแฟนคลับจำนวนมาก ให้เข้ามาเป็นลูกค้าหรืออย่างน้อยก็เป็นการสร้างการรับรู้ในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น “ณเดชน์–ญาญ่า” หรือล่าสุดกับ “แบมแบม – กันต์พิมุกต์ ภูวกุล” หนึ่งในสมาชิกวง GOT7 บอยแบนด์เกาหลีชื่อดังของเกาหลี เข้ามานั่งเป็น Campaign Ambassador
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ “ช้อปปี้” ต้องระวังหลังจากที่ประกาศเก็บค่าธรรมเนียมรูดบัตรเครดิตและเดบิต คือการที่ “พ่อค้าแม่ค้า” จะผลักต้นทุนที่เกิดขึ้นไปสู่ผู้ซื้อหรือไม่ และที่สำคัญการที่ผู้ขายอาจตัดสินใจ “เปลี่ยน” แพลตฟอร์มที่วางขายไปเลยก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นแม้รายได้จะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อคนขายหายเมื่อเทียบแล้วอาจจะไม่คุ้มก็ได้.