“แม็คโคร” เอาด้วย “ดิจิทัล สโตร์” เจอแน่สาขาแรกที่ลาดกระบัง ไตรมาส 3 นี้

การเติบโตของโลกดิจิทัล เป็นผลทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคต้องเปลี่ยนไป สิ่งที่ตามมาคือธุรกิจจำต้องปรับตัว อยู่นิ่งๆ ทำแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว หนึ่งในความน่าสนใจของการปรับตัวคือค้าปลีกที่ว่ากันว่า เป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเติบโตของ e-Commerce จนต้องหนึไปลุยออนไลน์ด้วย

อีกวิธีหนึ่งคือการปรับเปลี่ยนฟอร์แมตสาขา เติมเทคโนโลยีเข้าไปให้ไฮเทคมากขึ้นซึ่งวิธีนี้ แม็คโครห้างค้าปลีกค้าส่งอายุ 30 ปี และมีฐานลูกค้ากว่า 3 ล้านคน กำลังจะหยิบเอามาใช้ โดยเตรียมเปิดแม็คโคร ดิจิทัล สโตร์แห่งแรกที่ลาดกระบัง เห็นแน่ๆ ไตรมาส 3 นี้ สาขานี้จะเป็นฟู้ดเซอร์วิสฟอร์แมตที่เน้นขายสินค้าให้กับกลุ่มโฮเรก้าและร้านอาหาร สาขานี้มีพื้นที่ราว 2,500 ตารางเมตร ใช้งบลงทุนราว 250 ล้านบาท มากกว่าการลงทุนปรกติ 30 ล้านบาท

สิ่งที่จะได้เห็นจาก “ดิจิทัล สโตร์เริ่มต้นตั้งแต่ทางเข้า จะมีจอทัชสกรีนให้ลูกค้าได้ค้นหาโปรโมชั่น ต่อไปแม็คโครบอกว่าอาจจะไม่ต้องพิมพ์โปรชัวร์แจกตามบ้าน ลดต้นทุนได้มากกว่า รวมไปถึงอนาคตจะสามารถออกโปรโมชั่นเฉพาะบุคคลได้ด้วย นอกจากนั้นยังมีป้ายราคาที่ปรับเป็นจอ LCE ไม่ต้องปรินต์ไปเปลี่ยนเหมือนเดิม

ที่มาของรูป : Facebook แม็คโคร คู่คิดธุรกิจคุณ

แต่ไฮไลต์อยู่ที่การคิดราคาถึงรถเข็น โดยแม็คโครบอกว่าลูกค้าที่มาฟู้ดเซอร์วิส มักจะซื้อของเยอะราว 2 รถเข็น การไปต่อคิวคิดเงินที่แคชเชียร์ทีเดียวอาจจะนานเกินไป วิธีใหม่นี้เมื่อมาแคชเชียร์ก็จ่ายเงินเลย และยังเตรียมเพิ่มช่องทางจ่ายเงินอื่นๆ อีกเช่น E-Wallet และ QR Code อีกหนึ่งวิธีที่อาจจะเห็นในสาขาใหม่ คือสินค้าไม่เยอะอาจจะสามารถคิดเงินเองได้เลย แต่วิธีนี้ต้องรอดูความพร้อมก่อน

5,800 ล้านบาท งบลงทุนในปี 2019

สำหรับภาพรวมงบลงทุนของแม็คโครในปี 2019 วางงบไว้ทั้งหมด 5,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,300 ล้านบาท หลักๆ 3,100 ล้านจะถูกใช้สำหรับลงทุนในประเทศไทย ทั้งรีโนเวตสาขาเดิม และเปิดสาขาใหม่ 7-8 สาขาหลักๆ จะเปิดฟู้ดเซอร์วิส อีกส่วนหนึ่งจะยกเครื่องระบบหลังบ้าน เพื่อเตรียมรับความพร้อมในอนาคค

ปัจจุบันแม็คโครมีสาขาในเมืองไทยทั้งหมด 129 สาขา ใน 6 ฟอร์แมต แบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 33 สาขา และสาขาในต่างจังหวัด จำนวน 96 สาขา โดยมีพื้นที่การขายรวมประมาณ 747,802 ตารางเมตร ได้แก่

1. ศูนย์จำหน่ายสินค้าแม็คโคร จำนวน 79 สาขา แต่ละสาขามีพื้นที่ขายโดยเฉลี่ยประมาณ 5,500 – 12,000 ตารางเมตร จับกลุ่มกลุ่มผู้ประกอบการร้านโชห่วยและร้านค้าปลีกรายย่อย

ที่มาของรูป : Facebook แม็คโคร คู่คิดธุรกิจคุณ

2. แม็คโครฟู้ดเซอร์วิส จำนวน 25 สาขา มีพื้นที่ขายโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 1,000 – 5,000 ตารางเมตร จับกลุ่มกลุ่มโฮเรก้าโดยเฉพาะ เช่น อาหารสด และอาหารแช่แข็ง อาหารแห้ง เครื่องครัว อุปกรณ์ในการเตรียมอาหาร และของใช้ที่จำเป็นสำหรับธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม

3. อีโค พลัส จำนวน 13 สาขา พื้นที่เฉลี่ย 7,000 ตารางเมตร กลุ่มลูกค้ามีทั้งโฮเรก้า และผู้ค้าปลีกรายย่อย โดยรูปแบบสาขานี้จะมีพื้นที่อาหารสดให้กับกลุ่มโฮเรก้าเพิ่มขึ้น เน้นเปิดในทำเลพื้นที่ที่มีธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและจัดเลี้ยงจำนวนมาก และมีศักยภาพในการเติบโต เช่น สาขาพัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่ (หางดง) เป็นต้น

4. แม็คโครฟู้ดช้อป 5 สาขา มีพื้นที่ขายโดยเฉลี่ย600 – 800 ตารางเมตร จับกลุ่มโฮเรก้าในพื้นที่สามารถซื้อสินค้าได้สะดวกขึ้นโดยไม่ต้องเดินทางไกล เพราะเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าอาหารสด อาหารแช่แข็งขนาดเล็กแต่ครบวงจร

5. ร้านสยามโฟรเซ่น จำนวน 7 สาขา ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งและอาหารแห้งที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบธุรกิจบริการด้านอาหารให้แก่กลุ่มโฮเรก้าเป็นหลัก มีพื้นที่การขายเฉลี่ย 80-260 ตารางเมตร

สุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจสยามแม็คโคร กล่าวว่า

ปี 2018 แม็คโครเติบโต 3.3% มีรายได้รวม 1.9 แสนล้าน รายได้เฉพาะการขาย 1.88 แสนล้าน สำหรับปี 2019 ตั้งเป้าเติบโตตาม GDP ของประเทศ ส่วนความท้าทายก็คงเจอการแข่งขันตามปรกติ ซึ่งแม็คโครผ่านวิกฤตต้มยํากุ้งมาได้ ก็ไม่มีอะไรหนักหนาสาหัสแล้ว

อีก 5 ปีรายได้จากต่างประเทศต้องเพิ่มเป็น 20%

อีกหนึ่งเป้าหมายที่แม่ทัพแม็คโครวางไว้ คือ การขยับรายได้จากต่างประเทศซึ่งวันนี้ขยายไป 9 ประเทศ ผ่าน 2 รูปแบบ ได้แก่ การเปิดสโตร์กับกลุ่มธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส ซึ่งเป็นการขายสินค้าให้กับผู้ประกอบการโดยตรง ปัจุบันมีสัดส่วนราว 4% ต้องการเพิ่มเป็น 20%

เป้าหมายดังกล่าวสะท้อนจากเม็ดเงินลงทุนที่วางไว้สำหรับต่างประเทศ 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ใช้ราว 750 ล้านบาทเท่านั้น หลักๆ จะขยายสาขาไปอีก 2 ประเทศ ได้แก่ จีน ลงทุนเอง 100% เบื้องต้นจับเฉพาะมณฑลกวางโจวก่อน ด้วยมีประชากรหลัก 100 ล้านคน จึงมีร้านอาหารเยอะเหมาะกับฟอร์แมตฟู้ดเซอร์วิส คาดเปิด 2 สาขา อีกประเทศคือ เมียนมา ลงทุนเอง 100% เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดจะได้เห็น 1 สาขา

ที่มาของรูป : Facebook แม็คโคร คู่คิดธุรกิจคุณ

ก่อนหน้านี้แม็คโครได้ลุยเปิดสาขาในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2017 โดยเริ่มที่อินเดียปัจจุบันมี 3 สาขาอยู่ในกรุงนิวเดลีทั้งหมด อีกประเทศคือกัมพูชา 3 สาขาในกรุงพนมเปญและเสียมเรียบ

โดยการไปแต่ละประเทศต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ดี อย่างอินเดีย แม้จะเป็นประเทศขนาดใหญ่มีประชากร 1,300 ล้านคน แต่ไม่เหมาะกับการเปิดฟอร์แมตขนาดใหญ่ เพราะคนอินเดียไม่ชอบเดินทางไกล จึงต้องเปิดสาขาขนาด 2,000 ตารางเมตรแทน อีกอย่างแม้อยู้ในเมืองหลวงเหมือนกัน แต่รูปแบบร้านก็ทำเหมือนกันไม่ได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการไม่เหมือนกัน

สำหรับกลยุทธ์การขยายสาขานั้นสุชาดาบอกว่า ปีแรกควรจะเปิดสัก 2 สาขา เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค และปรับเปลี่ยนไปตามนั้น ปีที่ 2 ยังไม่ควรขยาย ค่อยมาเพิ่มสาขาในปีที่ 3 จะเพิ่ม 3-4 สาขาก็ว่าไป โดยแต่ละสาขาตั้งเป้าคืนทุน 3 ปี

วิธีการขยายสาขาแบบนี้แม็คโครเรียนรู้จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม อย่างแต่ก่อนเมื่อ 30 ปีที่แล้วมีการมองว่าเมืองไทยเหมาะที่จะเปิดแค่ 9 แห่งเท่านั้น แต่ดูวันนี้มี 100 กว่าสาขาเข้าไปแล้ว ที่เป็นอย่างนั้นเพราะช่วงแรกต้องทำให้คนรู้จักก่อน เมื่อคนติดการขยายสาขาจะไม่เป็นปัญหาเลย