หุ่นยนต์..เอ็มเค

จากธุรกิจร้านสุกี้ที่ได้ชื่อว่า “แมส” ที่สุด กำลังกลายเป็นธุรกิจที่ใส่ความเป็น “ไฮเทค” มากที่สุด เมื่อฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการ บริษัทเอ็มเค เรสโตรองต์ จำกัด ตัดสินใจนำหุ่นยนต์มาใช้เสิร์ฟอาหาร ต้อนรับ หรือแม้แต่ร้องเพลงวันเกิด ในร้านสุกี้เอ็มเค

ระบบไอทีกับร้านสุกี้เอ็มเคไม่เรื่องไกลตัว แต่เป็นหนึ่งใน “อาวุธ” ที่ฤทธิ์ติดให้กับเอ็มเคมาได้พักใหญ่ เพื่อใช้แก้ปัญหา สร้างความเร็ว และประสิทธิภาพในการให้บริการ เริ่มตั้งแต่การนำเครื่องพีดีเอมาให้พนักงานรับออร์เดอร์จากลูกค้าเพื่อความเร็วในการให้บริการ หรือการนำระบบ “จีพีเอส” มาใช้กับรถขนส่งวัตถุดิบเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย หรือแม้แต่มีความคิดนำระบบ RFID (Radio Frequency Identification) มาใช้ทำ CRM ไว้มัดใจลูกค้า

ไม่ว่าลูกค้าที่พกบัตรสมาชิกเอ็มเคไปสาขาไหนก็ตาม ระบบ RFID จะยิงสัญญาณไปยังบัตรสมาชิก ทำให้พนักงานในร้านรู้ทันทีว่าลูกค้าคนนั้นเป็นใคร ชอบ หรือไม่ชอบกินอะไร ฤทธิ์บอกว่า ถ้าทำแบบนี้ได้ลูกค้าจะประทับใจมากยิ่งขึ้น

ล่าสุด ฤทธิ์ คิดไกลกว่านั้น เขาตัดสินใจนำ “หุ่นยนต์” มาใช้ในร้านสุกี้เอ็มเค ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินฝัน หรือต้องสั่งซื้อหุ่นยนต์จากต่างประเทศ เพราะเขาได้บริษัท CT ASIA บริษัทพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ Call Center ของคนไทย ซึ่งกำลังแตกขยายธุรกิจผลิตหุ่นยนต์ฝีมือคนไทยส่งออกไปขายในญี่ปุ่นมาเป็น “พันธมิตร” ผลิตหุ่นยนต์มาใช้ประจำการในร้านสุกี้

หุ่นยนต์ที่นำมาใช้ในร้านเอ็มเค จะเป็น “หุ่นยนต์บริการ” เพราะเป้าหมายของฤทธิ์คือการให้ความบันเทิงแก่ลูกค้าที่มาในร้านเป็นหลัก รับออร์เดอร์ ส่งอาหาร ยืนต้อนรับ รวมถึงร้องเพลงวันเกิด Happy Birth Day ให้ลูกค้า โดยจะเริ่มจากผลิตหุ่นยนต์ 10 ตัวแรก วนเวียนไปใช้ในสาขาต่างๆ ซึ่งเวลานี้มี 304 สาขา

“ เรานำหุ่นยนต์มาใช้ในงานที่น่าเบื่อสำหรับคน อย่างให้คนพูดสวัสดีค่ะ ยินดีค่ะ ยืนยิ้มทั้งวันคงไม่ไหว หุ่นยนต์มาทำหน้าที่แทน หรือให้ร้องเพลงวันเกิด เสียงร้องของหุ่นยนต์จะร้องกี่ครั้งย่อมไม่เพี้ยน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหุ่นยนต์และมนุษย์ และที่สำคัญยังสร้างความบันเทิงได้อีก” ฤทธิ์เปรียบเทียบ

เงินลงทุน 10 ล้านบาทสำหรับการนำหุ่นยนต์ 10 ตัวแรกซึ่งมีต้นทุนผลิตเฉลี่ยตัวละ 1 ล้านบาท ไปใช้ในงาน สำหรับฤทธิ์ถือว่า “คุ้มค่า” มาก กับการทำตลาดเชิงรุก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ลูกค้าวัยเด็ก ซึ่งลูกค้าวัยเด็กและครอบครัวมีสัดส่วน 20-25% ของลูกค้าทั้งหมดของเอ็มเค

ต้องไม่ลืมว่าลูกค้าเด็กเป็นลูกค้าที่มีพลังมาก เพราะความต้องการของเด็กคนเดียว ย่อมมีพ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย พ่วงมาด้วยทุกครั้ง และหุ่นยนต์กับเด็กก็เป็นของคู่กัน เมื่อมีหุ่นยนต์ในร้านเอ็มเคคอยให้บริการ เด็กๆ ก็ย่อมอยากมาร้านเอ็มเคถี่ขึ้น

นี่คือกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกในความหมายของฤทธิ์ และหุ่นยนต์ก็เป็นหนึ่งในนั้น นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ฤทธิ์มักจะคิดและทำอยู่ตลอด “แม่เหล็ก” ดึงดูดลูกค้าตลอดเวลา

ในอีกด้านหนึ่ง ยังป็นการช่วยเหลือสังคม เพราะนักศึกษาไทยเวลานี้ได้ชื่อว่ามีความสามารถคิดค้นและผลิตหุ่นยนต์ได้ไม่แพ้ชาติไหน เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งคว้ารางวัลผระดับโลกมาแล้ว แต่เรียนจบแล้วกลับไม่มีงานทำ หากไม่ไปทำงานในต่างประเทศ ในญี่ปุ่น หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น เพราะยังไม่มีธุรกิจผลิตหุ่นยนต์ในไทย

เมื่อเอ็มเคเป็นลูกค้ารายใหญ่ และรายแรกของ CT ASIA ซึ่งกำลังบุกเบิกธุรกิจผลิตหุ่นยนต์นี้ ย่อมหมายถึงการช่วยนักศึกษาเหล่านี้ให้มีงานทำตามที่ เพราะนักศึกษาเหล่านี้คือกำลังสำคัญของ CT ASIA ยิ่งเอ็มเคใช้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสร้างโอกาสให้ธุรกิจ และนักศึกษาเหล่านี้มากขึ้น และการนำร่องของเอ็มเคก็อาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับธุรกิจอื่นๆ ที่อาจนำหุ่นยนต์ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ด้วยเช่นกัน

“Positioning ของเอ็มเค ไม่ใช่แค่ร้านขายสุกี้ แต่เป็น Restaurant for middle class and family เป็นอาหารง่าย Casual Eating กินง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และด้วยจำนวนสาขากว่า 300 สาขา เฉลี่ยเปิดใหม่ทุกสัปดาห์ คู่แข่งของเราคือหม้อไฟจากจีน 2-3 ราย”

Did you know?
เวลานี้มีร้านอาหารในหลายประเทศ นิยมนำหุ่นยนต์ไปใช้งาน เช่น ร้านราเม็งในญี่ปุ่น นำหุ่นยนต์ปรุงราเม็งแทนพ่อครัว หรือภัตตาคาร “ไอ-โรบ็อต” ในเมืองหนานหนิง ซื้อหุ่นยนต์จากบริษัทเทคโนโลยีในเมืองเซิ่นเจิ้น ด้วยราคาเกือบ 3 ล้าน ไปเป็นพ่อครัวสามารถทำอาหารจีนได้หลายร้อยเมนู ส่วนในไทยนอกจากเอ็มเค มีร้านราเม็งเปิดใหม่ที่เตรียมนำหุ่นยนต์มาใช้แล้วเช่นกัน